18 เมษายน 2563
ครม.ไฟเขียวมาตรการให้ความช่วยเหลือ SMEs ผ่านโครงการค้ำประกันสินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการใหม่และผู้ประกอบการเทคโนโลยีนวัตกรรม (Start-up & Innobiz)
ครม.มีมติเห็นชอบมาตรการให้ความช่วยเหลือ SMEs ผ่านโครงการค้ำประกันสินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการใหม่และผู้ประกอบการเทคโนโลยีนวัตกรรม (Start-up & Innobiz) โดยวงเงินค้ำประกันต่อรายรวมทุกสถาบันของผู้ประกอบการใหม่ (Start-up) บุคคลธรรมดา ไม่เกิน 5 ล้านบาท นิติบุคคล ไม่เกิน 10 ล้านบาท ผู้ประกอบการเทคโนโลยีนวัตกรรม บุคคลธรรมดา ไม่เกิน 10 ล้านบาท นิติบุคคล ไม่เกิน 40 ล้านบาท
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ผ่านโครงการค้ำประกันสินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการใหม่และผู้ประกอบการเทคโนโลยีนวัตกรรม (Start-up & Innobiz) และอนุมัติงบประมาณในการดำเนินมาตรการดังกล่าวเป็นวงเงินไม่เกิน 1,360 ล้านบาท โดยขอรับเงินชดเชยจากรัฐบาลจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 และปีต่อ ๆ ไป ตามภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงในแต่ละปี
ทั้งนี้ได้มีการปรับปรุงหลักเกณฑ์และเงื่อนไขโครงการฯ ให้สอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมายเพิ่มมากขึ้นดังนี้
วงเงินค้ำประกันต่อราย SMEs รวมทุกสถาบันการเงิน ไม่เกิน 40 ล้านบาทต่อราย รวมทุกสถาบันการเงิน โดยมีรายละเอียดดังนี้
บุคคลธรรมดา
ผู้ประกอบการใหม่ (Start-up) ไม่เกิน 5 ล้านบาท
ผู้ประกอบการเทคโนโลยีนวัตกรรม ไม่เกิน 10 ล้านบาท
นิติบุคคล
ผู้ประกอบการใหม่ (Start-up) ไม่เกิน 10 ล้านบาท
ผู้ประกอบการเทคโนโลยีนวัตกรรม ไม่เกิน 40 ล้านบาท
ทั้งนี้อยู่ภายใต้ข้อกำหนดของ บสย. และการยื่นขอให้ค้ำประกันขั้นต่ำครั้งละไม่น้อยกว่า 10,000 บาท
ค่าธรรมเนียมค้ำประกัน อัตราไม่เกินร้อยละ 1.5 ต่อปีของวงเงินค้ำประกันตลอดอายุการค้ำประกันโครงการ โดย บสย. สามารถกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมค้ำประกันที่รัฐบาลจ่ายแทน SMEs ในแต่ละปี ตามความเหมาะสมของแต่ละระดับความเสี่ยงของผู้ประกอบการ ทั้งนี้ รัฐบาลรับภาระจ่ายค่าธรรมเนียมค้ำประกันแทนผู้ประกอบการไม่เกินร้อยละ 2 ตลอดอายุการค้ำประกัน
คุณสมบัติ SMEs
- เป็น SMEs ที่มีทรัพย์สินถาวรไม่รวมที่ดินไม่เกิน 200 ล้านบาท
- เป็น SMEs ประเภทบุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคลที่มีสัญชาติไทย
- เป็น SMEs ที่ประกอบกิจการโดยชอบด้วยกฎหมาย และต้องไม่ขัดต่อศีลธรรมอันดี
- เป็น SMEs ที่ได้รับสินเชื่อใหม่ และต้องไม่นำไปชำระหนี้เดิมกับสถาบันการเงินผู้ให้สินเชื่อ
- เป็น SMEs ที่เป็นลูกหนี้จัดชั้นปกติหรือจัดชั้นดังกล่าวถึงเป็นพิเศษ ตามเกณฑ์ข้อกำหนดของธนาคารแห่งประเทศไทย
- เป็น SMEs ที่ผ่านการคัดกรองความเสี่ยงของลูกค้าตามเกณฑ์ที่ บสย. กำหนด
- กรณีเป็น SMEs ผู้ประกอบการรายใหม่ (Start-up SMEs) มีอายุกิจการไม่เกิน 3 ปี โดยพิจารณาจากการจดทะเบียนนิติบุคคล หรือการจดทะเบียนการค้า หรือเอกสารทางราชการ หรือเอกสารอื่นใดที่ บสย. เห็นชอบ
- กรณีเป็น SMEs ผู้ประกอบการเทคโนโลยีนวัตกรรม (Innobiz)
8.1 เป็น SMEs ที่ผ่านเกณฑ์การตรวจสอบด้วยเครื่องมือในการประเมินเทคโนโลยี (Thailand Technology Rating System : TTRS) หรือเกณฑ์อื่น ๆ ตามที่ บสย. กำหนด
8.2 เป็น SMEs ที่มีรายชื่อผ่านการพิจารณาคุณสมบัติจากหน่วยงานรัฐ ได้แก่ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือหน่วยงานอื่น ๆ ที่ บสย. เห็นชอบ
สำหรับผลที่คาดว่าจะได้รับจากโครงการนี้คือ 1. ช่วยให้ผู้ประกอบการ SMEs ที่รัฐบาลต้องการส่งเสริม ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ประมาณ 4,000 ราย (เฉลี่ย 2 ล้านบาทต่อราย) และ 2. ก่อให้เกิดสินเชื่อในระบบสถาบันการเงิน 8,000 ล้านบาท (1 เท่า)