ข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดที่เกี่ยวกับทรัพย์

07 มิถุนายน 2562

ประเด็นสำคัญ ในเรื่องการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา

1.ลักทรัพย์

คือการ “เอาไป” ซึ่งทรัพย์ของผู้อื่น หรือ ที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย ไปโดยทุจริต

“เอาไป” คือ การแย่งการครอบครองในลักษณะตัดกรรมสิทธิ์ออกจากเจ้าของทรัพย์เดิม โดยการ…

• เข้าครอบครอง

• พาทรัพย์นั้น “เคลื่อนที่” ออกไปจากที่ที่ทรัพย์เดิมเคยอยู่ (เพียงเคลื่อนที่เล็กน้อยก็เป็นความผิดสำเร็จแล้ว)

การเอาทรัพย์ไปโดย “เข้าใจโดยสุจริตว่าเจ้าของอนุญาตแล้ว” หรือ “เข้าใจว่าตนเองเป็นเจ้าของทรัพย์” ไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์

(มาตรา 334 แห่งประมวลกฎหมายอาญา)

2.วิ่งราวทรัพย์

คือการ “ลักทรัพย์โดยฉกฉวยเอาซึ่งหน้า” หมายถึง

• การลักทรัพย์ ต่อหน้าเจ้าของทรัพย์ในระยะประชิด  (แม้เห็นว่ามีคนเอาไป แต่อยู่ห่างจากตัวทรัพย์ ก็ไม่ใช่การวิ่งราวทรัพย์)

• เจ้าทรัพย์ต้อง เห็นการเอาไป และ รู้สึกถึงการเอาไปนั้น (ต้องเป็นการเห็น “ขณะลักทรัพย์” ถ้ามองเห็นตอนพาทรัพย์ไปหลังจากลักทรัพย์สำเร็จแล้ว ก็ไม่เป็นการฉกฉวยเอาไปซึ่งหน้า)

การเอาทรัพย์ไปในขณะที่เจ้าของ หรือผู้ครอบครองทรัพย์เผลอ ไม่ใช่การเอาทรัพย์ไปซึ่งหน้า ไม่ผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ (แต่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์)

(มาตรา 336 แห่งประมวลกฎหมายอาญา)

3.กรรโชกทรัพย์

คือการ “ข่มขืนใจ” ผู้อื่นให้ ยอมให้หรือยอมจะให้ ตนเอง หรือผู้อื่น ได้ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สิน โดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือ โดยขู่เข็ญว่าจะทำอันตราย ต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียง หรือทรัพย์สิน (ของผู้ถูกขู่เข็ญ หรือบุคคลที่สาม) จนผู้ถูกข่มขืนใจยอมทำเช่นว่านั้น

“ข่มขืนใจ” คือการบังคับจิตใจ เป็นการทำให้เสื่อมเสียเสรีภาพ

• ความผิดมาตรานี้ จะเป็นความผิดมาตรา 309 ฐานทำให้เสื่อมเสียเสรีภาพด้วยเสมอ

• การที่ผู้ถูกข่มขืนใจยินยอมให้ ต้องมาจากเหตุกลัวเพราะการถูกข่มขืนใจ ไม่ใช่เพราะรำคาญ

(มาตรา 337 แห่งประมวลกฎหมายอาญา)

4.รีดเอาทรัพย์

คือการ “ข่มขืนใจ” ผู้อื่นให้ ยอมให้หรือยอมจะให้ ตนเอง หรือ ผู้อื่น ได้ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สิน โดยขู่เข็ญว่าจะเปิดเผยความลับ จนผู้ถูกข่มขืนใจยอมทำเช่นว่านั้น

“ความลับ” คือข้อเท็จจริงที่ไม่ประจักษ์แก่คนทั่วไป และเจ้าของประสงค์จะปกปิด

• มีองค์ประกอบความผิดเหมือนกับความผิดฐานกรรโชกทรัพย์ ต่างกันเพียงในความผิดฐานรีดเอาทรัพย์ เป็นการขู่ว่าจะเปิดเผยความลับ

• การที่ผู้ถูกข่มขืนใจยินยอมให้ ต้องมาจากเหตุกลัวเพราะการถูกข่มขืนใจ ไม่ใช่เพราะรำคาญ

(มาตรา 338 แห่งประมวลกฎหมายอาญา)

5.ชิงทรัพย์

คือการ ลักทรัพย์  “โดยใช้กำลังประทุษร้าย” หรือ “ขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้าย”  เพื่อ…

• ให้ความสะดวกแก่การลักทรัพย์ หรือ พาทรัพย์นั้นไป

• ให้ยื่นให้ซึ่งทรัพย์นั้น

• ยึดถือเอาทรัพย์นั้นไว้

• ปกปิดการกระทำความผิด

• ให้พ้นจากการจับกุม

เป็นความผิดที่ต่อเนื่องมาจากความผิดฐานลักทรัพย์ ถ้าไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ แม้มีการใช้กำลังประทุษร้าย หรือ ขู่เข็ญว่าทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้าย ก็ไม่เป็นความผิดฐานชิงทรัพย์

(มาตรา 339 แห่งประมวลกฎหมายอาญา)

6.ปล้นทรัพย์

คือการชิงทรัพย์  “โดยร่วมกันกระทำความผิดด้วยกัน ตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป”

• ถ้าคนหนึ่งเป็นเพียงผู้สนับสนุน และมีผู้ร่วมกันชิงทรัพย์อีก 2 คน ไม่เป็นปล้นทรัพย์

• ถ้ามีผู้ร่วมกระทำผิดครบ 3 คนแล้ว ผู้ที่ให้ความช่วยเหลือหรือให้ความสะดวก จะเป็นผู้สนับสนุนความผิดฐานปล้นทรัพย์

เป็นความผิดที่ต่อเนื่องมาจากความผิดฐานชิงทรัพย์ ถ้าไม่เป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ แม้มีผู้กระทำความผิดครบ 3 คน ก็ไม่เป็นความผิดฐานปล้นทรัพย์ (แต่อาจเป็นความผิดฐานอื่น เช่น ร่วมกันลักทรัพย์)

(มาตรา 340 แห่งประมวลกฎหมายอาญา)

7.ฉ้อโกง

คือการ “หลอกลวง” ผู้อื่นด้วยการ แสดงข้อความเท็จ หรือ ปกปิดข้อความจริง เพื่อ ..

(1) ให้ได้ไปซึ่งทรัพย์สินจาก ผู้ถูกหลอกลวง หรือบุคคลที่สาม หรือ

(2) ทำให้ผู้ถูกหลอกลวง หรือ บุคคลที่สาม “ทำ ถอน หรือ ทำลาย” เอกสารสิทธิ

• ถ้าข้อความที่แสดงออกไป “ไม่เป็นเท็จ แต่ผู้กล่าวเข้าใจว่าเป็นเท็จ” ไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกง (และไม่เป็นพยายามฉ้อโกง)

• ผู้ถูกหลอกลวง “ไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าของทรัพย์” แม้ทรัพย์นั้นเป็นของผู้หลอกลวงเอง ก็เป็นความผิดฐานฉ้อโกงได้

(มาตรา 341 แห่งประมวลกฎหมายอาญา)

8.ยักยอกทรัพย์

คือการที่ “ครอบครอง” ทรัพย์ของผู้อื่น หรือ ที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย แล้ว “เบียดบัง” เอาทรัพย์นั้นเป็นของตนเอง หรือ บุคคลที่สาม โดยทุจริต

“การครอบครอง” ต้องเป็นการยึดถือทรัพย์นั้นเพื่อตน มีอำนาจเหนือทรัพย์นั้น ไม่ใช่ยึดถือแทนบุคคลอื่น  (ผู้เช่า ผู้รับฝาก ผู้ยืม และตัวแทน ถือเป็นผู้ครอบครองทรัพย์)

“เบียดบัง” คือการเอาไปในลักษณะตัดกรรมสิทธิ์ออกจากเจ้าของทรัพย์เดิม (เช่น การจำหน่ายจ่ายโอน จำนำ บ่ายเบี่ยงไม่ยอมคืนทรัพย์ให้แก่เจ้าของ โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร)

ความผิดฐานยักยอก ไม่ใช่ความผิดเฉพาะตัวของผู้ครอบครอง (ผู้อื่นที่ไม่ได้ครอบครองทรัพย์ จึงอาจเป็นตัวการร่วมได้)

(มาตรา 352 แห่งประมวลกฎหมายอาญา)

9.รับของโจร

คือการช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำ หรือรับไว้โดยประการอื่น ซึ่ง “ทรัพย์อันได้มาโดยการกระทำความผิด ฐานใดฐานหนึ่ง 9 ฐาน” (ลักทรัพย์ วิ่งราวทรัพย์ กรรโชก รีดเอาทรัพย์ ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ ฉ้อโกง ยักยอก หรือเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์)

• ผู้กระทำผิดฐานรับของโจรต้อง “ไม่ใช่” ผู้ที่กระทำความผิด หรือ ผู้ใช้ให้กระทำความผิดทั้ง 9 ฐาน

• ถ้าผู้กระทำผิด “ไม่รู้” ว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มากจากการกระทำความผิดทั้ง 9 ฐาน ไม่เป็นความผิดฐานรับของโจร

(มาตรา 357 แห่งประมวลกฎหมายอาญา)

10.ทำให้เสียทรัพย์

คือการ “ทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่า หรือทำให้ไร้ประโยชน์” ซึ่ง ทรัพย์ของผู้อื่น หรือ ที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย

• ถ้าผู้กระทำ “มีอำนาจตามกฎหมาย” ที่จะกระทำได้ ไม่ผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ (อาจเป็นอำนาจตามกฎหมายแพ่ง เช่น อำนาจของเจ้าของทรัพย์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336,1337)

• ถ้าเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย “โดยสุจริตและใช้วิธีการที่เหมาะสมแก่พฤติการณ์” ไม่ผิดฐานทำให้เสียทรัพย์

• ถ้าผู้กระทำ “สำคัญผิด” ว่าตนมีอำนาจกระทำได้ ไม่ผิดฐานทำให้เสียทรัพย์

(มาตรา 358 แห่งประมวลกฎหมายอาญา)

11.บุกรุก

คือการ “เข้าไป” …

(1) ในอสังหาริมทรัพย์ ของผู้อื่น “เพื่อถือการครอบครอง”อสังหาริมทรัพย์นั้นทั้งหมด หรือ แต่บางส่วน หรือ

(2)   กระทำการใดๆ อันเป็นการ “รบกวนการครอบครอง” อสังหาริมทรัพย์โดยปกติสุข

“เพื่อถือการครอบครอง” ต้องเป็นการเข้าไปยึดถือเพื่อให้ได้ซึ่ง สิทธิครอบครองในที่ดินของผู้อื่น ไม่ใช่การเข้าไปเพียงชั่วคราว

กรณีเข้าไป “รบกวนการครอบครอง” ไม่จำเป็นต้องเข้าไปทั้งตัว การที่อวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งเข้าไปในอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่น ก็เป็นความผิดฐานบุกรุกได้

(มาตรา 362 แห่งประมวลกฎหมายอาญา)

Copyright ©2024  dharmniti.co.th All rights reserved.

Log in with your credentials

Forgot your details?