ถูกเลิกจ้างทางโปรแกรมแชตได้หรือไม่

ถูกเลิกจ้างทางโปรแกรมแชต

18 มิถุนายน 2562

เมื่อการสื่อสารทางอิเล็กทรอนิกส์กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน จึงถือเรื่องสำคัญที่ทั้งลูกจ้างและนายจ้าง ต้องศึกษาและเข้าใจกฎหมายที่เกี่ยวข้องนี้ไว้  อย่างการถูกเลิกจ้างทางโปรแกรมแชตได้หรือไม่

ในการติดต่อสื่อสารในทางธุรกิจทุกวันนี้นั้น เราปฏิเสธไม่ได้เลยว่า การติดต่อสื่อสารโดยใช้ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์เป็นเครื่องมือสื่อสารที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการใช้อีเมล์ การใช้โปรแกรมต่างไม่ว่าจะเป็น Line, Hangouts, WhatsApp หรือ WeChat เป็นต้น ซึ่งเป็นโปรแกรมที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย

แต่การบอกกล่าว ทวงถามในทางกฎหมายตามที่ปฏิบัติกันมานิยมใช้การส่งเป็นจดหมายลงทะเบียนไปรษณีย์ตอบรับ เพราะเป็นการสร้างความมั่นใจว่า เมื่อจดหมายดังกล่าวถูกนำเสนอเป็นพยานหลักฐานในชั้นศาลแล้ว จะไม่ถูกโต้แย้งคัดค้านถึงความถูกต้องในเนื้อหา หรือปฏิเสธว่าไม่รับจดหมายดังกล่าวนั้น

ปัจจุบันโลกได้เปลี่ยนไปแล้ว วิธีการส่งเอกสารทางกฎหมายเป็นหนังสือทางไปรษณีย์ถูกใช้ลดลงเป็นอย่างมาก คนทั่วไปนิยมใช้การติดต่อสื่อสารทางอินเทอร์เน็ตแทนการส่งไปรษณีย์ การส่งจดหมายอิเล็กทรอนิกส์(อีเมล์) หรือเขียนหากันโดยใช้โปรแกรม Line Hangouts, WhatsApp หรือ WeChat ซึ่งโปรแกรมดังกล่าวจะสามารถถูกดาวน์โหลดลงในโทรศัพท์มือถือหรือคอมพิวเตอร์นั้น สามารถใช้ได้สะดวก เร็วและประหยัดกว่ามาก

แต่ท่านผู้อ่านทราบหรือไม่ครับว่า การที่คนทั่วไปขีดเขียนอยู่ในโปรแกรมในโทรศัพท์มือถือนั้น เรามีความรับผิดชอบในทางกฎหมายหรือไม่ อย่างไร และทุกวันนี้ ในประเทศไทยมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการติดต่อสื่อสารทางธุรกิจหรือไม่

ที่จริงแล้วประเทศไทยได้มีกฎหมายธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์มาตั้งแต่ พ.ศ.2544   และมีการแก้ไขอีกครั้งเมื่อ พ.ศ. 2551 โดยได้กล่าวถึงคำนิยามของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ว่า “ ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ หมายถึง ข้อมูลที่ได้สร้าง ส่ง รับ เก็บรักษา หรือประมวลผลด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ เช่น วิธีการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ จดหมายอิเล็กทรอนิกส์ โทรเลข โทรพิมพ์ โทรสาร”

เมื่อพิจารณาจากคำนิยามของคำว่า “ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์” ดังกล่าวนั้น ย่อมสามารถแปลความรวมถึงอีเมล์และข้อมูลในโปรแกรม Line WhatsApp หรือ WeChat ว่าเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ได้ด้วย เมื่อเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์แล้วจะมีผลในทางกฎหมายอย่างไร เราจะต้องพิจารณาต่อไปว่า กฎหมายนี้ให้ความสำคัญกับข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์นี้ไว้อย่างไร ซึ่งกฎหมายได้ระบุไว้ว่า “ห้ามมิให้ปฏิเสธความมีผลผูกพันและการใช้บังคับทางกฎหมายของข้อความใดเพียงเพราะเหตุที่ข้อความนั้นอยู่ในรูปของข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์” และห้ามมิให้ปฏิเสธข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์เป็นพยานหลักฐานในกระบวนพิจารณาทางกฎหมายทั้งในคดีแพ่ง คดีอาญา หรือในคดีอื่น ๆ เพียงเพราะเหตุว่า เป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์

ในการชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานว่าข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์จะเชื่อถือได้หรือไม่ เพียงใดนั้นให้พิเคราะห์ถึงความน่าเชื่อถือของลักษณะหรือวิธีการที่ใช้สร้าง เก็บรักษา หรือสื่อสารข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ลักษณะหรือวิธีการเก็บรักษา ความครบถ้วนและไม่มีการเปลี่ยนแปลงของข้อความลักษณะ หรือวิธีการที่ใช้ในการระบุหรือแสดงตัวผู้ส่งข้อมูล รวมทั้งพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องทั้งปวง

 ให้นำความในวรรคหนึ่งมาใช้บังคับกับสิ่งพิมพ์ของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ด้วย”

ดังนั้นการที่เราใช้อีเมล์ หรือโปรแกรมอิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ ติดต่อสื่อสารกัน หากเป็นไปในลักษณะมุ่งโดยตรงต่อการก่อนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคล เพื่อจะก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน หรือระงับซึ่งสิทธิ ก็ย่อมถือว่า เป็นการทำนิติกรรมขึ้นแล้ว นั่นก็หมายความว่า ท่านได้ก่อหนี้ขี้นแล้วนั่นเอง อาทิเช่น ท่านได้ตกลงสั่งซื้อสินค้าทางอินเทอร์เน็ต แล้วท่านเกิดเปลี่ยนใจ ไม่อยากได้สินค้านั้นแล้ว ท่านจะมาอ้างว่า การสั่งซื้อของท่านไม่มีผลทางกฎหมายเช่นนี้เพราะไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือไม่ได้ การซื้อขายดังกล่าวมีผลเสมือนเป็นการซื้อขายทั่วไปนั่นเอง

นอกจากนี้การที่ท่านไปเขียนข้อความในเฟซบุ๊กต่อว่าคนอื่นอันมีลักษณะใส่ความว่ากล่าวทำให้บุคคลนั้นได้รับความเสียหาย ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชังแล้ว ท่านก็อาจถูกดำเนินคดีอาญาในข้อหากระทำความผิดอาญาในข้อหาหมิ่นประมาทได้เช่นกัน เพราะข้อมูลในเฟซบุ๊ก สามารถนำมาใช้เป็นพยานหลักฐานในการดำเนินคดีในศาลได้นั่นเอง

ในเมื่อการสื่อสารทางอีเมล์ หรือทางโปรแกรมโทรศัพท์มือถือได้รับการยอมรับจากกฎหมายธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์แล้ว หากนายจ้างนำการสื่อสารดังกล่าวมาประยุกต์ใช้กับการบริหารจัดการทรัพยากรมนุษย์จะกระทำได้หรือไม่ การลงโทษลูกจ้างเป็นหนังสือเตือน หรือเลิกจ้าง หากนายจ้างทำหนังสือเตือนขึ้นมาลงนามครบถ้วนแล้ว นายจ้างใช้วิธีสแกนและส่งทางอีเมล์ หรือส่งทางโปรแกรมโทรศัพท์มือถือแล้ว จะมีผลบังในทางกฎหมายหรือไม่

ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานนั้น ไม่ได้กำหนดบังคับให้นายจ้างจะต้องส่งหนังสือเตือน หรือหนังสือเลิกจ้างให้กับลูกจ้างด้วยวิธีอย่างใดอย่างหนึ่งไว้เป็นการเฉพาะ ดังนั้นนายจ้างสามารถใช้วิธีใดก็ได้เพื่อให้เอกสารนั้นถึงมือลูกจ้าง หรือทำให้ลูกจ้างรับทราบถึงเนื้อความในหนังสือดังกล่าวก็เป็นอันใช้ได้ เพราะถือหลักที่ว่าการแสดงเจตนาของนายจ้างได้ถึงมือผู้รับนั่นก็คือลูกจ้างแล้ว ไม่ว่าจะใช้วิธีส่งจดหมายลงทะเบียน ส่งบายแฮนด์ อ่านให้ฟัง ปิดประกาศ (กรณีนี้ผู้เขียนไม่แนะนำเพราะอาจถูกลูกจ้างฟ้องหมิ่นประมาทได้) ดังนั้นในเมื่อกฎหมายยอมรับการส่งอีเมล์ หรือการส่งทางโปรแกรมโทรศัพท์มือถือแล้ว ย่อมถือว่า การส่งหนังสือเตือนหรือหนังสือเลิกจ้างทางวิธีการนี้ มีผลบังคับใช้ในทางกฎหมายเช่นกัน

แต่ปัญหาคือ การส่งเอกสารทางกฎหมาย โดยทำเป็นข้อมูลอิเล็กทรอกนิกส์แล้วส่งไปนั้น นายจ้างจะสามารถยืนยันได้อย่างไรว่า ลูกจ้างได้รับข้อมูลที่นายจ้างได้ส่งไปนั้น   หากลูกจ้างปฏิเสธว่าไม่ได้รับหนังสือเตือนหรือหนังสือเลิกจ้างนั้น นายจ้างจะพิสูจน์กันอย่างไร เพราะการสื่อสารทางอิเล็กทรอนิกส์นั้นไม่ปรากฏหลักฐานยืนยันได้อย่างชัดเจนว่า ลูกจ้างได้รับข้อมูลนั้นจากนายจ้างจริง หากลูกจ้างอ่านข้อมูลดังกล่าวแล้วหลบเลี่ยงโดยปิดโทรศัพท์มือถือ นายจ้างจะมั่นใจได้อย่างไรว่า ลูกจ้างได้รับข้อมูลนั้นหรือไม่ หรือได้รับข้อมูลในวันใดกันแน่ ซึ่งก็ถือว่าเป็นปัญหาในทางปฏิบัติอย่างหนึ่ง ดังนั้นในการส่งเอกสารทางกฎหมายที่มีความสำคัญเช่นนี้ นายจ้างก็ยังชอบที่จะใช้วิธีการส่งที่มีความชัดเจน ซึ่งทำให้มั่นใจได้ว่า ลูกจ้างได้รับเอกสารหรือรับทราบข้อความในนั้น เว้นแต่กรณีที่จำเป็นจริง ๆ ที่จะต้องใช้การส่งทางอีเมล์หรือโปรแกรมอิเล็กทรอนิกส์ เช่น ลูกจ้างไม่มีถิ่นที่อยู่เป็นหลักแหล่ง เพราะอยู่ในระหว่างการเดินทางในต่างจังหวัด หรือต่างประเทศ เป็นต้น

ท่านผู้อ่านที่เคยอ่านสัญญาทางธุรกิจเป็นประจำเคยสงสัยหรือไม่ ในสัญญาข้อสุดท้ายที่มักจะเขียนไว้ประมาณนี้ว่า “การบอกกล่าว ทวงถาม หรือส่งเอกสารใด ๆ อันพึงมีต่อคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดตามภูมิลำเนาที่ส่งที่ปรากฎในสัญญานี้ ให้ถือว่า ส่งโดยชอบและให้ถือว่า คู่สัญญาอีกฝ่ายได้ทราบแล้วในวันที่คำบอกกล่าวหรือเอกสารนั้น ๆ พึงไปถึงตามปกติ” มีไว้เพื่อประโยชน์อะไร ซึ่งที่จริงแล้วผู้เขียนสัญญาต้องการที่จะป้องกันปัญหาการปฏิเสธของคู่สัญญาที่มักจะอ้างว่าไม่ได้รับการบอกกล่าว ทวงถามจากคู่สัญญาอีกฝ่ายในการปฏิบัติตามสัญญานั้น ซึ่งในกรณีที่นายจ้างได้ทำสัญญาจ้างแรงงานไว้กับลูกจ้างและมีการกำหนดสัญญาข้อนี้ไว้ด้วย นายจ้างสามารถอ้างถึงสัญญาข้อนี้เพื่อประยุกต์ใช้กับการส่งข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ได้หรือไม่ว่า เมื่อนายจ้างได้ส่งข้อมูลดังกล่าวไปแล้ว (Sent ไปแล้ว) ย่อมถือว่าลูกจ้างได้รับทันที กรณีเช่นนี้คงจะต้องรอพิจารณาจากแนวบรรทัดฐานของศาลฎีกาต่อไป

ปัจจุบันนี้กระบวนการพิจารณาคดีในศาลแรงงานได้ให้การยอมรับการอ้างอิงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์เป็นพยานหลักฐาน และบางกรณีศาลได้ใช้ข้อมูลดังกล่าวมาปรับใช้เป็นพยานหลักฐานที่สำคัญตัวหนึ่งในการวินิจฉัยชี้ขาดคดีอีกด้วย แม้คู่ความฝ่ายตรงข้ามพยายามที่หักล้างโดยไม่รับรองความถูกต้องของเอกสารดังกล่าว แต่ในคดีแรงงานนั้นเป็นระบบไต่สวน ซึ่งตามกฎหมายวิธีพิจารณาคดีในศาลแรงงานแล้ว กำหนดให้ศาลจะเป็นผู้ซักถามพยานเพื่อหาความจริงเอง ตัวความหรือทนายความจะซักถามได้ก็ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากศาล แต่การที่ศาลอนุญาตให้ทนายความของคู่ความแต่ละฝ่ายซักถามพยานได้นั้น ถือเป็นทำหน้าที่ถามแทนศาล ไม่เหมือนการซักถามความในคดีแพ่งหรือคดีอาญา ดังนั้นการซักถามพยานจะต้องไม่มีลักษณะเป็นการหักล้างทำลายน้ำหนักพยานกันเอง ไม่มีการถามติง การซักถามพยานในศาลแรงงาน จึงมีลักษณะเป็นการแสวงหาความจริงร่วมกันจากคำให้การของพยานให้ประจักษ์แก่ศาล ดังนั้น หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอ้างข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์เป็นพยานหลักฐาน หากศาลไม่อนุญาตก็เป็นการยากทีเดียวที่ทนายความของอีกฝ่ายหนึ่งจะถามค้านเพื่อทำลายน้ำหนักพยานหลักฐานนี้ได้

 

ที่มา :  ผู้เขียน….นายวรเศรษฐ์  เผือกสกนธ์ ที่ปรึกษากฎหมาย จาก นิตยสาร HR Society Magazine

Copyright ©2024  dharmniti.co.th All rights reserved.

Log in with your credentials

Forgot your details?