18 เมษายน 2563
เรื่องที่นักบัญชีควรทราบเบื้องต้นเกี่ยวกับธุรกิจ Start Up ในประเด็นต่าง ๆ มีอะไรบ้าง ลองติดตามกันดูครับ
ประเด็นที่นักบัญชีควรทราบดังต่อไปนี้
- มาตรฐานการบัญชีและรายงานทางบัญชีที่ใช้
สำหรับธุรกิจ Start Up ที่จัดตั้งกิจการในรูปแบบนิติบุคคล จะต้องมีหน้าที่จัดทำและนำเสนอรายงานทางบัญชีหรือรายงานทางการเงินตามกฎหมายตามมาตรฐานการบัญชี ซึ่งมาตรฐานการบัญชีในปัจจุบันที่ใช้ในประเทศไทยมีจำนวนทั้งหมด 2 ชุด ได้แก่
- มาตรฐานการบัญชีสำหรับกิจการที่มีส่วนได้เสียสาธารณะ
- มาตรฐานการบัญชีสำหรับกิจการที่ไม่มีส่วนได้เสียสาธารณะ
ข้อแตกต่างที่สำคัญนำมาแสดงในตารางเปรียบเทียบด้านล่างนี้
มาตรฐานการบัญชีสำหรับกิจการที่มีส่วนได้เสีย สาธารณะ | มาตรฐานการบัญชีสำหรับกิจการที่ไม่มีส่วนได้เสียสาธารณะ |
ชื่อเรียกภาษาอังกฤษ Publicly Accountable Entities | ชื่อเรียกภาษาอังกฤษ Non-Publicly Accountable Entities |
ปรับปรุงตามมาตรฐานการบัญชีระหว่างประเทศ | จำนวนบทของหัวเรื่องมีตายตัวเพียง 22 บท |
มีข้อกำหนดให้เสนอ “กำไรต่อหุ้น” ในรายงาน | ไม่มีข้อกำหนดให้เสนอ “กำไรต่อหุ้น” ในรายงาน |
ผู้ใช้รายงานทางการเงินเป็นบุคคลทั่วไป รวมถึง นักลงทุน | ผู้ใช้รายงานทางการเงินส่วนใหญ่เป็นเจ้าของและบุคคลอื่นที่สนใจ เช่น เจ้าหนี้ ผู้ให้กู้ยืม เป็นต้น |
แนวโน้มในการใช้มาตรฐานการบัญชีสำหรับธุรกิจ Start Up ที่นิยมเลือกใช้ คือ มาตรฐานการบัญชีสำหรับกิจการที่ไม่มีส่วนได้เสียสาธารณะ (NPAE) โดยมีข้อดีที่สำคัญ คือ การได้เรียนรู้แนวคิดของมาตรฐานการบัญชีสำหรับกิจการที่มีส่วนได้เสียสาธารณะ (PAE) แต่ไม่ต้องทำตามทั้งหมด เพราะ NPAE จัดทำขึ้นและประกาศใช้เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น ส่วนหนึ่งเพื่อให้นักบัญชีเตรียมความพร้อมเข้าสู่มาตรฐานการบัญชีสากล ซึ่งจะเป็นชุด PAE ต่อไป
- การเตรียมสำหรับการรายงานความคลื่อนไหวของบัญชีเงินสด
สำหรับธุรกิจ Start Up ที่ยังไม่จดเป็นนิติบุคคล แต่ยังทำธุรกิจในรูปแบบของบุคคลธรรมดา แม้ว่าอาจไม่บังคับให้จัดทำบัญชีในรูปแบบเช่นเดียวกับนิติบุคคล แต่ในการเสียภาษีก็จะมีหลักเกณฑ์เฉพาะสำหรับรูปแบบบุคคลธรรมดา อย่างไรก็ตาม ในเร็ว ๆ นี้ รายการเคลื่อนไหวทางบัญชีที่จดบันทึกไว้จากการดำเนินธุรกิจ เช่น รายการซื้อ รายการขาย รายการรับเงิน และรายการจ่ายเงิน จะมีความสำคัญมากขึ้น โดยเฉพาะการที่ต้องมีการรายงานธุรกรรมเงินสดตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งในทางบัญชีแล้วหมายถึงการจัดทำสมุดเงินสดรับและสมุดเงินสดจ่าย เพื่อเป็นที่รวบรวมและคำนวณหายอดรายการเงินสดคงเหลือนั่นเอง สำหรับการรายงานธุรกรรมเงินสดนั้น กำหนดให้หน่วยงานอื่นที่ไม่ใช่เราเป็นผู้รายงานให้แก่หน่วยงานราชการ ผู้ที่ทำหน้าที่ในการรายงาน เช่น สถาบันการเงิน เป็นต้น อย่างไรก็ตาม จำนวนผู้ที่ได้รับข้อมูลดังกล่าวตามกฎหมายอาจมีหลายหน่วยงานราชการ และนับวันอาจมีจำนวนหน่วยงานราชการที่ต้องได้รับข้อมูลมากขึ้น โดยหนึ่งในหน่วยงานราชการดังกล่าวอาจเป็นกรมสรรพากร
จากบทความ “เรื่องบัญชีที่ธุรกิจ Start up ต้องทราบ” โดย : สุรพล ถวัลยวิชชจิต วารสาร CPD & Account ปีที่ 16 ฉบับที่ 186 เดือนมิถุนายน 2562
สมัครสมาชิก คลิก