18 เมษายน 2563
5 เรื่องสำคัญที่ต้องทำเพื่อรักษาสิทธิให้คงอยู่ของผู้ประกันตนตามมาตรา 39 มีอะไรบ้าง ต้องติดตามครับ
ผู้ประกันตนตามมาตรา 39 มีแนวทางบางประการที่พระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2558 กำหนดไว้ เพื่อรักษาสิทธิการเป็นผู้ประกันตนให้คงอยู่ตลอดไป มีดังนี้
ประการแรก
กฎหมายประกันสังคมกำหนดการสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 กรณีผู้ประกันตนขาดส่งเงินสมทบไว้ 2 ประการ คือ
(1) ตามมาตรา 41 (4) คือ ขาดส่งเงินสมทบ 3 เดือน ติดต่อกันซึ่งจะทำให้ความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลงในเดือนแรกที่ไม่ส่งเงินสมทบ
(2) ตามมาตรา 41 (5) คือ ส่งเงินสมทบไม่ครบ 9 เดือนภายในระยะเวลา 12 เดือน ซึ่งความเป็นผู้ประกันตนจะสิ้นสุดลงในเดือนที่ส่งเงินสมทบไม่ครบ 9 เดือน
ประการที่สอง
ต้องไม่ลืมนำส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม เพราะการลืมนำส่งเงินสมทบในงวดเดือนใดจะถือว่าผู้ประกันตนขาดส่งเงินสมทบ (ค้างชำระ) ในงวดเดือนนั้นและหากผู้ประกันตนประสงค์จะรักษาสิทธิการเป็นผู้ประกันตน ต้องจ่ายเงินสมทบในงวดที่ขาดส่งหรือค้างชำระและรับผิดในการจ่ายเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 2 ของเงินสมทบที่ค้างชำระ หรือหากไม่ส่งเงินสมทบเลยจะต้องสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ตามมาตรา 41 (4) หรือ (5) แล้วแต่กรณี
ประการที่สาม
ไม่มีกฎหมายหรือระเบียบใดที่กำหนดให้สำนักงานประกันสังคมมีหนังสือเตือนหรือสอบถามเหตุผลความจำเป็นในกรณีที่ผู้ประกันตนขาดส่งเงินสมทบในเดือนใดเดือนหนึ่ง
เรื่องนี้มีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5955/2557 วินิจฉัยไว้ว่า พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 มาตรา 39 วรรคสาม บัญญัติให้เป็นหน้าที่ของผู้ประกันตนนำส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมทุกเดือนภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป และมาตรา 41 (5) บัญญัติให้ความเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 สิ้นสุดลงเมื่อภายในระยะเวลา 12 เดือน ส่งเงินสมทบมาแล้วไม่ครบ 9 เดือน โดยมีผลให้ความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลงในเดือนที่ส่งเงินสมทบไม่ครบ 9 เดือน
บทกฎหมายดังกล่าวไม่ได้บัญญัติให้เป็นหน้าที่ของสำนักงานประกันสังคม ในการแจ้งเตือนให้ผู้ประกันตนที่ไม่ส่งเงินสมทบหรือส่งเงินสมทบไม่ครบถ้วน ให้ส่งเงินสมทบและเงินเพิ่มหรือสอบถามเหตุผลความจำเป็นที่ขาดส่งเงินสมทบจากผู้ประกันตนก่อน ผู้ประกันตนจึงไม่มีสิทธิอ้างว่าไม่ได้รับการแจ้งเตือนการขาดส่งเงินสมทบ หรือไม่มีการสอบถามเหตุผลความจำเป็นที่ขาดส่งเงินสมทบภายใน 12 เดือน ผู้ประกันตนขาดส่งเงินสมทบ 4 งวดเดือนและส่งเงินสมทบ 8 งวดเดือน ความเป็นผู้ประกันตนจึงสิ้นสุดลง ตามมาตรา 41 (5) แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533
ประการที่สี่
กรณีผู้ประกันตนตามมาตรา 39 มี “เหตุแห่งความจำเป็น” ไม่อาจนำส่งเงินสมทบได้ทันภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป ผู้ประกันตนสามารถยื่นคำขอขยายเวลาการส่งเงินสมทบออกไปได้เพื่อไม่ให้ถูกตัดสิทธิการเป็นผู้ประกันตน
เนื่องจากพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2558 มาตรา 84/1 บัญญัติว่า “กำหนดเวลาตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 39 มาตรา 45 มาตรา 47 และมาตรา 47 ทวิ ถ้าผู้มีหน้าที่ปฏิบัติตามกำหนดเวลานั้นมีเหตุจำเป็นอันมิอาจก้าวล่วงได้ และได้ยื่นคำร้องเพื่อขอขยายหรือเลื่อนกำหนดเวลาโดยแสดงเหตุแห่งความจำเป็นนั้น ถ้าเลขาธิการเห็นสมควร จะขยายหรือเลื่อนกำหนดเวลาออกไปก็ได้ ทั้งนี้ ต้องยื่นคำร้องภายใน 15 วันนับแต่เหตุจำเป็นนั้นสิ้นสุดลง
ประการที่ห้า
การที่ผู้ประกันตนขาดส่งเงินสมทบและเจ้าหน้าที่มีคำสั่งให้สิ้นสภาพการเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 บุคคลดังกล่าวมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งต่อคณะกรรมการอุทธรณ์และฟ้องคดีต่อศาลแรงงาน โดยยื่นอุทธรณ์คำสั่งต่อเจ้าหน้าที่ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง เพื่อให้คณะกรรมการอุทธรณ์ได้พิจารณาทบทวนคำสั่งของเจ้าหน้าที่ชั้นต้น หากไม่พอใจผลคำวินิจฉัยก็มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลแรงงานได้ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัย และหากไม่เห็นด้วยก็สามารถอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลแรงงานเฉพาะในปัญหาข้อกฎหมายไปยังศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นและยื่นฎีกาต่อศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานภายในกำหนด 1 เดือน นับแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาล แต่หากผู้ประกันตนไม่ฟ้องคดีต่อศาลแรงงานภายในกำหนด จะถือว่าคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์เป็นที่สุด (มาตรา 85 และ มาตรา 87 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 และมาตรา 54 และมาตรา 57/1 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 และที่แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติ จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2558 และประมวลกฎหมายกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง)
อย่างไรก็ตาม เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาข้อโต้แย้งขึ้นไม่ว่าในขั้นตอนใด ผู้ประกันตนจึงสมควรอย่างยิ่ง ที่จะต้องใส่ใจทั้งการส่งเงินสมทบเป็นประจำทุกงวดเดือน การตรวจสอบเงินในบัญชีกรณีให้ธนาคารหักเงินในบัญชี หรือการใช้สิทธิอุทธรณ์หรือฟ้องคดีต่อศาลตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด เพราะผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ได้รับความคุ้มครองเช่นเดียวกับผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ยกเว้นกรณีว่างงาน
ที่มา : “5 เรื่องต้องใส่ใจ !!! เพื่อรักษาสิทธิให้คงอยู่ของผู้ประกันตนตามมาตรา 39” โดย : ปรานี สุขศรี วารสาร HR Society Magazine ปีที่ 17 ฉบับที่ 199 เดือนกรกฎาคม 2562