18 มิถุนายน 2562
Free Float หรือการกระจายการถือหุ้นโดยผู้ถือหุ้นรายย่อย มีความสำคัญกับบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ อย่างไร มาทำความรู้จักกันครับ
การกระจายการถือหุ้นโดยผู้ถือหุ้นรายย่อย หรือ Free Float เป็นหนึ่งในคุณสมบัติของการเข้าจดทะเบียนและดำรงสถานะในการเป็นบริษัทจดทะเบียนที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้กำหนดไว้ จึงเป็นสิ่งที่ผู้ลงทุนหรือผู้ถือหุ้นใช้ในการตัดสินใจลงทุนได้อีกทางหนึ่ง
ความหมายของ Free Float
ผู้ถือหุ้นรายย่อย (Free Float) หมายถึงผู้ถือหุ้นที่มิได้เป็นผู้ที่มีส่วนร่วมในการบริหารงาน (Strategic Shareholders)
สำคัญอย่างไร
การกระจายการถือหุ้นโดยผู้ถือหุ้นรายย่อย หรือ Free Float เป็นส่วนสำคัญของการมีสภาพคล่องในการซื้อขายหุ้นของบริษัท ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ถือหุ้นของบริษัทและผู้ลงทุนที่จะซื้อขายหุ้นได้อย่างคล่องตัวและได้ราคาที่เหมาะสม ทำให้เกิดความน่าสนใจลงทุนในหุ้นของบริษัท อันจะส่งผลให้บริษัทสามารถระดมทุนผ่านตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้โดยสะดวก ตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงกำหนดให้ Free Float เป็นคุณสมบัติประการหนึ่งในการเข้าจดทะเบียนและดำรงสถานะในการเป็นบริษัทจดทะเบียน
เกณฑ์สำคัญ
บริษัทจดทะเบียนต้องมีจำนวนผู้ถือหุ้นรายย่อยไม่น้อยกว่า 150 ราย และถือหุ้นรวมกันไม่น้อยกว่าร้อยละ 15 ของทุนชำระแล้ว โดยตลาดหลักทรัพย์พิจารณาจากรายงาน Free Float ซึ่งบริษัทจัดทำขึ้นจากรายชื่อผู้ถือหุ้นที่ปรากฏ ณ วันกำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นหรือวันปิดสมุดทะเบียนพักการโอนหุ้นเพื่อสิทธิในการเข้าร่วมประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปีของบริษัทจดทะเบียน
ขอบเขตของ Strategic Shareholders
ผู้มีส่วนร่วมในการบริหารงาน (Strategic Shareholders) ได้แก่
1.กรรมการ ผู้จัดการ หรือผู้ดำรงตำแหน่งระดับบริหาร 4 รายแรกนับต่อจากผู้จัดการลงมาผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งเทียบเท่ากับผู้ดำรงตำแหน่งระดับบริหารรายที่ 4 ทุกราย โดยให้นับรวมหุ้นที่ถือโดยผู้เกี่ยวข้องและบุคคลที่มีความสัมพันธ์กับบุคคลดังกล่าว
2.ผู้ถือหุ้นที่ถือหุ้นเกินกว่าร้อยละ 5 ของทุนชำระแล้ว โดยนับรวมการถือหุ้นของผู้ที่เกี่ยวข้องด้วย ยกเว้น บริษัทหลักทรัพย์ บริษัทประกันชีวิต บริษัทประกันภัย กองทุนรวม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนประกันสังคม กองทุนบำเหน็จบำนาญ หรือโครงการลงทุนที่ได้รับอนุมัติตามกฎหมาย (แต่ถ้ามีการส่งตัวแทนเข้ามาบริหารงานในบริษัทจดทะเบียนจะไม่สามารถนับเป็น Free Float ได้
3.ผู้มีอำนาจควบคุม หมายถึง ผู้ที่มีพฤติการณ์มีอิทธิพลต่อการกำหนดนโยบาย การจัดการ หรือการดำเนินงานของบริษัทอย่างมีนัยสำคัญ ไม่ว่าอิทธิพลดังกล่าวจะสืบเนื่องจากการเป็นผู้ถือหุ้น หรือได้รับมอบอำนาจตามสัญญา หรือการอื่นใดก็ตาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือบุคคลที่เข้าลักษณะข้อใดข้อหนึ่งดังนี้
- บุคคลที่มีสิทธิออกเสียงไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมเกินกว่าร้อยละ 25 ของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงทั้งหมดของบริษัท
- บุคคลที่ตามพฤติการณ์สามารถควบคุมการแต่งตั้งหรือถอดถอนกรรมการของบริษัทนั้นได้
- บุคคลที่ตามพฤติการณ์สามารถควบคุมผู้ซึ่งรับผิดชอบในการกำหนดนโยบาย การจัดการหรือการดำเนินงานของบริษัทให้ปฏิบัติตามคำสั่งของตนในการกำหนดนโยบาย การจัดการหรือการดำเนินงานของบริษัท
- บุคคลที่ตามพฤติการณ์มีการดำเนินงานในบริษัทหรือมีความรับผิดชอบในการดำเนินงานของบริษัทเยี่ยงกรรมการหรือผู้บริหาร รวมทั้งบุคคลที่มีตำแหน่งซึ่งมีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับบุคคลดังกล่าวของบริษัทนั้น
4.บุคคลที่มีความสัมพันธ์ หมายถึงบุคคลที่มีความสัมพันธ์ทางสายโลหิต หรือโดยการจดทะเบียนตามกฏหมาย ได้แก่ 1.คู่สมรส 2.บิดา มารดา 3.พี่น้อง 4. บุตรและคู่สมรสของบุตร
5.ผู้ที่เกี่ยวข้องหมายถึง บุคคลหรือห้างหุ้นส่วน ตามมาตรา 258 (1)-(7) ของ พรบ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ฉบับเดิม ได้แก่
1.คู่สมรส
2.บุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ
3.ห้างหุ้นส่วนสามัญที่บุคคลดังกล่าว รวมถึง (1) หรือ (2) เป็นหุ้นส่วน
4.ห้างหุ้นส่วนจำกัดที่บุคคลดังกล่าว รวมถึง (1) หรือ (2) เป็นหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิด หรือจำกัดความรับผิดรวมกันเกินกว่า 30%
5.บริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนจำกัดที่บุคคลดังกล่าว รวมถึง (1) หรือ (2) หรือ (3) หรือ (4) ถือหุ้นรวมกันเกินกว่า 30%
6.บริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนที่บุคคลดังกล่าว รวมถึง รวมถึง (1) หรือ (2) หรือ (3) หรือ (4) หรือ (5) ถือหุ้นรวมกันเกินกว่า 30%
7.นิติบุคคลตามมาตรา 246 และ 247 (ตามพรบ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์) ที่มีอำนาจจัดการในฐานะเป็นผู้แทนของนิติบุคคล
การนำส่งรายงาน Free Float
- จัดทำรายงาน Free Float ในระบบ SET Portal โดยใช้รายชื่อผู้ถือหุ้น ณ วันกำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้น (Record Date : RD) / วันปิดสมุดทะเบียนพักการโอนหุ้นเพื่อสิทธิเข้าร่วมประชุมผู้ถือหุ้น (Book Closing Date)
- นำส่งรายงานที่ลงนามโดยผู้มีอำนาจลงนามภายใน 14 วันนับจากวันสุดท้ายที่กฏหมายกำหนดให้ประชุมสามัญผู้ถือหุ้น เช่น กรณีมีรอบบัญชีวันที่ 31 ธันวาคม กำหนดส่งภายในวันที่ 14 พฤษภาคม
เมื่อบริษัทจดทะเบียนที่มี Free Float ไม่ครบถ้วน
ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้กำหนดแนวทางดำเนินการกับบริษัทจดทะเบียนที่มี Free Float ไม่ครบถ้วน โดยนำมาตรการคิดค่าธรรมเนียมรายปีส่วนเพิ่มมาใช้เมื่อบริษัทจดทะเบียนมี Free Float ไม่ครบถ้วนเป็นปีที่ 2 ขึ้นไปจนกว่าบริษัทจดทะเบียนจะแก้ไขเหตุดังกล่าวได้ โดยอัตราการคิดค่าธรรมเนียมส่วนเพิ่มนั้นจะขึ้นอยู่กับระยะเวลาและจำนวนการกระจายผู้ถือหุ้นรายย่อยที่บริษัทจดทะเบียนยังไม่สามารถปฏิบัติได้ตามเกณฑ์
ที่มาข้อมูล : ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
เรื่อง : กองบรรณาธิการ www.dharmniti.co.th