17 มิถุนายน 2562
QR ที่เราใช้งานกันอยู่ทุกวันนี้ มีระบบการทำงานอย่างไร ทำไมถึงมีสี่เหลี่ยมอยู่แค่ 3 มุม แล้วการสแกนแต่ละครั้งปลอดภัยหรือไม่ ?
ในยุคนี้น้อยคนนักที่จะไม่รู้จัก QR CODE ที่เพียงแค่สแกนก็สามารถทำกิจกรรมได้หลายอย่าง ไม่ว่าจะ ชำระเงิน เล่นเกม หรือนำทางไปยัง URL ที่ระบบได้วางไว้ เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมาเราได้ รู้จัก QR Code และถูกนำเข้ามาใช้งานกับแทบทุกอุตสาหกรรม จนเราเคยชินไปได้โดยไม่รู้ตัว แต่ก็ยังคงมีคำถามที่หลายคนสงสัยว่า QR ต่างจาก Bar code อย่างไร และเราจะสร้าง QR ของตัวเองได้อย่างไร
QR Code มีชื่อแบบเต็มๆ ว่า Quick Response เป็นบาร์โค้ดในรูปแบบ 2 มิติ ที่ไม่ได้มาเป็นแถบเส้นๆ แบบที่เราคุ้นเคยกัน โดยถูกนำมาใช้งานเพื่อเป็นสัญลักษณ์แทนข้อมูลต่างๆ โดยเน้นจุดเด่นตามชื่อคือ Response หรือการตอบสนองที่รวดเร็ว โดยถูกนำมาใช้งานกับสินค้า สื่อโฆษณา URL เว็บไซต์ และการชำระเงินที่เราคุ้นเคยกัน
เนื่องจากมีการใช้งานที่ง่าย เพียงใช้สมาร์ทโฟนส่องไปยังสัญลักษณ์สี่เหลี่ยมที่ถูกสร้างขึ้น ก็สามารถเข้าถึงข้อมูลนั้นๆ ได้อย่างรวดเร็ว
QR Code ต่างจาก Bar code อย่างไร?
เริ่มจากสิ่งที่ทุกคนต้องรู้จักและอยู่มานานอย่าง Bar code แบบธรรมดาตามหลักการเรียกว่า Bar Code 1 มิติ ที่มาในรูปแบบของสัญลักษณ์แบบแท่ง มีความหนาบางต่างกันในรูปแบบแนวตั้ง มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้บรรจุข้อมูลที่ต่างกันไม่เกิน 20 ตัวอักษร เป็นการเรียกข้อมูลจากฐานข้อมูลอีกต่อหนึ่ง เหมือนข้อมูลสินค้านั่นเอง
ส่วน QR Code จัดอยู่ในหมวด Bar code 2 มิติ เป็นการพัฒนามาจาก bar code 1 มิติ คือเพิ่มแนวนอน เข้ามาทำให้บรรจุข้อมูลเพิ่มขึ้นได้มากถึง 200 เท่า หรือประมาณ 4,000 ตัวอักษร ซึ่งนอกจากรูปแบบของ QR แล้ว Barcode 2 มิติ ยังมีรูปแบบอื่นๆ อีกด้วย อาทิ PD417, Maxi Code, Data Matrix ที่เราอาจจะเคยได้เห็นแต่ไม่ได้ใช้งานบ่อยและคุ้นเคยเหมือนกับเจ้า QR ครับ
QR CODE ทำงานอย่างไร
รหัสคิวอาร์ประกอบด้วยโมดูลสีดำ (จุดสี่เหลี่ยม) จัดวางบนพื้นหลังสีขาว สามารถอ่านได้ด้วยเครื่องมืออ่านภาพ เช่น กล้องถ่ายรูป เครื่องสแกนและประมวลผลด้วยกระบวนการแก้ไขข้อผิดพลาด จนกระทั่งภาพถูกแปลความหมายอย่างเหมาะสม และถอดออกมาจากรหัสที่นำเสนอเป็นภาพในแนวตั้งและแนวนอนจนได้ข้อมูลที่ต้องการ รูปแบบการอ่านค่าค้นหาของ QR Code ส่วนสำคัญอยู่ที่มุมทั้งสามของสัญลักษณ์คือ มุมซ้ายบน มุมซ้ายล่าง และมุมขวาบน เพื่อให้รู้ว่าต้องตั้งหัวด้านไหน โปรแกรมจะได้รู้ว่าต้องเริ่มอ่านข้อมูลที่จุดไหนเป็นจุดแรก
QR Code มีหลักการทำงานคล้าย ๆ กับ Barcode ที่อยู่บนกล่องหรือผลิตภัณฑ์ทั่วไป แต่การอ่าน Barcode จะต้องใช้เครื่องสแกนยิงเลเซอร์ จากนั้นเครื่องสแกนก็จะแปลง Barcode เป็นข้อมูลสินค้าชิ้นนั้นๆ ซึ่ง QR Code นั้นสะดวกกว่า เพราะว่าใช้แค่เพียงโทรศัพท์มือถือทำการ QR Code จากนั้นโปรแกรมจะประมวลผล QR Code เป็นข้อมูลต้นฉบับ เช่น ชื่อเว็บไซต์ เบอร์โทรศัพท์ หรือข้อความ แล้วแสดงผลบนโทรศัพท์มือถือได้โดยตรงทันที
จะใช้งานกับธุรกิจได้อย่างไรบ้าง
จุดประสงค์หลักของบาร์โค้ดคือให้ผู้อ่านสามารถสแกน ดูข้อมูลต่างๆ ที่ถูกสร้างไว้ในบาร์โค้ดเป็นสัญลักษณ์แทนข้อมูลขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็น
- เว็บไซต์ URL เช่น https://www.dharmniti.co.th
- ข้อความ ตัวอักษร ตัวเลขต่างๆ
- แทนนามบัตร
- ชื่อเครือข่าย WIFI และรหัสเข้าใช้งาน
- แผนที่ตั้งปัจจุบัน
- Link ไปยัง ส่วนของข้อมูลต่างๆ ที่ต้องการ เช่น Fan page, Line ID เป็นต้น
ซึ่งการย่อข้อมูลต่างๆ ให้อยู่ในรูปเดียวแล้วเพียงทำการสแกนนั้น ก็พบช่วยอำนวยความสะดวกให้กับการตลาดอย่างการทำแคมเปญ การประชาสัมพันธ์ เพราะเพียงแค่แปะรูปภาพสี่เหลี่ยมเข้าไป ก็ส่งต่อรายละเอียดข้อมูลให้ได้แบบครบถ้วน
ข้อดีของการใช้งาน QR Code
- ใช้งานง่าย ประยุกต์ใช้ได้หลากหลาย
- เพิ่มสีสันบนบาร์โค้ด หรือแทรกรูปต่างๆ เสริมได้
- มีช่องทางการสร้างบาร์โค้ดที่หลากหลายและใช้งานได้ฟรี
ข้อเสียของการใช้งาน QR Code
- มีช่องโหว่ในการใช้งาน เพราะสามารถเผยแพร่ออกไปได้เพียงแค่ถ่ายรูป QR Code ไว้
- ตรวจสอบยากว่าปลอดภัยหรือไม่ เพราะต้องสแกนเปิดก่อนถึงจะเข้าถึงข้อมูลได้
- แฮ็กเกอร์อาศัยช่องโหว่ ดักจับข้อมูล บนโทรศัพท์มือถือของเราได้
เรื่องโดย : กองบรรณาธิการ www.dharmniti.co.th