รู้ทันภัยไซเบอร์ ก่อนตกเป็นเหยื่อออนไลน์

ภัยไซเบอร์

10 พฤษภาคม 2562

ภัยไซเบอร์เรื่องใกล้ตัวในสังคมยุคดิจิทัล ก่อนเสียท่าตกเป็นเหยื่อออนไลน์ ต้องรู้เท่าทันและป้องกันไว้ครับ

การทำธุรกิจในปัจจุบันเข้าสู่ดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ ระบบการทำงานแทบทั้งหมดถูกย้ายไปอยู่บนโลกออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นการช่องทางการสื่อสาร การค้าขาย รวมถึงระบบทางด้านการเงิน ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ล้วนแล้วแต่สุ่มเสี่ยงต่อภัยไซเบอร์และการถูกโจมตีเป็นอย่างยิ่ง

รู้จักภัยไซเบอร์

ภัยไซเบอร์หรือการโจมตีออนไลน์นี้เราอาจคุ้นหูในชื่อว่า “อาชญากรรมไซเบอร์” ซึ่งแบ่งเป็นได้ 4 ลักษณะ ได้แก่

1. การเจาะระบบรักษาความปลอดภัยทางกายภาพ ได้แก่ ตัวอาคาร อุปกรณ์และสื่อต่าง ๆ (Physical Security)

2. การเจาะเข้าไปในระบบสื่อสารและการรักษาความปลอดภัยของซอฟต์แวร์ข้อมูลต่าง ๆ (Communication Security)

3.การเจาะเข้าสู่ระบบรักษาความปลอดภัยของระบบปฏิบัติการ (Operating System)

4. เป็นการเจาะผ่านระบบรักษาความปลอดภัยส่วน บุคคล โดยใช้อินเตอร์เน็ตเป็นช่องทางในการ กระทำความผิด (Confidential & Privacy Policy)

แม้ว่าทั้ง 4 ลักษณะดังกล่าวอาจจะดูเหมือนเรื่องที่ไกลตัว แต่เอาเข้าจริงแล้วภัยเหล่านี้อยู่ใกล้ตัวเรามากและผลกระทบที่ได้รับนั้นเรียกว่าเจ็บหนักมากเลยทีเดียว เพราะหากเราโดนคุกคามจากภัยไซเบอร์นอกจากจะสูญเสียข้อมูลส่วนตัวแล้ว เป้าหมายสำคัญที่บรรดาแฮคเกอร์ต้องการคือข้อมูลทางด้านการเงิน เช่น ระบบการชำระเงิน หมายเลขบัตรเครดิต เลขที่บัญชี ซึ่งพอได้ข้อมูลเหล่านี้แล้วความเสียหายจะตามมาอีกมายมายแน่นอนครับ

วิธีป้องกัน 5 ภัยไซเบอร์ใกล้ตัว

หากคุณไม่อยากเป็นหนึ่งในคนที่ตกเป็นเหยื่อของภัยไซเบอร์แล้วล่ะก็ ลองมาดู 5 ภัยไซเบอร์ใกล้ตัวและวิธีป้องกันกันดังนี้ครับ

1.Malware

โปรแกรมที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อล้วงข้อมูลสำคัญไปจากผู้ใช้งานคอมพิวเตอร์ โดยมัลแวร์มีอยู่หลายประเภทโดยที่เรารู้จักกันดีก็คือ ไวรัส, โทรจัน, สปายแวร์ ที่อาศัยช่องโหว่ของโปรแกรมเบราเซอร์ ซึ่งอันตรายของมัลแวร์นั้นมีอยู่หลายอย่างด้วยกัน อาทิ การสร้างความรำคาญ การพยายามทำลายเครื่องคอมพิวเตอร์ การกระจายมัลแวร์สู่ผู้ใช้งานรายอื่นผ่านทางอีเมล แอบส่งข้อมูลต่างๆ ผ่านทางอีเมล เป็นต้น

วิธีการป้องกัน Malware

  • อัพเดทคอมพิวเตอร์และซอฟแวร์ในเครื่องสม่ำเสมอ
  • ติดตั้งโปรแกรมป้องกันมัลแวร์ (Anti-malware) บนคอมพิวเตอร์
  • ระมัดระวังการใช้งานอุปกรณ์เชื่อมต่อ
  • ไม่คลิกข้อความที่แสดงโฆษณาหรือหน้าต่าง pop-up ปลอม (Adware)
  • ไม่ดาวน์โหลดโปรแกรมจากแหล่งที่ไม่น่าเชื่อถือ เสี่ยงต่อการมีมัลแวร์แฝงอยู่
  • หลีกเลี่ยงการเปิดอีเมล รวมไปถึงไฟล์แนบที่ต้องสงสัยใดๆที่ส่งมาจากอีเมลล์ที่เราไม่รู้จัก และต้องตรวจสอบทุกครั้งก่อนดาวน์โหลดหรือเปิดไฟล์ขึ้นมา

 

2.การหลอกลวง แบบ Phishing

เทคนิคการหลอกลวงโดยใช้อีเมลหรือหน้าเว็บไซต์ปลอมเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูล เช่น ชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน หรือข้อมูลส่วนบุคคลอื่น ๆ เพื่อนำข้อมูลที่ได้ไปใช้ในการเข้าถึงระบบโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือสร้างความเสียหายในด้านอื่น การหลอกลวงแบบ Phishing มักจะเป็นการปลอมอีเมล หรือปลอมหน้าเว็บไซต์ที่มีข้อความซึ่งทำให้ผู้เสียหายอ่านแล้วหลงเชื่อ เช่น ปลอมอีเมลว่าอีเมลฉบับนั้นถูกส่งออกมาจากธนาคารที่ผู้เสียหายใช้บริการอยู่ หรือมาจากคนรู้จักเพื่อวัตถุประสงค์บางอย่าง

วิธีป้องกันการหลอกลวง แบบ Phishing

  • ไม่เปิดลิงก์ที่แนบมาในอีเมล
  • ระวังอีเมลที่ขอให้กรอกข้อมูลส่วนบุคคล โดยเฉพาะหากเป็นอีเมลที่มาจากสถาบันการเงิน
  • สังเกตให้แน่ใจว่าเว็บไซต์ที่ใช้งานเป็น HTTPS ก่อนให้ข้อมูลส่วนบุคคลที่สำคัญ
  • ติดตั้งโปรแกรม Anti-Virus, Anti-Spam และ Firewall เนื่องจากผลพลอยได้อย่างหนึ่งของการติดตั้ง Firewall คือสามารถทำการยับยั้งไม่ให้โทรจันแอบส่งข้อมูลออกไปจากระบบได้

 

3.สแปมเมล์ (Spam Mail)

อีเมลที่ไม่พึงประสงค์ (Junk Mail) สำหรับผู้ที่ใช้บริการ โดยปริมาณเพิ่มมากขึ้นทุกวันเพราะข้อมูลบนอินเทอร์เน็ตมีเพิ่มขึ้นจากทั่วโลกทุกวินาที Spam Mail ไม่ได้เป็นแค่การก่อกวนในระบบไซเบอร์เท่านั้น แต่ยังสามารถแนบไวรัสเข้ามาในอีเมลได้อีกด้วย ซึ่งเมื่อผู้ใช้เปิดเมล์ออกดูก็มักจะติดไวรัสโดยไม่รู้ตัว

วิธีป้องกัน Spam Mail

  • ใช้ฟรีอีเมล เช่น Hotmail, Yahoo เป็น E-mail ในการ subscribe ข่าวสาร
  • ไม่ทิ้งอีเมลแอดเดรส ไว้ตามเว็บบอร์ดต่าง ๆ
  • ไม่ส่งต่อ หรือเปิดเนื้อหาอีเมล ของบุคคลที่ไม่น่าไว้ใจ
  • แก้ปัญหา Spy Ware โดยการดาวน์โหลดโปรแกรม Ad Aware
  • ตรวจสอบเนื้อหาอีเมลกับต้นทาง เพราะถึงแม้ว่าจะมีที่มาจากคนรู้จัก แต่ก็อาจจะเป็น Spam Mail ได้

 

4.โจรกรรมบัตรเครดิต

เรื่องเงินทองเป็นเรื่องที่ต้องพึงระวังอย่างมาก โดยเฉพาะในยุคแห่ง e-commerce ผู้คนหันมาใช้บัตรเครดิตบบนโลกออนไลน์กันมากขึ้น ทำให้ความเสี่ยงที่จะโดนแฮคนั้นง่ายขึ้นเช่นกัน หากผู้ไม่ประสงค์ดีได้ข้อมูลบัตรเครดิตของเราไปแล้วนั้น ไม่ใช่แค่เพียงยอดเงินที่จะหายไป แต่บัตรเหล่านี้สามารถนำไปทำธุรกรรมอื่นๆ ได้อีกมากมาย

วิธีป้องกันการโจรกรรมบัตรเครดิต

  • ไม่ทำการพิมพ์ข้อมูลบัตรเครดิต แล้วบันทึกเป็นลงเครื่องเด็ดขาด
  • ไม่ใช้งานบัตรเครดิตในร้าน Internet Cafe หรือ คอมพิวเตอร์สาธารณะ
  • ใช้ผ่านเว็บ https เท่านั้น
  • ซื้อของกับเว็บไซต์ที่มีความน่าเชื่อถือ

 

5 .การหลอกลวงผ่านทางอินเทอร์เน็ต

ตัวอย่างที่เราพบเห็นกันบ่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นคนรู้จักทักมายืมเงินผ่านเฟซบุ๊ก หลอกว่าคุณเป็นผู้โชคดีเพื่อล้วงข้อมูลส่วนตัว หรือหลอกเป็นชาวต่างชาติเพื่อขอแต่งงานกับสาวๆ พฤติกรรมเหล่านี้พบเห็นกันได้ในปัจจุบัน โดยภัยประเภทนี้ส่วนใหญ่จะมาจากการแชท โดยบางครั้งเราอาจกำลังสนทนาอยู่กับคนที่ต้องการแสวงหาผลประโยชน์จากเราอยู่ก็ได้ ถ้าเราเผลอให้ข้อมูลส่วนตัว เช่น ชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ หรือนัดเจอคนที่รู้จักกันทางเน็ต เราอาจตกเป็นเหยื่อของคนเหล่านี้ได้

วิธีป้องกันการหลอกลวงผ่านทางอินเทอร์เน็ต

  • ไม่ส่งหลักฐานส่วนตัวของตนเองและคนในครอบครัวให้ผู้อื่น
  • ตั้งค่าการล็อกอินแบบ 2 ขั้นตอนป้องกันบุคคลอื่นเข้าใช้งานบัญชีอีเมล / โซเชียลมีเดีย
  • ไม่ออกไปพบเพื่อนที่รู้จักทางอินเตอร์เน็ต เพื่อป้องกันการลักพาตัว
  • ระลึกอยู่เสมอว่า บุคคลที่เรารู้จักทางเว็บอาจจะเป็นบุคคลที่ไม่พึงประสงค์
  • ระวังตัวทุกครั้งที่มีการลงทะเบียนสมัครสมาชิกกับเว็บต่างๆ

 

ทั้งหมดนี้ดูเป็นเรื่องที่ไม่ไกลตัว และมีตัวอย่างให้เห็นกันจำนวนมากเลยนะครับในปัจจุบัน หากเรายังไม่รู้เท่าทันภัยไซเบอร์เหล่านี้ล่ะก็อาจจะตกเป็นเหยื่อรายต่อไปก็ได้ อย่าลืมใช้อินเทอร์เน็ตอย่างมีสติเพื่อป้องกันตัวเอง และหาวิธีป้องกันภัยหลายๆ แบบเพื่อป้องกันอีกชั้นหนึ่งด้วยนะครับ

 

เรื่อง : กองบรรณาธิการ dharmniti.co.th 

 

Copyright ©2024  dharmniti.co.th All rights reserved.

Log in with your credentials

Forgot your details?