13 มิถุนายน 2562
การขายของออนไลน์ที่อาจจะดูเหมือนว่าไม่ต้องมีหน้าร้านไม่วุ่นวาย แค่โพสต์ขายของดูง่าย สบายๆ แต่รู้หรือไม่ว่านอกจากการโพสต์ภาพสินค้าใหม่ๆ ตอบคำถามลูกค้า เช็กเงิน ส่งของ ฯลฯ ยังมี 5 เรื่องสำคัญที่ต้องรู้ก่อนจะเริ่มธุรกิจขายของออนไลน์ด้วย
และนี่คือ 5 เรื่องต้องรู้ ขายของออนไลน์
1.ต้องจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่องให้ผู้ประกอบพาณิชยกิจต้องจดทะเบียนพาณิชย์ (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2553 ลงวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553 โดยบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลที่มีรูปแบบค้าขายออนไลน์ดังต่อนี้ที่ต้อง จดทะเบียนพาณิชย์ ภายใน 30 วันนับแต่เริ่มประกอบพาณิชยกิจ และต้องกรอกข้อมูลเกี่ยวกับเว็บไซด์ในเอกสารแนบด้วย
1.ซื้อขายสินค้า/บริการ โดยใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ซึ่งครอบคลุมถึง เว็บไซต์ ร้านค้าใน e-Marketplace ร้านค้าในโซเชียลมีเดีย และแอปพลิเคชั่น
2.ให้บริการอินเทอร์เน็ต (Internet Service Provider: ISP)
3.ให้เช่าพื้นที่ของเครื่องคอมพิวเตอร์แม่ข่าย (Web hosting)
4.ให้บริการเป็นตลาดกลางในการซื้อขายสินค้า/บริการ ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต (e-Marketplace) คลิกเพื่อดู รายละเอียดการขอจดทะเบียนพาณิชย์ และดู แบบฟอร์มขอจดทะเบียนพาณิชย์ (แบบ ทพ.) และรายละเอียดเกี่ยวกับเว็บไซต์ (เอกสารแนบ) หากร้านค้าออนไลน์ที่ไม่จดทะเบียนพาณิชย์จะมีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท และปรับวันละไม่เกิน 100 บาทจนกว่าจะปฏิบัติถูกต้องหลังจากจดทะเบียนพาณิชย์แล้วต้องกรอกแบบฟอร์มและยื่นแบบฟอร์มเพื่อขอรับเครื่องหมายรับรองการจดทะเบียนพาณิชย์ เครื่องหมาย DBD Registered ที่เจ้าของร้านค้าสามารถนำมาขึ้นบนหน้าเว็บไซด์ซึ่งจะเป็นการสร้างความน่าเชื่อถือให้กับผู้มาใช้ซื้อสินค้าหรือใช้บริการ สามารถดู รายละเอียดการขอรับเครื่องหมายรับรองจดทะเบียนพาณิชย์ ได้ที่กองพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า โทร 02 547 5959 – 60 โทรสาร 02 547 5973 e-Mail : e-commerce@dbd.go.th หรือสมัครได้ที่ www.trustmarkthai.com
2.ต้องจดทะเบียนการตลาดแบบตรงกับ ส.ค.บ.การขายของผ่านทางเว็บไซต์หากเป็นระบบ e_commerce (ที่มีระบบการหยิบใส่ตะกร้าและรับชำระเงิน) เจ้าของร้านจะต้องจดทะเบียนการตลาดแบบตรงต่อสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคหรือ ส.ค.บ. ให้ถูกต้องก่อนการดำเนินกิจการ มิฉะนั้นจะมีความผิดจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และปรับอีกวันละ 1 หมื่นบาทจนกว่าจะได้รับอนุญาตให้ถูกต้อง ดูรายละเอียด ข้อมูลธุรกิจขายตรงของ ส.ค.บ. การจดทะเบียนใช้เวลา 45 วันหลังยืนเอกสาร และไม่มีค่าใช้จ่ายในการจดทะเบียน
3.ต้องเสียภาษีเงินได้ สำหรับการเสียภาษีเงินได้ของทำธุรกิจออนไลน์แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
1.หากธุรกิจของคุณมีการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ต้องเสีย ภาษีเงินได้นิติบุคคล โดยยื่น ภ.ง.ด.51 กลางปีเพื่อประเมินรายได้ และยื่น ภ.ง.ด.50 ยื่นงบประมาณการทั้งปี พร้อมส่งงบดุล และมีการตรวจสอบบัญชี
2.หากเป็นบุคคลธรรมดาต้องเสีย ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ต้องยื่น ภ.ง.ด.94 ในครึ่งปีแรก และยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 อีกครั้งในครึ่งปีหลัง โดยคิดจากรายได้สุทธิหลังหักค่าใช้จ่ายแล้ว หากรายได้สุทธิไม่เกิน 150,000 บาทก็ไม่ต้องเสียภาษี
4.ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม นอกจากการเสียภาษีเงินได้แล้ว หากการขายของออนไลน์มีรายได้เกิน 1,800,000 บาทต่อปี ต้องมีการเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (แบบ ภ.พ.01) เพื่อคำนวณภาษีที่ต้องเสียจากภาษีขายหักด้วยภาษีซื้อ ดูข้อมูลเพิ่มเติมคลิก
5.ต้องเกาะติดเรื่องกฎหมาย เมื่อการธุรกิจซื้อขายออนไลน์เป็นที่นิยมมากขึ้น จึงมีกฎกติกาต่างๆ ออกมาเพื่อดูแลและคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้มากที่สุด สำหรับสิ่งที่เจ้าของร้านต้องทราบเกี่ยวกับการขายของออนไลน์คือ
1.ต้องแสดงราคาอย่างชัดเจน ครบถ้วนให้ผู้ซื้อทราบ ประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการในราชกิจจานุเบกษา ฉบับที่ 44 พ.ศ. 2560 เรื่อง การแสดงราคาและรายละเอียดเกี่ยวกับการจําหน่ายสินค้าและบริการผ่านระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์หรือออนไลน์ อ่านต่อ โดยอาศัยอํานาจตามความในมาตรา 9 (5) มาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ซึ่งผู้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการจำหน่ายสินค้าหรือบริการผ่านระบบออนไลน์ต้องแสดงรายละเอียดของสินค้าให้ชัดเจน ครบถ้วน เปิดเผย อ่านง่าย
ทั้งนี้การแสดงราคาจำหน่ายสินค้าและบริการต้องแสดงราคาต่อหน่วย โดยจะมีตัวเลขภาษาใดก็ได้ แต่ต้องมีตัวเลขอารบิกอยู่ด้วย ส่วนข้อความอื่นๆ ที่แสดงควบคู่กับการจำหน่ายนั้นจะเขียนภาษาใดก็ได้แต่ต้องมีภาษาไทย และหากมีการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายอื่นๆ นอกเหนือจากราคาสินค้าต้องแสดงให้ชัดเจน ครบถ้วนและเปิดเผยโดยแสดงควบคู่กับราคาจำหน่าย หากทำผิดมีโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 10,000 บาท
2. ฝากร้านใน Social Media ของคนอื่นถือเป็นส่งข้อมูลรบกวนมีความผิดตามกฎหมาย พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับ 2) พ.ศ.2560 อ่านต่อ มาตรา 11 ได้มีการกำหนดว่า การส่งข้อมูลหรืออีเมล์ก่อกวนผู้อื่น โดยไม่เปิดโอกาสให้ปฏิเสธการตอบรับได้โดยง่ายเข้าข่ายถือเป็นสแปม มีโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท
3.ขายผลิตภัณฑ์อาหารเสริมและเครื่องสำอางต้องขอ อย. หากร้านขายของออนไลน์ที่ทำอยู่จำหน่ายสินค้าในกลุ่มอาหารเสริมและเครื่องสำอาง สินค้านั้นต้องขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อ.ย.) ให้ถูกต้องก่อนจำหน่าย เพราะหากขายอาหารที่ไม่มีฉลากหรือมีไม่ครบถ้วนจะมีโทษถูกปรับไม่เกิน 3 หมื่นบาท ส่วนเครื่องสำอางมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
4.ขายสินค้าพรีออเดอร์ต้องเสียภาษีศุลกากร หากรับพรีออเดอร์สินค้าจากต่างประเทศทางเว็บไซต์ หรือโซเชียลมีเดียต่างๆ เพื่อมาขายในประเทศ ผู้ขายต้องชำระภาษีศุลกากรให้ถูกต้อง มิฉะนั้นจะมีความผิดฐานหลีกเลี่ยงภาษีต้องได้รับโทษทางกฎหมาย และถูกปรับเงินเป็นจำนวน 5 เท่าของราคาสินค้าด้วย ข้อมูลเพิ่มเติมไปดูได้ที่ เว็บกรมศุลกากร
หากวางแผนจะทำธุรกิจออนไลน์ อย่าลืมเช็กทั้ง 5 เรื่องสำคัญนี้ เพื่อที่จะได้วางแผนค้าขายได้อย่างสบายใจไร้ปํญหา ต้องโดนจับถูกปรับให้เสียเงินโดยใช่เหตุกันภายหลัง #
เรื่อง : กงอบรรณาธิการ www.dharmniti.co.th