09 ธันวาคม 2562
6 ข้อเสนอมาตรการภาษีใหม่
แนวทางมาตรการภาษีใหม่ ที่มีการนำเสนอและจัดทำร่างเตรียมเสนอภาษีสรรพากรแบบใหม่ให้ปรับใช้ โดยจุดประสงค์หลักเพื่อกระตุ้นให้ทุกคนอยู่ในระบบภาษีที่ถูกต้องมากขึ้น ตามเป้าหมายใหม่ของทางกรมสรรพากร คือมีคนอยู่ในระบบภาษีจำนวน 35 ล้านคน! แนวทางนี้จะเป็นอย่างไรบ้าง มาดูทั้ง 6 ประเด็นสำคัญกัน
1. เงื่อนไขการยื่นภาษีแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
• ปรับให้ประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ไม่ว่าจะมีเงินได้หรือไม่ ต้องยื่นแบบภาษีเงินได้ จากเดิมหากมีเงินได้เกินปีละ 120,000 บาท จึงจะต้องยื่นแบบภาษีเงินได้
2. ปรับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
• ปรับภาษีเงินได้นิติบุคคลให้เหลือ 25% แลดความซ้ำซ้อน จากปัจจุบันนิติบุคคลเสียภาษี 20% (ทำให้มีกำไรหลังหักภาษีเท่ากับ 80%) แต่ก็ยังต้องไปเสียภาษีเงินปันผลอีก 10% รวมแล้วต้องเสียภาษีประมาณ 28% (20% + 10% ของกำไรหลังหักภาษี)
3. ปรับภาษีเงินได้นิติบุคคล
• ปรับประเภทเงินได้ให้เหลือ 3 ประเภท ได้แก่ 1. เงินได้จากน้ำพักน้ำแรง 2. เงินได้จากทรัพย์สินและการลงทุน และ 3. เงินได้จากธุรกิจและอื่น ๆ
• ปรับให้หักค่าใช้จ่ายได้มากขึ้น (แต่ไม่ระบุรายละเอียดที่ปรับ) จากเดิมไม่เกิน 100,000 บาท
• ปรับเพดานภาษีเป็น 25% และปรับช่วงรายได้ให้กว้างขึ้น (แต่ไม่ระบุรายละเอียดที่ปรับ) จากเดิมบุคคลธรรมดามีเพดานภาษีอยู่ที่ 35%
4. ปรับการเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)
• ปรับรายได้เพิ่มเป็น 10 ล้านบาทต่อปีจึงจะต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
• ยกเลิกการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มธุรกิจบางประเภท เช่น โรงเรียนกวดวิชา บริการนักแสดง สอบบัญชี เป็นต้น
5. ยกเลิกภาษีธุรกิจเฉพาะจากการขายหุ้น
• ยกเลิกภาษีธุรกิจเฉพาะ 0.1% จากรายรับของการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์
6. ยกเลิกภาษีอากรแสตมป์
• ยกเลิกภาษีอากรแสตมป์ทั้งหมด เนื่องจากจัดเก็บได้น้อย ยุ่งยาก และซ้ำซ้อนกับภาษีประเภทอื่น
สำหรับร่างกฎหมายฉบับใหม่นี้ยังเป็นเพียงข้อเสนอของคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาปรับปรุงและแก้ไขประมวลรัษฎากรที่ได้มีการจัดสัมมนาและเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้แทนหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งยังไม่มีผลตามกฎหมาย อยู่ในขั้นตอนดำเนินการเขียนร่างแก้ไขกฎหมายเท่านั้น ดังนั้น คงต้องรอผลสรุปและต้องรอการประกาศจากทางกรมสรรพากรก่อน
บทความโดย : นาวสาวณัฐชา คำภา ประจำสำนักงานคณะกรรมการบริหาร