28 มิถุนายน 2562
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแนวทางการพัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีทางการเงิน หรือ Financial Technology : FinTech ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ
กระทรวงการคลังรายงานว่า อุตสาหกรรม FinTech มีความสำคัญต่อการให้บริการทางการเงินและจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมอื่น ๆ ในวงกว้าง ซึ่งประเทศต่าง ๆ ได้มีการส่งเสริมอุตสาหกรรม FinTech อย่างจริงจัง เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย และไต้หวัน เป็นต้น หากประเทศไทยมีนโยบายสนับสนุนอุตสาหกรรม FinTech ที่ชัดเจน รวมทั้งมีการสนับสนุนจากภาครัฐอย่างเพียงพอ จะทำให้เกิดแรงขับเคลื่อนในการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรม FinTech ในวงกว้าง จึงเห็นสมควรให้มีแนวทางการพัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรม FinTech ดังนี้
1. พัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานทางอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศ เพื่อให้ผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการทางการเงินสามารถทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ได้อย่างสะดวกและปลอดภัย โดยกระทรวงการคลังอยู่ระหว่างผลักดันโครงการดังต่อไปนี้
1.1 แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (National e-Payment) ที่ส่งเสริมการบูรณาการระบบการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ทั้งในระบบภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งหนึ่งในโครงการภายใต้แผนดังกล่าว คือ การพัฒนาระบบโอนเงินพร้อมเพย์ (PromptPay) โดยตั้งแต่เริ่มโครงการเมื่อเดือนมกราคม – พฤศจิกายน 2560 มีการโอนเงินผ่านระบบดังกล่าวสูงถึง 390,000 ล้านบาท และในปัจจุบันกระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างการต่อยอดระบบเรียกเก็บเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (Request to Pay) เพื่อให้การชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นไปอย่างสะดวกและปลอดภัยมากขึ้นอีกด้วย
1.2 โครงการพัฒนาระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางอิเล็กทรอนิกส์ (Digital Identification Platform) กระทรวงการคลังร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมในการพัฒนาระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศให้มีประสิทธิภาพปลอดภัย และสะดวกต่อการใช้งาน ทั้งนี้ยังสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ (Ease of Doing Business) อีกด้วย
2. ผลักดันหน่วยงานภาครัฐเป็นผู้ให้และผู้ใช้ผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับ FinTech กระทรวงการคลังควรมีการผลักดันให้หน่วยงานภาครัฐ รวมทั้งสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (Specialized Financial Institutions : SFIs) เข้ามามีส่วนร่วมในการเป็นทั้งผู้ให้และผู้ใช้บริการผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับ FinTech มากขึ้น เช่น การรับจ่ายเงินภาครัฐทางอิเล็กทรอนิกส์ การบูรณาการระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์ การจ่ายสวัสดิการผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ การเพิ่มช่องทางในการให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์ของ SFIs เป็นต้น เพื่อสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรม FinTech อีกทางหนึ่ง
3. จัดตั้งสถาบันนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการเงิน (Institute for Financial Innovation and Technology: InFinIT) โดยมีวัตถุประสงค์
(1) เพื่อส่งเสริมและพัฒนาระบบนิเวศที่เอื้อต่อการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรม FinTech (FinTech Ecosystem) ในประเทศไทย
(2) เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการ FinTech ได้พบปะและเสนอผลิตภัณฑ์หรือบริการทางการเงินของตนแก่ผู้ที่สนใจลงทุนหรือผู้ที่ต้องการนำนวัตกรรมไปใช้
(3) เพื่อผลักดันให้มีการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในการให้บริการทางการเงินในประเทศไทยในทุกภาคส่วน ซึ่งรวมถึงการส่งเสริมการสร้างสรรค์และพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์หรือบริการทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับ FinTech ของ SFIs
(4) เพื่อร่วมมือกับสถาบันการศึกษาเพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจใน FinTech และฝึกฝนทักษะที่จำเป็นให้แก่นักเรียนและนักศึกษา เพื่อให้สามารถปฏิบัติงานในอุตสาหกรรม FinTech หรือเป็นผู้ประกอบการในอนาคต (Talent Pipeline) เพื่อส่งเสริม FinTech Ecosystem ในระยะยาว
(5) เพื่อบูรณาการการพัฒนาและการส่งเสริม FinTech ระหว่างหน่วยงานกำกับดูแล ได้แก่ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธ.ป.ท.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) รวมทั้งหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนานวัตกรรมและธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์