เรื่องที่ลูกหนี้ต้องรู้ ! ก่อนทำสัญญากู้ยืมเงิน

20 พฤษภาคม 2565

รู้ไว้ ไม่เสียหาย
สำหรับ ‘ลูกหนี้’ ก่อนทำสัญญากู้ยืมเงิน
.กฎหมายระบุ อัตราดอกเบี้ยสูงสุด ที่ผู้ให้กู้ยืมเงิน จะสามารถคิดได้
.เมื่อชำระแล้ว ควรขอหลักฐานเก็บไว้ และเมื่อชำระหนี้ครบแล้ว ต้องขอสัญญาการกู้เงินคืนมาจากผู้ให้กู้

1.สัญญากู้ยืม เป็นสัญญาประเภทไหน?

สัญญายืม แบ่งเป็น 2 ประเภท

  • สัญญายืมใช้คงรูป เป็นสัญญาที่ผู้ให้ยืมให้ผู้ยืมใช้สอยทรัพย์สินสิ่งใดสิ่งหนึ่ง และผู้ยืมตกลงว่าจะคืนทรัพย์สินนั้น เมื่อได้ใช้สอยเสร็จแล้ว
  • สัญญายืมใช้สิ้นเปลือง เป็นสัญญาที่ผู้ให้ยืมได้โอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินนั้นเป็นปริมาณมีกำหนดให้แก่ผู้ยืม และผู้ยืมตกลงว่าจะคืนทรัพย์สินเป็นประเภท ชนิดและปริมาณเช่นเดียวกันให้แทน

ดังนั้น การกู้ยืมเงิน/สัญญากู้ยืมเงิน จึงเป็นสัญญายืมใช้สิ้นเปลืองที่ “ผู้กู้ยืม” ไปขอกู้ยืมเงินจาก “ผู้ให้กู้ยืม” โดยผู้กู้ยืมตกลงว่าจะใช้เงินคืนให้ภายในกำหนดเวลาใดเวลาหนึ่ง และจะกำหนดดอกเบี้ยในการกู้ยืมด้วยหรือไม่ก็ได้ ทั้งนี้ สัญญากู้ยืมเงินจะสมบูรณ์ต่อเมื่อได้มีการส่งมอบเงินที่กู้ยืมกันแล้ว

2.กรณีใดบ้าง ต้องมีหลักฐานการกู้ยืมเงิน?

แบ่งเป็น 2 กรณี คือ

  • จำนวนเงินที่กู้ยืม ไม่เกิน 2,000 บาท กฎหมายไม่ได้กำหนดให้ต้องทำหลักฐานการกู้ยืม ดังนั้น แม้ตกลงยืมเงินด้วยวาจา เมื่อเกิดการ
    ผิดข้อตกลงหรือผิดสัญญาก็สามารถฟ้องร้องบังคับคดีกันได้
    ตามกฎหมาย
  • จำนวนเงินที่กู้ยืมกัน เกิน 2,000 บาทขึ้นไป กฎหมายกำหนดให้
    การกู้ยืมเงินจะต้องมีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงิน ไม่เช่นนั้นจะฟ้องร้อง
    ให้บังคับคดีต่อกันไม่ได้

หลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินจะอยู่ในรูปแบบใดก็ได้ แต่ต้องเป็นลายลักษณ์อักษร มีข้อความชัดแจ้งว่ามีการกู้ยืมเงินกันไปเป็นจำนวนเท่าใด ตกลงจะใช้คืนเมื่อใด และต้องมีลายมือชื่อของผู้กู้ยืมเป็นสำคัญด้วย

3.องค์ประกอบของหลักฐานการกู้ยืมมีอะไรบ้าง?

  1. วันที่ที่ทำสัญญากู้เงิน
  2. ชื่อ ผู้ขอกู้เงินและผู้ให้กู้เงิน
  3. จำนวนเงินที่กู้
  4. กำหนดการชำระคืน
  5. ดอกเบี้ยต่อเดือน/ต่อปี (ถ้ามี)
  6. ผู้กู้ยืมต้องลงลายมือชื่อ
  7. ลายมือชื่อผู้ให้กู้ (มีหรือไม่มีก็ได้)
  8. อื่นๆ (รายละเอียด/เป็นทางการมากขึ้น)

เช่น สถานที่ทำสัญญา ผลของการผิดสัญญา พยานในการทำสัญญา เป็นต้น

4.ดอกเบี้ยการกู้ยืมเงิน คิดอย่างไร?

กฎหมายได้กำหนดจำกัดอัตราดอกเบี้ยในการกู้ยืมเงินไว้

  • ให้คิดดอกเบี้ยได้ไม่เกินอัตราร้อยละ 15 ต่อปี

(อัตราร้อยละ 1.25 ต่อเดือน)

ยกเว้นกรณีเป็นสถาบันการเงินหรือธนาคาร กฎหมายให้อำนาจเรียกดอกเบี้ยได้สูงกว่าอัตราร้อยละ 15 ต่อปีได้ แต่ต้องเป็นไปตามประกาศข้อกำหนดของธนาคารซึ่งมีกฎหมายรองรับ

(พระราชบัญญัติดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน)

5.ผลของการกำหนดดอกเบี้ยเกินกว่ากฎหมายกำหนดมีอะไรบ้าง?

1.ผู้ให้กู้มีความผิดอาญาฐานเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา

มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับ ไม่เกิน 1,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (พระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2475 มาตรา 3)

2.ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมตกเป็นโมฆะทั้งหมด ไม่ใช่เฉพาะแต่ดอกเบี้ยส่วนที่เกินร้อยละ 15 ต่อปี และฟ้องบังคับไม่ได้ (แต่เงินต้นยังคงสมบูรณ์)

3.ดอกเบี้ยที่ผู้กู้ยืมชำระไปแล้ว เรียกคืนไม่ได้(ถือว่าชำระหนี้ตามอำเภอใจ)

4.แม้ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมจะตกเป็นโมฆะ แต่สำหรับดอกเบี้ยผิดนัดผู้ให้กู้ยืมก็ยังคงบังคับได้

 

6.การฟ้องคดีกู้ยืมเงินมีอายุความเท่าไหร่?

การฟ้องร้องเรียกเงินตามสัญญากู้ยืมเงิน มีอายุความ 10 ปี

นับแต่วันถึงกำหนดชำระเงินกู้ยืมคืน

หากสัญญากู้ยืมตกลงกันกำหนดชำระเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยเป็นงวดๆ เช่น รวมทั้งหมด 5 งวด จะเป็นกรณีที่คู่สัญญาได้ตกลงชำระหนี้
เพื่อผ่อนทุนคืนเป็นงวดๆ จะมีอายุความเพียง 5 ปี

7.ข้อควรระวังเกี่ยวกับการกู้ยืมเงิน?

  1. ไม่ควรนำโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับการทำประโยชน์ในที่ดิน(น.ส.3)ไปให้เจ้าหนี้ยึดถือไว้เป็นหลักประกันการกู้ยืมเงิน
  2. สัญญาต้องทำอย่างน้อย 2 ฉบับ โดยให้ผู้กู้ยืมถือไว้ด้วย 1 ฉบับ
  3. ควรมีพยานฝ่ายผู้กู้ยืมลงลายมือชื่อเป็นพยานในสัญญาด้วยอย่างน้อย 1 คน
  4. ห้ามลงลายมือชื่อในกระดาษเปล่าเด็ดขาด
  5. 5. ก่อนลงลายมือชื่อในสัญญากู้ ต้องตรวจสอบจำนวนเงินที่ระบุในสัญญา
    ให้ถูกต้องและครบถ้วนตามจำนวนเงินที่ได้รับไป และในสัญญาต้องเขียน
    จำนวนเงินเป็นตัวหนังสือกำกับไว้ด้วย เช่น กู้ยืมเงินไปจำนวน 50,000 บาท (ห้าหมื่นบาทถ้วน)
  6. 6. การชำระหนี้ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ต้องขอรับใบเสร็จรับเงินหรือหลักฐานการรับเงินซึ่งมีลายมือชื่อผู้ให้กู้ยืมลงกำกับด้วยทุกครั้ง (เพื่อไว้เป็นหลักฐานยืนยันว่าได้ชำระหนี้แล้ว)
  7. เมื่อชำระหนี้ทั้งหมดต้องขอสัญญากู้คืนจากผู้ให้กู้ยืมด้วย

Copyright ©2024  dharmniti.co.th All rights reserved.

Log in with your credentials

Forgot your details?