4 นวัตกรรมเปลี่ยนโลก

4 นวัตกรรมเปลี่ยนโลก

18 มิถุนายน 2562

เมื่อเศรษฐกิจในยุคนี้ล้วนขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม จึงไม่น่าแปลกใจที่โลกเกิดเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่หลายคนนึกไม่ถึง และนี่คือ 4 นวัตกรรมเปลี่ยนโลกที่น่าจับตามอง

ขณะนี้ประเทศไทยของเรากำลังมุ่งหน้าที่จะเดินไปตามโมเดล “ประเทศไทย 4.0” ที่มุ่งปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม จึงจะเห็นได้ว่า มีหลายองค์กรหลายสถานที่ที่มีการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ เข้ามาใช้เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของตนเอง และในระดับโลกปัจจุบันนี้ก็มีความก้าวหน้าในด้านต่างๆ หลายด้าน ที่ไม่ช้าก็เร็วย่อมส่งผลกระทบมาถึงพวกเราทุกคนอย่างแน่นอน จึงน่าจับตามองว่ามีนวัตกรรมอะไรที่กำลังจะมาเปลี่ยนโลกของเราบ้าง ไปดูกันครับ

AI Artificial intelligence 

Artificial intelligence (AI)

ทุกวันนี้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์พัฒนาอย่างรวดเร็วจนแทบตามไม่ทัน ล่าสุดเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ในงาน Google I/O บริษัท Google ก็ได้โชว์ศักยภาพของฟีเจอร์ Google Assistant รุ่นใหม่ ที่ถูกพัฒนาให้มีน้ำเสียงและจังหวะลีลาการพูด พร้อมทั้งทักษาการพูดโต้ตอบที่เหมือนคนจริง ๆ จนปลายสายไม่สามารถรู้ได้เลยว่ากำลังคุยกับ AI อยู่

ทำให้น่าคิดว่าอีกไม่นานเราคงจะสามารถโทรคุยกับ AI ในเรื่องอื่น ๆ ได้สารพัด และเหตุการณ์ที่เห็นในภาพยนตร์เกี่ยวกับโลกอนาคตหลายเรื่องซึ่งคนไปผูกมิตรหรือตกหลุมรักกับ AI ก็คงไม่ใช่เรื่องเกินจริง

 

Cryptocurrency

สกุลเงินดิจิทัล (Cryptocurrency)

แม้จะมีข้อถกเถียงมากมายเกี่ยวกับสกุลเงินดิจิทัล และเกิดเป็นประเด็นโต้แย้งในหลายประเทศทั่วโลก ทั้งในระดับรัฐบาลที่บางประเทศก็สนับสนุนเต็มที่ บางประเทศกำลังศึกษาและพัฒนาเงินสกุลดิจิทัลของตนเอง และบางประเทศก็สั่งห้ามเด็ดขาด หรือในระดับประชาชนที่มีคนจำนวนไม่น้อยวิ่งเข้าไปลงทุนกับการซื้อขายเงินดิจิทัล ขณะที่บางส่วนก็ยังกังวลเพราะเป็นสกุลเงินที่อยู่เหนือการควบคุมของรัฐบาลและไม่มีกฎหมายฉบับใดรองรับ ซึ่งข้อถกเถียงนี้คงยังไม่มีข้อสรุปในเร็ววันนี้

อย่างไรก็ดีก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า การเกิดขึ้นและเติบโตของสกุลเงินดิจิทัล นับเป็นนวัตกรรมที่น่าจับตามองไม่น้อยในโลกยุคนี้

Bitcoin เงินดิจิทัลจับต้องไม่ได้แต่ใช้งานได้จริ

3D printer

เทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติ (3D Printing)

เทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติ คือการใช้เครื่องพิมพ์ 3 มิติขึ้นรูปชิ้นงาน โดยการเติมเนื้อวัสดุทีละชั้นๆ จนได้ออกมาเป็นวัตถุที่ต้องการ ซึ่งก่อนหน้านี้เทคโนโลยีดังกล่าวยังคงจำกัดอยู่ในเรื่องของการผลิตสิ่งของง่าย ๆ ไม่ซับซ้อน เช่น ของเล่น เครื่องประดับ เฟอร์นิเจอร์ แต่ในช่วงเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมาเทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติได้พัฒนาแบบก้าวกระโดด ตัวอย่างเช่น

ในปี 2011 บริษัท Invetech ในประเทศออสเตรเลียสามารถผลิตเครื่อง 3D Bioprinting หรือเครื่องพิมพ์ชีวภาพ 3 มิติเครื่องแรกของโลกได้สำเร็จ โดยเครื่องพิมพ์ดังกล่าวสามารถพิมพ์เนื้อเยื่อมนุษย์ได้โดยนำวัสดุหรือเซลล์ที่มีชีวิตมาเรียงซ้อนกันเพื่อสร้างเป็นรูป 3 มิติ   ต่อมาปี 2014 คณะวิจัยจากโรงพยาบาล Brigham and Women’s Hospital ในรัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา ทดลองสร้างหลอดเลือดเทียมขึ้นด้วยเครื่อง 3D Bioprinting หรือในปี 2015 บริษัทผู้ผลิตเครื่องสำอางสัญชาติฝรั่งเศสอย่าง L’oreal ได้จับมือกับบริษัท Organovo พัฒนาเครื่อง 3D Bioprinting เพื่อพิมพ์ผิวหนังมนุษย์ขึ้นสำหรับใช้ทดสอบผลิตภัณฑ์แทนการทดสอบกับคนหรือสัตว์อย่างที่เคยเป็นมา

จากตัวอย่างความสำเร็จเหล่านี้ เชื่อว่าอีกไม่นาน เทคโนโลยีนี้จะเข้ามามีบทบาทในทางการแพทย์ชนิดปฏิวัติวงการเลยทีเดียว เช่น ผู้ที่สูญเสียอวัยวะต่างๆ หรือเกิดโรคที่ทำให้อวัยวะเสียหายใช้การไม่ได้ อาจไม่ต้องรอรับบริจาคอวัยวะอีกต่อไป แต่สามารถใช้เครื่องพิมพ์ขึ้นรูปออกมาได้เลย

Quantum Computer

ควอนตัมคอมพิวเตอร์ (Quantum Computer)

“เร็วกว่า 100 ล้านเท่า” คือ ข้อความที่ Google Quantum Artificial Intelligence Lab เผยแพร่ในเอกสารวิชาการ หลังเปรียบเทียบวิธีคำนวณโดยใช้ควอนตัมคอมพิวเตอร์ Google D-Wave 2X เทียบกับคอมพิวเตอร์ปกติ ซึ่งด้วยความเร็วขนาดนี้ หากนำมาใช้ประโยชน์ระดับทั่วไปได้จริง โลกนี้คงเปลี่ยนไปอีกมาก (ขณะเดียวกันก็อาจตกอยู่ในความเสี่ยงด้วย เช่น การเข้ารหัสข้อมูลต่าง ๆ อาจไม่ปลอดภัยอีกต่อไป)

อย่างไรก็ดีการสร้างควอนตัมคอมพิวเตอร์หรือคอมพิวเตอร์ที่ประมวลผลด้วยหลักการของฟิสิกส์ควอนตัมนั้นยังมีข้อจำกัดอย่างมาก เช่น ต้องอยู่ในอุณหภูมิที่เย็นเกือบ -273.15 องศาเซลเซียส มีขนาดที่ใหญ่โตมโหฬาร รวมถึงการควบคุมอะตอมที่มีธรรมชาติไม่อยู่นิ่งหลายตัวให้ทำงานร่วมกันก็เป็นโจทย์ที่ยากมากสำหรับนักวิทยาศาสตร์

ดังนั้นการจะสร้างควอนตัมคอมพิวเตอร์ให้มีความเสถียรและใช้งานในระดับทั่วไป คงยังไม่มาถึงในอนาคตอันใกล้ แต่ก็อาจไม่นานจนไม่ทันได้เห็นก็เป็นได้ ใครจะไปรู้

 

Related Content 

Bitcoin เงินดิจิทัลจับต้องไม่ได้แต่ใช้งานได้จริง

 

ที่มา  : จากบทความ “นวัตกรรมเปลี่ยนโลก”  โดย กองบรรณาธิการ  Section : Lifestyle  Column : Classified  วารสาร CPD & Account ปีที่ 15 ฉบับที่ 174 เดือนมิถุนายน 2561  

ข้อมูลอ้างอิง

https://thestandard.co/quantum-computer-1/

www.tcdc.or.th/articles/technology-innovation/23068/ 

https://www.beartai.com/news/itnews/71614   

 

 

 

 

Copyright ©2024  dharmniti.co.th All rights reserved.

Log in with your credentials

Forgot your details?