กองทุนเงินทดแทน ประโยชน์เรื่องที่ลูกจ้างต้องรู้ !

กองเงินทุนทดแทน สิทธิประกันสังคม

07 มกราคม 2563

หากเกิดอุบัติเหตุจนพนักงานหรือลูกจ้างบาดเจ็บ พิการ เสียชีวิต จะมี ‘กองทุนเงินทดแทน’ เข้ามาช่วยคุ้มครองดูแล จะมีรายละเอียดและเงื่อนไขอย่างไร มาทำความเข้าใจไปพร้อมๆ กันครับ

Q&A กองทุนเงินทดแทน

Q : กองทุนเงินทดแทนคือ?

A : กองทุนเงินทดแทน คือกองทุนที่อยู่ดูแลโดยสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นทุนในการจ่ายเงินทดแทนให้แก่ลูกจ้างเมื่อประสบอันตราย เจ็บป่วย เสียชีวิตหรือสูญหาย เนื่องจากการทำงานให้นายจ้าง

Q : กองทุนเงินทดแทนต่างกับกองทุนประกันสังคมอย่างไร?

A : กองทุนเงินทดแทนและกองทุนประกันสังคมมีความแตกต่างกัน ใน 3 ประเด็นใหญ่ คือ

1. การดูแล : กองทุนเงินทดแทนจะดูแลลูกจ้างที่เจ็บป่วยเนื่องจากการทำงานให้นายจ้าง ส่วนกองทุนประกันสังคมจะดูแลผู้ประกันตนที่เจ็บป่วยที่ไม่เกี่ยวกับการทำงาน

2. การจัดเก็บเงินสมทบ : กองทุนประกันสังคมจัดเก็บเงินสมทบจาก 3 ฝ่ายคือ รัฐบาล นายจ้าง และลูกจ้าง ส่วนกองทุนเงินทดแทนจะจัดเก็บเงินสมทบจากนายจ้างเพียงฝ่ายเดียว 

3. การเข้ารับการรักษา : กองทุนประกันสังคมเมื่อเจ็บป่วยต้องเข้ารับการรักษาจากสถานพยาบาลที่ได้เลือกไว้ใช้สิทธิ์ โดยไม่มีการกำหนดค่ารักษาพยาบาลไว้  ส่วนกองทุนเงินทดแทนสามารถรักษาจากสถานพยาบาลใดก็ได้ แต่ต้องสำรองจ่ายไปก่อนหากไม่ได้เป็นโรงพยาบาลที่กองทุนเงินทดแทนทำความตกลงไว้ และมีการกำหนดเพดานค่ารักษาพยาบาลไว้

Q : กิจการใดบ้างที่ยกเว้นไม่ร่วมกองทุนเงินทดแทน

A : มี 7 กิจการที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องร่วมกองทุนเงินทดแทน ได้แก่

1. ราชการส่วนกลาง,ส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่น

2. รัฐวิสาหกิจ

3. กิจการเพาะปลูก ประมง ป่าไม้ และเลี้ยงสัตว์ ซึ่งไม่ใช้ลูกจ้างตลอดปี และไม่มีงานในลักษณะอื่นรวมอยู่ด้วย

4. ครู หรือ ครูใหญ่ของโรงเรียนเอกชน

5. กิจการที่ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไรในทางเศรษฐกิจ

6. ลูกจ้างของนายจ้างที่เป็นบุคคลธรรมดา ซึ่งงานที่ลูกจ้างทำนั้นมิได้มีการประกอบธุรกิจรวมอยู่ด้วย

7. ลูกจ้างของนายจ้างซึ่งประกอบการค้าเร่หรือการค้าแผงลอย

ดังนั้นตามที่กฎหมายกำหนดให้นายจ้างที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 1 คนขึ้นไปต้องขึ้นทะเบียนนายจ้างและจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนเงินทดแทน เมื่อเกิดอุบัติเหตุจากการทำงานลูกจ้างจะมีสิทธิ์ได้รับความคุ้มครองจากกองทุนนี้ แต่หากนายจ้างไม่ได้ขึ้นทะเบียนก็ยังมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ.2537 นี้ด้วยเช่นกัน

Q : นายจ้างต้องจ่ายเงินสมทบทบกองทุนเงินทดแทนอย่างไร

A : หลังจากขึ้นทะเบียนนายจ้างภายใน 30 วันนับแต่มีลูกจ้าง 1 คนขึ้นไป และจ่าย “เงินสมทบประจำปี” ของปีแรกที่ขึ้นทะเบียนนี้ (เอกสารแบบขึ้นทะเบียนนายจ้าง หรือสปส. 1-01 จะรวมอยู่ในชุดเดียวกับการขึ้นทะเบียนประกันสังคม)  

การจ่ายเงินสมทบนั้นนายจ้างจะ “จ่ายเงินสมทบประจำปี” ภายใน 31 มกราคมของทุกปี และจากนั้นนายจ้างต้องรายงานค่าจ้างจริงของปีที่ผ่านมาภายในเดือนกุมภาพันธ์ หากค่าจ้างที่ประมาณไว้น้อยกว่าก็จะเรียกเก็บเงินสมทบเพิ่มหรือที่เรียกว่า เรียกว่า “เงินสมทบจากการรายงานค่าจ้าง” ภายในเดือนมีนาคม หากค่าจ้างที่ประมาณการสูงกว่าค่าจ้างจริงนายจ้างก็จะได้รับเงินสมทบส่วนที่จ่ายเกินคืนไปด้วยเช่นกัน

กรณีจ่ายเงินสมทบเกินเวลาที่กำหนด นายจ้างต้องจ่ายค่าปรับ 3% ต่อเดือนของเงินสมทบที่ต้องจ่ายเพิ่มเติมด้วย

Q : อัตราเงินสมทบคิดอย่างไร?

A : อัตราเงินสมทบจะอยู่ระหว่าง 0.2% – 1.0% ของค่าจ้าง ขึ้นอยู่กับลักษณะความเสี่ยงภัยในการทำงานของแต่ละกิจการ  โดยค่าจ้างรายปีที่นำคำนวณสูงสุดอยู่ที่ 240,000 บาท

Q : สิทธิประโยชน์ในกองทุนเงินทดแทนมีอะไรบ้าง?

A : หากลูกจ้างประสบอุบัติจากการทำงานจะได้รับความคุ้มครองจากกองทุนเงินทดแทนดังนี้

1. ค่ารักษาพยาบาล : ลูกจ้างที่ประสบอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วยจากการทำงาน จะได้รับการช่วยเหลือค่ารักษาพยาบาล ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับอุปกรณ์ต่างๆ ในการรักษาพยาบาล รวมถึงวัตถุที่ทำหน้าที่แทนอวัยวะที่ประสบอุบัติ โดยอัตราที่กำหนดไว้ไม่เกิน 2,000,000 บาท

2. ค่าฟื้นฟูสมรรถภาพ : หากลูกจ้างที่ประสบอุบัติเหตุและการรักษาพยาบาลสิ้นสุดแล้ว แต่สภาพร่างกายหรือจิตใจของลูกจ้างไม่สามารถทำงานได้เหมือนเดิม ต้องมีการฟื้นฟูสมรรถภาพของร่างกาย จิตใจ หรือฟื้นฟูอาชีพ ลูกจ้างต้องยื่นคำขอเข้ารักการฟื้นฟูสมรรถภาพต่อสำนักงานประกันสังคมและกองทุนเงินทดแทน ซึ่งกฎหมายให้ลูกจ้างมีสิทธิ์ได้รับค่าฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงานดังนี้

 – ค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงานด้านอาชีพ โดยให้จ่ายได้เฉพาะที่เป็นการฝึกตามหลักสูตรที่หน่วยงานของสำนักงานประกันสังคมเป็นผู้ดำเนินการ ไม่เกิน 24,000 บาท

 – ค่าใช้จ่ายในกระบวนการเวชศาสตร์ฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงานด้านการแพทย์ โดยเป็นค่าใช้จ่ายทางกายภาพบำบัดไม่เกินวันละ 200 บาท และค่าใช้จ่ายทางกิจกรรมบำบัดไม่เกินวันละ 100 บาท แต่รวมแล้วไม่เกิน 24,000 บาท

 – ค่าใช้จ่ายในกระบวนการบำบัดรักษาและการผ่าตัดเพื่อประโยชน์ในการฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงานไม่เกิน 40,000 บาท หากมีความจำเป็นให้จ่ายเพิ่มได้อีกไม่เกิน 110,000 บาท โดยคณะกรรมการการแพทย์พิจารณาและคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนเห็นชอบ

 – ค่าวัสดุและอุปกรณ์ด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟู หน่วยละไม่เกินอัตราตามที่กระทรวงการคลังกำหนด แต่รวมแล้วไม่เกิน 160,000 บาท

 – ลูกจ้างจะได้รับค่าฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงาน จะต้องเข้ารับการฟื้นฟูฯ ที่ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนงานสำนักงานประกันสังคมเท่านั้น

3. ค่าทำศพ : ผู้จัดการทำศพของลูกจ้างที่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุจากการทำงานจะได้รับค่าทำศพเป็นจำนวน 100 เท่าของอัตราสูงสุดของค่าจ้างขั้นต่ำรายวันตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน

4. ค่าทดแทน : เงินที่จ่ายให้ลูกจ้างหรือผู้มีสิทธิ์สำหรับการประสบอันตราย เจ็บป่วย เสียชีวิตหรือสูญหายของลูกจ้าง นอกเหนือจากสิทธิ์ได้รับค่ารักษาพยาบาล ค่าฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงานหรือค่าทำศพ โดยค่าทดแทนนี้ลูกจ้างจะได้รับเป็นรายเดือนทุกเดือน ในอัตราร้อยละ 60 ของค่าจ้างรายเดือนของลูกจ้างตามระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดดังนี้

 – ค่าทดแทนกรณีไม่สามารถทำงานติดต่อกันเกิน 3 วันขึ้นไป : ลูกจ้างได้รับเงินเป็นรายเดือนทุกเดือนในอัตราร้อยละ 60 ของค่าจ้างรายเดือน สูงสุดไม่เกิน 12,000 บาทต่อเดือน ตลอดระยะเวลาที่ไม่สามารถทำงานได้ แต่ไม่เกิน 1 ปี

 – ค่าทดแทนกรณีสูญเสียอวัยวะบางส่วนของร่างกาย : หลังสิ้นสุดการรักษาลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าทดแทนในร้อยละ 60  ของค่าจ้างรายเดือน เป็นระยะเวลาไม่เกิน  10  ปี

 – ค่าทดแทนกรณีทุพพลภาพ : ลูกจ้างที่สูญเสียอวัยวะจนส่งผลให้ไม่สามารถทำงานได้ จะได้รับค่าทดแทนในร้อยละ 60  ของค่าจ้างรายเดือน เป็นระยะเวลา 15  ปี

 – ค่าทดแทนกรณีตายหรือสูญหาย : ผู้มีสิทธิตามกฎหมาย เช่น บิดา มารดา สามี ภรรยา บุตร ของลูกจ้างจะรับค่าทดแทนร้อยละ 60 ของค่าจ้างรายเดือนเป็นระยะเวลา 8 ปี

Q : ช่วงเวลาการแจ้งและรับสิทธิ์?

A : ระยะเวลาของการแจ้งและรับสิทธิ์เมื่อลูกจ้างประสบอุบัติจากการทำงาน มีการกำหนดไว้ดังนี้

 – นายจ้างต้องแจ้งการประสบอันตรายของลูกจ้างภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ทราบการประสบอันตรายของลูกจ้าง

 – หากนายจ้างหรือลูกจ้างจ่ายค่ารักษาพยาบาลไปก่อนให้นำใบเสร็จรับเงินของสถานพยาบาล มาเบิกคืนได้ภายใน 90 วันนับแต่วันที่จ่าย

 – ลูกจ้างหรือผู้มีสิทธิต้องยื่นคำร้องขอรับเงินทดแทนภายใน 180 วัน นับแต่วันที่ประสบอันตรายเจ็บป่วยหรือสูญหาย

Q : กรณีใดบ้างที่สิทธิ์ไม่คุ้มครอง?

A : ระยะเวลาของการแจ้งและรับสิทธิ์เมื่อลูกจ้างประสบอุบัติจากการทำงาน มีการกำหนดไว้ดังนี้

หากมีการตรวจสอบพบว่า อุบัติเหตุนั้นเกิดจากจากเสพของมึนเมาหรือเสพยาเสพติด รวมถึงมีความจงใจให้เกิดอุบัติเหตุหรือได้รับบาดเจ็บ ลูกจ้างจะไม่รับสิทธิ์ในจากการดูแลของกองทุนเงินทดแทนนี้แต่อย่างใด

 

ข้อมูลอ้างอิง :

 https://www.sso.go.th  (สำนักงานกองทุนประกันสังคม)

http://www.mol.go.th (กระทรวงแรงงงาน) 

 

Copyright ©2024  dharmniti.co.th All rights reserved.

Log in with your credentials

Forgot your details?