6 ประเด็น” เสนอรื้อโครงสร้างภาษีครั้งใหญ่

รื้อโครงสร้างภาษี

18 เมษายน 2563

จากการสัมมนารับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอปรับปรุงและแก้ไขประมวลรัษฎากร โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ  ได้มีการเสนอให้แก้ไขกฎหมาย  6 ประเด็น ซึ่งถือเป็นการรื้อโครงสร้างภาษีครั้งใหญ่

หนังสือพิมพ์ “โพสต์ทูเดย์” ฉบับวันเสาร์ที่ 22 กันยายน 2561 รายงานว่า เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2561 คณะอนุกรรมการพิจารณาปรับปรุงและแก้ไขประมวลรัษฎากร ที่มี นายกิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ ประธานคณะอนุกรรมการพิจารณาปรับปรุงและแก้ไขประมวลรัษฎากร เป็นประธาน ซึ่งคณะกรรมการจะดำเนินการปฏิรูปกฎหมายเป็นระยะเร่งด่วน และได้จัดการสัมมนาเพื่อรับฟังความคิดเห็นเรื่องข้อเสนอปรับปรุงและแก้ไขประมวลรัษฎากร โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ รวมทั้งสภาอุตสาหกรรมหอการค้าไทย สมาคมธนาคารไทย นักวิชาการ และบุคคลทั่วไป เข้าร่วมในการเสนอปรับปรุงประมวลรัษฎากรให้มีความทันสมัย และเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ โดยจะเร่งรัดและผลักดันให้แล้วเสร็จในปี 2562 ตามแผนปฏิรูปประเทศ

ทั้งนี้มีการเสนอให้แก้ไขกฎหมาย 6 ประเด็น ได้แก่

1. ธรรมาภิบาลการจัดเก็บภาษีและบริหารภาษีอากร

โดยให้มีการตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษานโยบายภาษีอากรแห่งชาติที่เป็นอิสระจากหน่วยงานจัดเก็บภาษี เพื่อกำหนดนโยบายการเก็บภาษีโดยคำนึงโครงสร้างภาษีทั้งระบบและทุกประเภท รวมถึงการตั้งคณะกรรมการอุทธรณ์ภาษี ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก ไม่ใช่จากกรมสรรพากร เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและเป็นกลาง

2. เสนอปรับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาใหม่ให้เหลือ 3 ประเภท

จากที่ขณะนี้มี 8 ประเภท ตามมาตรา 40 ทั้งนี้ โดยแยกตามวิธีการคำนวณภาษี คือ

(1) เงินได้จากน้ำพักน้ำแรง (earned income) ได้แก่ เงินได้พึงประเมินมาตรา 40 (1) (2) (6) ในปัจจุบัน

(2) เงินได้จากทรัพย์สินและการลงทุน (capital gain) ได้แก่ เงินได้ประเภทเงินปันผลและดอกเบี้ย

(3) เงินได้จากธุรกิจและอื่นๆ ในลักษณะคล้ายกำไรจากธุรกิจ (business profits) ในอนุสัญญาภาษีซ้อน

คณะกรรมการยังเสนอให้มีการหักค่าใช้จ่ายได้เพิ่มมากขึ้น ตามประเภทของประเภทเงินได้ จากปัจจุบันที่บางประเภทหักค่าใช้จ่ายได้ไม่เกิน 100,000 บาทต่อปีนอกจากนี้ จะเสนอให้มีการปรับลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาลดลงจากปัจจุบันสูงสุด 35% ลงเหลือ 25% ใกล้เคียงกับภาษีเงินได้ของนิติบุคคล และขยายช่วงเงินได้สำหรับการคำนวณภาษีแต่ละขั้นหรือแต่ละอัตรา เพื่อเป็นการส่งเสริมผู้ประกอบการรายย่อยที่ต้องการประกอบธุรกิจ แต่ยังไม่พร้อมจะแปรสภาพเป็นนิติบุคคล ให้เข้ามาอยู่ในระบบภาษีมากยิ่งขึ้น

3. เสนอให้มีการปรับลดอัตราภาษีภาษีเงินได้นิติบุคคล

โดยให้รวมเสียภาษีไม่เกิน 25% จากปัจจุบันภาษีนิติบุคคลของไทยเสียอยู่ที่ 20% และต้องเสียภาษีเงินปันผลอีกประมาณ 10% ของกำไรสุทธิหลังจากเสียภาษีนิติบุคคลแล้ว ซึ่งอันที่จริงจะเท่ากับ 8% ของกำไรก่อนเสียภาษี ทำให้มีภาระภาษีรวมอยู่ที่ 20 + 8 = 28% นอกจากนี้ยังมีการเสนอให้กลุ่มบริษัทเดียวกันมีสิทธิคำนวณกำไรเสียภาษีรวมแบบกลุ่ม (Consolidated Account and Filing) อันจะป้องกันการถ่ายโอนกำไรและราคาสินค้าและบริหารเพื่อเสียภาษีให้น้อยลงการเปลี่ยนแปลงข้างต้นจะสอดคล้องกับระบบภาษีในประเทศสิงคโปร์และฮ่องกง ที่เก็บภาษีนิติบุคคลเพียง 17 -18% และไม่เก็บภาษีของเงินปันผลจ่าย ประเทศไทยเก็บภาษีนิติบุคคลที่ 20% แต่เมื่อจ่ายเงินปันผลต้องเสียอีก 10% ทำให้บริษัทห้างร้านไม่ยอมจ่ายเงินปันผล รัฐบาลจึงเก็บภาษีอีก 10% นั้นไม่ได้เสนอให้กำหนดอัตราภาษีหัก ณ ที่จ่าย เพียงอัตราเดียวสำหรับเงินได้ทุกประเภท และปรับวงเงินขั้นต่ำที่จะต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย เพื่ออำนวยความสะดวกและลดภาระของผู้จ่ายเงินได้ในการตีความ

4. ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ให้ปรับจากที่มีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปีในปัจจุบันเพิ่มเป็น 10 ล้านบาทต่อปี

เพื่อแก้ปัญหาผู้ประกอบการรายเล็กและ SME ไม่ให้หลีกเลี่ยงการเสียภาษี VAT เนื่องจากผู้ประกอบการ SME ปัจจุบันมีรายได้อยู่ปีละ 7 – 8 ล้านบาท ทั้งนี้ ผู้ประกอบการที่มีรายได้ไม่ถึง 10 ล้านบาท ไม่ต้องจดทะเบียนและเสียภาษี VAT แต่อาจต้องเสียภาษีจากการขายจากยอดรายรับ 2% ทดแทน รวมทั้งเสนอให้ยกเลิกการยกเว้นภาษี VAT ให้กิจการบางประเภท เช่น บริการสอบบัญชี การว่าความ โรงเรียนกวดวิชา การให้บริการนักแสดง เป็นต้น และคงเหลือยกเว้นเฉพาะประเภทที่จำเป็นและสมควร และเสนอให้จัดเก็บภาษี VAT ของผู้ประกอบการอี-คอมเมิร์ซให้รัดกุมมากขึ้น

5. เสนอให้ยกเลิกจัดเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะ

อัตรา 0.1% จากรายรับจากการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์

6. เสนอให้ยกเลิกการเก็บภาษีอากรแสตมป์ทั้งหมด

เนื่องจากซ้ำซ้อนกับการเก็บภาษีประเภทอื่น มีจำนวนน้อยและมีค่าใช้จ่ายในการติดตามตรวจสอบสูงกว่าภาษีอากรแสตมป์เก็บได้

ทั้งนี้คณะกรรมการมีความเห็นว่า ข้อเสนอการแก้ไขกฎหมายสรรพากรดังกล่าว จะช่วยขยายฐานภาษีบุคคลธรรมดาของคนไทยให้สูงขึ้นได้ถึง 35 ล้านคน จากประชาชนราว 70 ล้านคน จากปัจจุบันมีคนอยู่ในระบบภาษีเพียงกว่า 10 ล้านคน มีผู้เสียภาษีจริงเพียง 3 ล้านคน รวมถึงการขยายฐานภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ปัจจุบันอยู่ในระบบ 4 แสนราย เทียบกับผู้ประกอบการ SME ที่มีถึง 3 ล้านราย แสดงให้เห็นว่ายังมีคนอยู่นอกระบบภาษีอยู่มาก แต่เนื่องจากเป็นการรื้อระบบภาษีที่ค่อนข้างกว้างขวาง จึงต้องดูว่าจะทำได้สำเร็จมากน้อยหรือช้าเร็วเพียงใด นับได้ว่าเป็นโครงการที่เป็น Ambitious Planทั้งนี้ นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลจะเร่งแก้ไขกฎหมายประมวลรัษฎากรของกรมสรรพากร เพราะหากทำไม่ทันในรัฐบาลชุดนี้ รัฐบาลที่จะมาจากการเลือกตั้งใหม่อาจไม่ดำเนินการต่อ เพราะเรื่องของการขยายฐานภาษีอาจไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนของรัฐบาลเลือกตั้งที่จะรีบดำเนินการ เนื่องจากอาจทำให้เสียความนิยมขอให้ทุกท่านโชคดี

 

ที่มา : จากบทความ “เสนอรื้อโครงสร้างภาษีครั้งใหญ่” โดย ดร. สุวรรณ วลัยเสถียร / Section : การวางแผนภาษี / Column : การวางแผนภาษีวารสารเอกสารภาษีอากร ปีที่ 38 ฉบับที่ 446 เดือนพฤศจิกายน 2018

Copyright ©2024  dharmniti.co.th All rights reserved.

Log in with your credentials

Forgot your details?