05 มิถุนายน 2562
ส่งออกสินค้า เป็นอีกช่องทางที่ช่วยผู้ประกอบการ มีรายได้เพิ่มขึ้น และช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศได้ด้วย แม้ว่าขั้นตอนอาจซับซ้อน แต่ก็ไม่ยากเกินไปครับ
ส่งออกสินค้า เป็นอีกช่องทางที่ช่วยผู้ประกอบการ SME ให้มีรายได้เพิ่มขึ้น และช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศได้ด้วย แม้ว่าเราจะเห็นตัวอย่างความสำเร็จในการส่งออกมากมาย แต่เชื่อว่ายังมีหลายคนที่ยังไม่มีโอกาสส่งออกสินค้าของตัวเองไปยังต่างประเทศ เพราะว่ายังไม่รู้ช่องทาง และกังวลไปถึงขั้นตอนซับซ้อนที่จะตามมา
ซึ่งในยุคนี้การส่งออกสินค้า ไม่ยากอย่างที่คิด เรามาดูกันครับว่าถ้า SME ต้องการส่งออกสินค้าต้องทำอย่างไรบ้าง
ขั้นตอนที่ 1 รู้จักสินค้า และมองหากลุ่มเป้าหมาย
ก่อนส่งออกเราต้องทำการตรวจสอบว่า ชนิดของสินค้านี้เป็นสินค้าควบคุมหรือไม่ มีหน่วยงานใดเป็นผู้รับผิดชอบ และมีกฎหมายหรือระเบียบใดที่ควบคุมสินค้านี้อยู่ ซึ่งสามารถตรวจสอบข้อมูลเหล่านี้ได้ที่กระทรวงพาณิชย์ และนำข้อมูลที่ได้ไปทำการจดทะเบียน 3 แบบดังนี้
- ผู้ประกอบการ ต้องทำการจดทะเบียนพาณิชย์เป็นนิติบุคคล ที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เพื่อสร้างควาน่าเชื่อถือ
- จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มที่กรมสรรพากร กระทรวงการคลัง
- จดทะเบียนตามระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการค้า ตามชนิดของสินค้าที่จำหน่าย เช่น ผลไม้สด หรือแช่แข็ง ต้องไปจดทะเบียนสวนผลไม้เพื่อการส่งออกที่กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, เครื่องสําอางที่ทํามาจากสมุนไพร ต้องมีใบอนุญาตผลิต จากสํานักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข
และถ้าหากสินค้าของคุณมีกลุ่มเป้าหมายเฉพาะอยู่แล้ว เราอาจจะข้ามขั้นตอนนี้ไปได้เลย การมองหากลุ่มเป้าหมายให้ตรงกับสินค้านั้นทำได้หลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาพฤติกรรมของผู้บริโภค ว่าคนทวีปหรือประเทศไหนมีความต้องการอะไร จากการที่มาซื้อแล้วนำกลับไป หรือมีการค้นหาสินค้าเหล่านี้จำนวนมากในออนไลน์ อีกวิธีคือการสอบถามจากคนใกล้ตัวที่มีประสบการณ์ หรือปรึกษาผู้เชี่ยวชาญอย่างกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ
ขั้นตอนที่ 2 หาช่องทางในการจำหน่ายสินค้า
การหาพื้นที่ขายสินค้าไปยังต่างประเทศในปัจจุบันมีวิธีที่ได้รับความนิยม 2 แบบด้วยกัน
- การออกงานแสดงสินค้าตามประเทศที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย วิธีนี้ทำให้เราเข้าถึงลูกค้าได้โดยตรง แต่ก็มีค่าใช้จ่ายจำนวนมาก รวมถึงมีความเสี่ยง เพราะการไปแสดงสินค้าไม่ได้การันตีว่าเราจะขายของได้
- การขายผ่านช่องทางออนไลน์ กำลังได้รับความนิยมในขณะนี้ เพราะสามารถเข้าถึงลูกค้าได้โดนลงทุนไม่มาก และมีหลายช่องทาง อย่าง เว็บไซต์ของเราเอง หรือ แพลตฟอร์ม e-commerce เช่น ebay, Alibaba, Amazon เป็นต้น และหากต้องการเข้าถึงลูกค้ามากขึ้นเราก็สามารถทำการโฆษณาผ่านช่องทางเหล่านี้ได้ด้วย
ซึ่งหลังจากเราได้รับคำสั่งซื้อแล้ว ก็จะเข้าสู่ขั้นตอนการส่งออกสินค้าครับ
ขั้นตอนที่ 3 พิธีการศุลกากร
พิธีศุลกากร หรือขั้นตอนในการนำสินค้าเข้าหรือออกนอกประเทศ ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ อาจจะดำเนินการด้วยตัวเอง หรือใช้บริการ Shipping Agent เพื่อทำหน้าที่ส่งสินค้าไปต่างประเทศก็ได้ โดยขั้นตอนการปฏิบัติพิธีการศุลกากรมีดังนี้
ตรวจสอบสิทธิพิเศษ เนื่องจากสินค้าบางชนิดอาจมีข้อยกเว้นด้านภาษี หรือมีสิทธิพิเศษเมื่อส่งออก หากผู้ประกอบการยังไม่ทราบรายละเอียดก็สามารถตรวจสอบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรได้ที่กรมศุลกากร และใช้เอกสารต่างๆ ดังนี้
- ขอใบรับรองทางด้านความปลอดภัยและมาตรฐานสินค้า (ตามชนิดของสินค้า)
- ขอใบรับรองแหล่งกำเนิดสินค้าจากกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เพื่อให้ผู้นำเข้าได้รับการลดหย่อนภาษี
- บริษัทขนส่ง (เรือบรรทุก หรือเครื่องบิน) พร้อมทำเรื่องการประกันภัยสินค้า
- วางแผนจัดการส่งออกตามเงื่อนไขที่ผู้ซื้อระบุไว้ในหนังสือสั่งซื้อสินค้าที่
- จัดทำเอกสารเพื่อผ่านพิธีการศุลกากร ซึ่งจะต้องมีเอกสาร เพิ่มเติม ได้แก่ ใบขนสินค้าขาออก, บัญชีราคาสินค้า, บัญชีรายละเอียดการบรรจุหีบห่อ (Packing List), คำร้องขอให้ในการตรวจสินค้าและบรรจุเข้าตู้คอนเทนเนอร์
เพียงเท่านี้ขั้นตอนการส่งออกสินค้าก็เสร็จเรียบร้อยแล้วครับ แม้ว่าจะมีขั้นตอนที่ยุ่งยากซับซ้อน แต่เอกสารบางชนิดก็สามารถเก็บไว้ใช้ได้ในระยะยาว ไม่ต้องทำใหม่ในทุกๆ ครั้ง และมีผู้ให้บริการส่งออกสินค้าจำนวนมากที่อำนวจความสะดวกให้ผู้ประกอบการได้โดยไม่ต้องทำเองด้วย
ทั้งนี้นอกจากหน่วยงานที่กล่าวถึงไปแล้วเบื้องต้นยังมีหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกที่ต้องรู้จัก ดังนี้
กรมการค้าต่างประเทศ ออกใบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (Certificate of Origin: C/O) | กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ออกใบรับรองการจดทะเบียนธุรกิจ , การขอจดทะเบียนธุรกิจ |
กรมปศุสัตว์ ใบรับรองด้านสุขอนามัยสินค้าปศุสัตว์ | กรมการค้าภายใน |
สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา | สำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ใบรับรองอาหารฮาลาล |
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับข้อมูลการเจรจาการค้า และสิทธิประโยชน์ทางการค้า | กรมทรัพย์สินทางปัญญา ให้คำปรึกษาแนะนำด้านทรัพย์สินทางปัญญา |
กรมศุลกากร ให้บริการแนะนำด้าน พิกัดศุลกากร อัตราศุลกากร พิธีการศุลกากร | หอการค้าไทย ใบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าและการรับรองเอกสารทั่วไปทางการค้า |
สมาคมตัวแทนขนส่งสินค้าทางอากาศไทย | สมาคมผู้รับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ |