การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปัจจุบันส่งผลกระทบโดยตรงต่อการประกอบวิสาหกิจของนายจ้างเป็นอย่างมาก บางรายถึงขนาดต้องปิดกิจการ บางรายที่ยังคงดำเนินธุรกิจต่อไปแต่ก็จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนการบริหารจัดการเพื่อความอยู่รอด ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อสภาพการจ้างเดิมที่นายจ้างกับลูกจ้างตกลงกันไว้
ก่อนอื่นต้องทำความเข้าในเบื้องต้นเสียก่อนว่า สิทธิและหน้าที่ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างมีแหล่งที่มาอยู่ 2 ประการ
1. สิทธิและหน้าที่ได้ถูกกำหนดโดยกฎหมาย ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 และพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน 2541 มาตรา 17 และ 17/1 กำหนดหน้าที่กรณีนายจ้างจะเลิกจ้างลูกจ้างที่ไม่ได้กระทำความผิด นายจ้างจะต้องบอกกล่าวล่วงหน้าไม่น้อยกว่าหนึ่งงวดการจ่ายค่าจ้าง มิฉะนั้น นายจ้างต้องจ่ายสินจ้าง (ค่าจ้าง) แทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่ลูกจ้าง ลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างโดยไม่กระทำผิด แต่เป็นผลมาจากปัญหาทางเศรษฐกิจจึงมีสิทธิได้รับการบอกกล่าวล่วงหน้าตามกฎหมาย
2. สิทธิและหน้าที่ตามความตกลงร่วมกันระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง นายจ้างกับลูกจ้างมีอำนาจทำความตกลงกำหนดสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาจ้างเพิ่มเติมไปจากกฎหมายได้ หากข้อตกลงนั้นไม่ขัดต่อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนย่อมมีผลผูกพันก่อสิทธิและหน้าที่ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง ซึ่งข้อตกลงร่วมกันนี้อาจทำได้ในลักษณะข้อตกลงในสัญญาจ้าง และข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง
ข้อตกลงในสัญญาจ้าง (terms & conditions of employment) เป็นข้อตกลงระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างเป็นปัจเจกบุคคล กำหนดเงื่อนไขการจ้างการทำงาน ผลประโยชน์ตอบแทนการทำงานของทั้งสองฝ่าย โดยข้อตกลงเช่นนี้มีผลผูกพันเฉพาะคู่สัญญาเท่านั้น
ข้อตกลงในสัญญาจ้างมีลักษณะเป็นสัญญาในทางแพ่งระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างคนที่เป็นคู่สัญญา การแก้ไขเปลี่ยนแปลงใดๆ จะทำได้ต่อเมื่อคู่สัญญาอีกฝ่ายยินยอม จึงจะมีผลใช้บังคับได้ อย่างไรก็ดี มีข้อควรระมัดระวังว่าข้อตกลงใหม่นี้จะต้องไม่ขัดหรือแย้งต่อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน มิฉะนั้น จะตกเป็นโมฆะ
ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง (collective bargaining agreement) เป็นข้อตกลงร่วมกันระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง รวมทั้งองค์กรแรงงาน มีเนื้อหาเกี่ยวกับเงื่อนไขการจ้างการทำงาน กำหนดวันเวลาทำงาน ค่าจ้างสวัสดิการ การเลิกจ้าง หรือผลประโยชน์อื่นของนายจ้างหรือลูกจ้าง อันเกี่ยวกับการจ้างการทำงาน ข้อตกลงนี้มีผลผูกพันทั้งฝ่ายนายจ้างและฝ่ายลูกจ้างในลักษณะมหภาค
การแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง โดยหลักจะต้องปฏิบัติตามขั้นตอนและวิธีการที่กำหนดไว้ตาม พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มีขั้นตอนดังนี้
1. แจ้งข้อเรียกร้องเป็นหนังสือ นายจ้างหรือลูกจ้างที่ประสงค์จะแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างจะต้องยื่นข้อเรียกร้องเป็นหนังสือให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบ
2. เจรจาภายใน 3 วัน เมื่อได้รับข้อเรียกร้องแล้ว ลูกจ้างซึ่งเป็นฝ่ายที่รับข้อเรียกร้องจะต้องแจ้งชื่อตนเองหรือผู้แทนเป็นหนังสือให้ฝ่ายที่แจ้งข้อเรียกร้องทราบโดยไม่ชักช้า ซึ่งผู้แทนเจรจาฝ่ายลูกจ้างนี้ ลูกจ้างจะดำเนินการเลือกตั้งผู้แทนเจรจาเองหรืออาจขอให้พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานช่วยดำเนินการให้แทนก็ได้ ฝ่ายแจ้งข้อเรียกร้องและฝ่ายรับข้อเรียกร้องจะต้องเริ่มเจรจาภายใน 3 วัน นับแต่วันที่ได้รับข้อเรียกร้อง
3. หากไม่มีการเจรจาภายใน 3 วัน หรือเจรจาแล้วแต่ตกลงกันไม่ได้ ฝ่ายแจ้งข้อเรียกร้องต้องแจ้งพนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงาน ในกรณีที่ไม่มีการเจรจากันภายใน 3 วัน หรือมีการเจรจาแล้วแต่ตกลงกันไม่ได้ว่าด้วยเหตุใด ถือว่าได้มี “ข้อพิพาทแรงงาน”(labour dispute) เกิดขึ้น ฝ่ายที่ยื่นข้อเรียกร้องจะต้องแจ้งเป็นหนังสือให้พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานทราบภายใน 24 ชั่วโมง นับแต่พ้นกำหนด 3 วัน หรือนับแต่เวลาที่ตกลงกันไม่ได้
4. ร่วมกันตั้งผู้ชี้ขาดคนหนึ่งหรือหลายคน เพื่อทำหน้าที่ชี้ขาดข้อพิพาทแรงงานของตน นอกจากนี้ เมื่อเกิดข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้แล้ว นายจ้างและลูกจ้างอาจไม่ใช้มาตรการทางแรงงานสัมพันธ์เข้ากดดันกัน แต่อาจตกลงร่วมกันตั้งผู้ชี้ขาดคนหนึ่งหรือหลายคน เพื่อทำหน้าที่ชี้ขาดข้อพิพาทแรงงานของตนก็ได้
สนใจสมัครสมาชิกวารสาร ได้ที่ https://bit.ly/3nwWsFW
สิทธิประโยชน์สำหรับสมาชิกวารสาร HR Society Magazine :
1. รับหนังสือกฎหมายแรงงาน ปีละ 1 เล่ม (มูลค่า 350 บาท)
2. รับสิทธิใช้ฟรี e-Magazine Index & Audio Book (อ่านวารสารรูปแบบ E-book สืบค้นข้อมูลบทความกฎหมายแรงงาน หลักการบริหารทรัพยากรมนุษย์)
3. รับส่วนลดในการอบรมสัมมนาของบริษัท ฝึกอบรมและสัมมนาธรรมนิติ จำกัด www.dst.co.th
4. รับสิทธิเข้าสัมมนาพิเศษฟรี ปีละ 1 ครั้ง
5. รับส่วนลดในการซื้อหนังสือของธรรมนิติ www.dharmnitibook.com
6. รับส่วนลดในการลงประกาศหนังสือพิมพ์ข่าวผู้ถือหุ้น www.thaicorporatenews.com
ส่วนหนึ่งของบทความ “การแก้ไขเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง อันเนื่องมาจากปัญหาทางเศรษฐกิจและโควิด-19” วารสาร HR Society Magazine ฉบับเดือนพฤษภาคม 2564