มาตรการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากพายุโซนร้อนปาบึก ปี 2562

มาตรการช่วยเหลือผู้ประสบภัย

18 เมษายน 2563

ครม.เห็นชอบ มาตรการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากพายุโซนร้อนปาบึก ปี 2562

มาตรการการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากพายุโซนร้อนปาบึก ประกอบด้วยมาตรการทางภาษีและมาตรการทางการเงิน

มาตรการทางภาษี สำหรับผู้บริจาคเงินนำมาลดหย่อนภาษีได้เท่าจำนวนที่บริจาค ส่วนผู้ประสบภัยได้รับยกเว้นไม่ต้องนำเงินชดเชยและทรัพย์สินที่ได้รับบริจาคมาคำนวณภาษีเงินได้ และยกเว้นภาษีสำหรับค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมบ้าน 1 แสน และรถ 3 หมื่น

มาตรการทางการเงิน  สถาบันการเงินเฉพาะกิจ หรือ SFIs  จำนวน 7 แห่ง ได้มีมาตรการต่าง ๆ  เช่น การลดดอกเบี้ย พักชำระหนี้  ให้สินเชื่อ กับผู้ประสบภัยด้วย

           

ครม.มีมติรับทราบมาตรการทางด้านภาษีรวม 2 มาตรการ และมาตรการทางด้านการเงินเพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากพายุโซนร้อนปาบึกของ SFIs ทั้ง 7 แห่ง รวมจำนวน 19 มาตรการ และเห็นชอบมาตรการทางด้านภาษี รวม 2 มาตรการ

1.มาตรการทางด้านภาษี

1.1 มาตรการหักลดหย่อนภาษีสำหรับการบริจาคเงินหรือทรัพย์สินเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย

การบริจาคให้กับผู้ประสบอุทกภัยผ่านหน่วยงานส่วนราชการ องค์การของรัฐบาล องค์การหรือสถานสาธารณกุศล เช่น กองทุนเงินช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัย สำนักนายกรัฐมนตรี เป็นต้น หรือผ่านเอกชนที่เป็นตัวแทนรับบริจาคที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้กับกรมสรรพากรเพื่อนำไปบริจาคต่อให้กับผู้ประสบภัย สามารถนำมาหักลดหย่อนทางภาษี ดังนี้

– บุคคลธรรมดา สามารถนำเงินที่บริจาคไปหักลดหย่อนในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้เท่าจำนวนที่บริจาค แต่ไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้สุทธิ

– บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สามารถนำเงินหรือทรัพย์สินที่บริจาคไปหักลดหย่อนในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลได้เท่าจำนวนที่บริจาค แต่ไม่เกินร้อยละ 2 ของกำไรสุทธิ

 

1.2 มาตรการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินหรือทรัพย์สินที่ได้รับบริจาค

ผู้ประสบอุทกภัยที่ได้รับบริจาค ให้ได้รับการยกเว้น โดยไม่ต้องนำ 1) จำนวนเงินชดเชยจากรัฐบาล และ 2) จำนวนหรือทรัพย์สินที่ได้รับบริจาคนอกเหนือจากเงินชดเชยจากรัฐบาล มาคำนวณเป็นเงินได้ ทั้งนี้ ต้องไม่เกินกว่ามูลค่าความเสียหายที่ได้รับ

ทั้งนี้มาตรการ 1.1 และ 1.2 ข้างต้น ให้เป็นไปตามพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 527) พ.ศ. 2554

 

1.3 มาตรการยกเว้นภาษีสำหรับค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมอสังหาริมทรัพย์ในพื้นที่ที่ราชการประกาศให้เป็นพื้นที่ที่ประสบภัยจากพายุโซนร้อนปาบึก

กำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้กับบุคคลธรรมดาสำหรับเงินได้เท่าที่จ่ายเป็นค่าซ่อมแซมหรือค่าวัสดุหรืออุปกรณ์ในการซ่อมแซมอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพย์สินที่ประกอบติดตั้งในลักษณะถาวรกับตัวอาคารหรือในที่ดินอันเป็นที่ตั้งของอาคาร หรือการซ่อมแซมห้องชุดในอาคารชุดหรือทรัพย์สินที่ประกอบติดตั้งในลักษณะถาวรกับห้องชุดในอาคารชุด และจ่ายระหว่างวันที่ 3 มกราคม 2562 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2562 ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่รวมกันทั้งหมดแล้วไม่เกิน 1 แสนบาท สำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นจากพายุโซนร้อนปาบึก

 

1.4 มาตรการยกเว้นภาษีสำหรับค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมรถในพื้นที่ที่ราชการประกาศให้เป็นพื้นที่ที่ประสบภัยจากพายุโซนร้อนปาบึก

กำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้กับบุคคลธรรมดาสำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซ่อมแซมหรือค่าวัสดุหรืออุปกรณ์ในการซ่อมแซมรถตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์หรือกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบกหรืออุปกรณ์หรือสิ่งอำนวยความสะดวกในรถ และจ่ายระหว่างวันที่ 3 มกราคม 2562 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2562 ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่รวมกันทั้งหมดแล้วไม่เกิน 3 หมื่นบาท สำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นจากพายุโซนร้อนปาบึก

ทั้งนี้ มาตรการ 1.3 และ 1.4 สามารถดำเนินการได้โดยการออกกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ….) ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร จำนวน 1 ฉบับ

 

2.มาตรการทางด้านการเงินของ SFIs

สถาบันการเงินเฉพาะกิจ หรือ  SFIs จำนวน 7 แห่ง ได้แก่

1) ธนาคารออมสิน

2) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)

3) ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.)

4) ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ธอท.)

5) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.)

6) ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.)

7) บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.)

มีมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากพายุโซนร้อนปาบึก รวมจำนวน 19 มาตรการ สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้

2.1 ธนาคารออมสิน จำนวน 1 มาตรการ ได้แก่ มาตรการพักชำระหนี้ สำหรับบุคคลที่มีที่พักอาศัยหรือสถานประกอบการที่อยู่ในพื้นที่ประสบภัยที่ได้รับผลกระทบทำให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นหรือรายได้ลดลงสามารถพักชำระหนี้ได้ จะได้รับการพักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยเป็นระยะเวลา 3 เดือน

2.2 ธ.ก.ส. จำนวน 2 มาตรการ ได้แก่

2.2.1 มาตรการขยายระยะเวลาชำระหนี้ กรณีที่เกษตรกรได้รับความเสียหายด้านการผลิตและส่งผลกระทบต่อรายได้ ธ.ก.ส. จะพิจารณาขยายระยะเวลาชำระหนี้ออกไปเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนตามความหนักเบาของผู้ประสบภัยทุกราย

2.2.2 มาตรการสินเชื่อ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายฉุกเฉินและฟื้นฟูการประกอบอาชีพ

2.3 ธอส. จำวนวน 6 มาตรการ ได้แก่

2.3.1 มาตรการลดอัตราดอกเบี้ย สำหรับลูกหนี้ที่หลักประกันได้รับความเสียหาย จะสามารถขอลดอัตราดอกเบี้ยได้ โดยมีอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0 ต่อปี เป็นระยะเวลา 4 เดือน

2.3.2 มาตรการให้สินเชื่อ สำหรับลูกค้าใหม่หรือลูกหนี้ของ ธอส. ที่หลักประกันได้รับความเสียหาย สามารถขอกู้เพิ่มเติมหรือกู้ใหม่เพื่อซ่อมแซม หรือทดแทนอาคารเดิมได้ โดยมีวงเงินกู้ไม่เกิน              1 ล้านบาทต่อราย อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3 ต่อปี เป็นระยะเวลา 3 ปี

2.3.3 มาตรการประนอมหนี้ สำหรับลูกหนี้ที่หลักประกันได้รับความเสียหาย และกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ จะสามารถขอประนอมหนี้ได้ โดยมีระยะเวลาประนอมหนี้ไม่เกิน 1 ปี               4 เดือน โดย 4 เดือนแรกอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0 ต่อปี และเดือนที่ 5 – 16 อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1 ต่อปี

2.3.4 มาตรการประนอมหนี้ สำหรับลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบด้านรายได้ สามารถขอประนอมหนี้ได้ โดยมีระยะเวลาประนอมหนี้ไม่เกิน 1 ปี อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1 ต่อปี

2.3.5 มาตรการช่วยเหลือกรณีลูกหนี้เสียชีวิต หรือทุพพลภาพถาวร จะคิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.01 ต่อปี ตลอดอายุสัญญา

2.3.6. มาตรการช่วยเหลือกรณีที่อยู่อาศัยของลูกหนี้ได้รับความเสียหายทั้งหลัง ให้ปลอดหนี้ในส่วนของอาคาร และให้ผ่อนชำระต่อในส่วนของที่ดินที่คงเหลือเท่านั้น

2.4 ธพว. จำนวน 2 มาตรการ ได้แก่

2.4.1 มาตรการพักชำระหนี้ พักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยสำหรับเงินกู้ยืมแบบมีระยะเวลา (Term Loan) เป็นระยะเวลา 6 เดือน และพักชำระหนี้ดอกเบี้ยสำหรับสัญญาเบิกเงินทุนหมุนเวียนประเภทตั๋วสัญญาใช้เงิน (Promissory Note : P/N) ได้เป็นระยะเวลา 6 เดือน

2.4.2 มาตรการวงเงินสินเชื่อฉุกเฉินเพื่อฟื้นฟูกิจการ เพื่อให้ลูกค้าที่ได้รับความเสียหายมีเงินทุนไปฟื้นฟูและหมุนเวียนในกิจการ วงเงินกู้ไม่เกิน 2 ล้านบาท ระยะเวลากู้สูงสุดไม่เกิน 5 ปี โดยปลอดชำระคืนเงินต้น (Grace Period) ไม่เกิน 1 ปีแรก และคิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.415 ต่อเดือน ตลอดอายุสัญญา ทั้งนี้ลูกหนี้สามารถให้ บสย. ค้ำประกันสินเชื่อได้

2.5 ธอท. จำนวน 3 มาตรการ ได้แก่

2.5.1 มาตรการพักชำระหนี้ สำหรับบุคคลที่มีที่พักอาศัยหรือสถานประกอบการที่อยู่ในพื้นที่ประสบภัย โดยพักชำระหนี้เงินต้นและกำไรเป็นระยะเวลา 3 เดือน และพักชำระหนี้เงินต้นสูงสุด 36 เดือน

2.5.2 มาตรการให้วงเงินสินเชื่อเพิ่มเติม สำหรับบุคคลที่มีที่พักอาศัยหรือสถานประกอบการที่อยู่ในพื้นที่ประสบภัย โดยมีวงเงินเพิ่มเติมเพื่อช่วยเหลือตามความจำเป็น อัตรากำไรร้อยละ SPRR – 3.5 ต่อปี หรือ SPRL – 2.75 ต่อปี ระยะเวลา 5 ปี และยกเว้นค่าการประเมินราคาหลักประกันและจดจำนอง

2.5.3 โครงการสินเชื่อฉุกเฉินเพื่อพี่น้องมุสลิมเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบวาตภัยพายุปาบึก สำหรับบุคคลที่มีที่พักอาศัยอยู่ในพื้นที่ประสบภัย วงเงินไม่เกิน 50,000 บาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ SPRR – 3.5 ต่อปี ไม่มีค่าธรรมเนียม และไม่ต้องมีหลักประกัน

2.6 ธสน. จำนวน 3 มาตรการ ได้แก่

2.6.1 มาตรการพักชำระหนี้ สำหรับผู้ประกอบการที่อยู่ในพื้นที่ประสบภัย โดยพักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ย เป็นระยะเวลา 6 เดือน

2.6.2 มาตรการลดอัตราดอกเบี้ย สำหรับผู้ประกอบการที่อยู่ในพื้นที่ประสบภัย โดยลดอัตราดอกเบี้ยลงร้อยละ 1 ต่อปี เป็นระยะเวลา 6 – 12 เดือน ซึ่งธนาคารจะพิจารณาตามความรุนแรงหรือผลกระทบที่ลูกค้าได้รับเพื่อเป็นการช่วยเหลือ

2.6.3 มาตรการเงินกู้เพื่อซื้อ/ซ่อมแซมเครื่องจักร/อาคารโรงงานที่ได้รับความเสียหาย โดยผู้ประกอบการที่อยู่ในพื้นที่ประสบภัย โดยให้เงินกู้ระยะเวลา 5 ปี ปลอดชำระเงินต้นไม่เกิน 1 ปี อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 5 ต่อปี ในปีแรก

2.7 บสย. จำนวน 2 มาตรการ ได้แก่

2.7.1 มาตรการขยายระยะเวลาชำระค่าธรรมเนียมค้ำประกัน สำหรับลูกค้าปัจจุบันที่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมต่ออายุค้ำประกันสินเชื่อ สามารถขอขยายระยะเวลาการชำระค่าธรรมเนียมค้ำประกันออกไปได้เป็นระยะเวลา 6 เดือน

2.7.2 โครงการค้ำประกันสินเชื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Small and Medium Enterprises : SMEs) ที่ประสบภัยพิบัติภาคใต้ เพื่อเป็นการช่วยเหลือให้ผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบ สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ โดยร่วมกับธนาคารพันธมิตรที่ร่วมโครงการกับ บสย. โดยวงเงินค้ำประกันสูงสุดไม่เกินรายละ 5 ล้านบาท และค่าธรรมเนียมการค้ำประกันร้อยละ 0 เป็นระยะเวลาสูงสุด 2 ปี

 

สามารถคลิกอ่านสรุปการประชุม ครม.ได้ที่ http://www.thaigov.go.th/news/contents/details/17999

ที่มา http://www.thaigov.go.th/

Copyright ©2024  dharmniti.co.th All rights reserved.

Log in with your credentials

Forgot your details?