พระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561

19 มิถุนายน 2562

กิจกรรมที่ถูกกำกับดูแลภายใต้พระราชกำหนดการประกอบธุรกิจ สินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 แบ่งออกเป็นอะไรบ้าง มาทำความเข้าใจกันครับ

กิจกรรมที่ถูกกำกับดูแลภายใต้พระราชกำหนดการประกอบธุรกิจ สินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 แบ่งออกเป็น 2 ส่วนด้วยกัน ได้แก่

1) การระดมทุนด้วยการเสนอขายโทเคนดิจิทัลต่อประชาชน

2) การให้บริการเป็นตัวกลางในการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัล

โดยได้กำหนดหลักเกณฑ์แนวทางปฏิบัติในทั้ง 2 ส่วนไว้ดังต่อไปนี้

 

การระดมทุนด้วยการเสนอขายโทเคนดิจิทัลต่อประชาชน

• ในการเสนอขายโทเคนดิจิทัลที่ออกใหม่ต่อประชาชน ผู้ออกโทเคนดิจิทัลที่ประสงค์จะเสนอขายโทเคนดิจิทัลดังกล่าว ต้องได้รับอนุญาตจากสำนักงาน ก.ล.ต.

• ผู้ระดมทุนจะต้องเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัด

• ผู้ระดมทุนจะต้องยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายโทเคนดิจิทัลและร่างหนังสือชี้ชวนต่อสำนักงาน ก.ล.ต. โดยมีรายละเอียดตามที่คณะกรรมการ ก.ล.ต.ประกาศกำหนด และการเสนอขายโทเคนดิจิทัลจะกระทำได้ก็ต่อเมื่อแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายโทเคนดิจิทัลและร่างหนังสือชี้ชวนมีผลใช้บังคับแล้ว โดยต้องเสนอขายผ่านผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัล (ICO portal) ที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ก.ล.ต. เท่านั้น

• รับเฉพาะคริปโทเคอร์เรนซีที่ซื้อขายแลกเปลี่ยน หรือฝากไว้กับผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับอนุญาต

• ผู้ลงทุนมีคุณสมบัติและวงเงินลงทุนได้ตามที่กำหนด

* การเสนอขายโทเคนดิจิทัลทุกกรณีหลังพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 มีผลบังคับใช้ ต้องมายื่นขออนุญาตกับ ก.ล.ต. และหากจะให้โทเคนดิจิทัลมีการซื้อขายเปลี่ยนมือต้องทำผ่านศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลที่ได้รับอนุญาต

* ไม่มีผลบังคับกับผู้ที่ระดมทุนสำเร็จไปแล้ว

 

การให้บริการเป็นตัวกลางในการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัล

• ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ต้องได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

• มีมาตรฐานตามเกณฑ์ที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. กำหนด เช่น

1. มีแหล่งเงินทุนที่เพียงพอสำหรับการรองรับการประกอบธุรกิจและความเสี่ยงในด้านต่างๆ

2. มีความปลอดภัยของทรัพย์สินของลูกค้า และมีการรักษาความปลอดภัยจากการโจรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อป้องกันระบบคอมพิวเตอร์และข้อมูลคอมพิวเตอร์ รวมถึงการบริหารจัดการความเสี่ยงที่เกิดจากการโจรกรรมหรือเหตุอื่นๆ

3. มีระบบบัญชีที่เหมาะสมกับกิจการ และจัดให้มีการสอบบัญชีโดยผู้สอบบัญชีที่สำนักงาน ก.ล.ต. ให้ความเห็นชอบ

4. มีมาตรการการรู้จักลูกค้า มีการตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้า

5. มีมาตรการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายหรือการฟอกเงิน

* ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่ได้ประกอบธุรกิจอยู่ในวันก่อนที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับและเป็นธุรกิจที่ต้องขออนุญาตตามพระราชกำหนดนี้ หากจะดำเนินกิจการต่อไป ต้องยื่นคำขออนุญาตภายใน 90 วันที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ (ภายในวันที่ 14 สิงหาคม 2561) และเมื่อยื่นคำขออนุญาตแล้ว ให้ดำเนินกิจการต่อไปได้จนกว่าจะมีคำสั่งไม่อนุญาต 

*คณะกรรมการ ก.ล.ต. สามารถยกเว้นการเสนอขายหรือการเป็นตัวกลางในบางลักษณะจากการกำกับดูแล

 

ที่มา : บางส่วนจากบทความ “สรุปสาระสำคัญ พระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561”  โดย กองบรรณาธิการ  Section : บทความพิเศษ Column : สกู๊ป   อ่านบทความฉบับเต็มได้ใน…วารสารเอกสารภาษีอากร ปีที่ 37 ฉบับที่ 442 เดือนกรกฎาคม 2561 

Copyright ©2024  dharmniti.co.th All rights reserved.

Log in with your credentials

Forgot your details?