เทคนิคบริหารคนรุ่นใหม่ ที่มีพฤติกรรมใจร้อน ไม่อดทน สมาธิสั้น เปลี่ยนใจง่าย ฝ่าย HR หรือหัวหน้างานควรจะรู้ให้ทันและจัดการอย่างไร
การบริหารคนรุ่นใหม่ที่มีลักษณะหลากหลายในพฤติกรรมการทำงาน สามารถแบ่งได้เป็น 6 ประเภทประกอบด้วย
1.พนักงานประเภท “Aimless สมาธิสั้น จับจด”
มักจะมีพฤติกรรมที่เราพบเจอในออฟฟิศ เช่น ไม่ชอบนั่งอยู่กับที่ ตามตัวไม่ค่อยเจอ มักทำงานไม่เสร็จซักอย่าง มักทำงานแบบครึ่งๆ กลางๆ และดูเหมือนมีงานเยอะ ดูยุ่งไปหมดตลอดทั้งวัน
วิธีการบริหาร “คนสมาธิสั้น จับจด หรือ Aimless” นะ!!!…หมอคนแนะนำว่า…“ให้น้อย ให้ซอย ให้บ่อย ให้สลับ ให้ชม”
2.พนักงานประเภท “Routiner ทำไปวันๆ”
จะมีพฤติกรรมให้เราเห็น เช่น ชอบนั่งติดที่ พิมพ์งานไปเรื่อยๆ นั่งติดกับดักอยู่ใน Comfort Zone แบบสบายๆ ไม่รู้ร้อนรู้หนาว มีลูกค้ามายืนอยู่ตรงหน้าก็ยังไม่รู้ตัว ไม่สนใจ อะไรทำนองนี้
วิธีการบริหาร “คนที่ทำไปวันๆ หรือ Routiner” นั้น!!!…หมอคนชี้แนะว่า…“จงกำหนดเส้นตาย จงใส่ตัวเรง จงใช้ตัวชี้วัด จงสลับหน้าที่”
3.พนักงานประเภท “Performer ผลงานพอได้”
คนกลุ่มนี้ ก็จะมีพฤติกรรมกึ่งๆ ครึ่งๆ กลางๆ แบบจะขี้เกียจก็ไม่ใช่ จะขยันก็ไม่เชิง เข้าทำนองคึกเป็นพักๆ รักงานเป็นช่วงๆ
วิธีการบริหาร “คนที่ทำผลงานพอได้ หรือ Performer” นี่!!!…หมอคนให้แนวทางว่า…“โดยเขยิบเป้าขึ้นสักนิด ให้กำลังใจสักหน่อย มีตัวสนับสนุนเพิ่ม”
4.พนักงานประเภท “Achiever ทำงานถึงเป้า”
เป็นกลุ่มคนที่มีทิศทาง มีเป้าหมายในการทำงาน มีความมุ่งมั่นพยายามในการฟันฝ่าปัญหาอุปสรรคต่างๆ ที่เข้ามาขัดขวางเส้นทางสู่การพิชิตเป้าหมาย ดังนั้นพวกเขาจึงมีพฤติกรรมตั้งใจทำงาน จะไม่ยอมเสียเวลาไปกับเรื่องไร้สาระ จะมีการกำหนดแผนงานและเป้าหมายในแต่ละช่วงเวลาของแต่ละงานไว้ แล้วพยายามทำให้บรรลุตามไทม์ไลน์นั้น
วิธีการบริหาร “คนที่ทำงานถึงเป้า หรือ Achiever” นั้น!!!…หมอคนบอกว่า…“ให้รางวัล ให้เกียรติยศ ให้มีส่วนร่วมในการกำหนดเป้าหมาย”
5.พนักงานประเภท “Superior ได้ผลงานสูง”
นี่ก็เป็นคนอีกกลุ่มหนึ่งที่มีเป้าหมาย มีทิศทาง ในทำงานที่ “Upper Target ” (เป้าหมายที่สูงขึ้น) แล้วที่น่าสนใจสำหรับพวกเขา คือ “กระบวนการความคิด วิธีการทำงานที่เหนือกว่าว่าต้องทำอย่างไรให้บรรลุที่เหนือกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้” เรียกว่า “Super Grade” นั่นเอง!
วิธีการบริหาร “คนมีผลงานสูง หรือ Superior” นะ!!!…หมอคนแจกแจงว่า….“จงให้งานยากแก่เขา จงชื่นชมเขา จงให้ตำแหน่งใหญ่แก่เขา”
6.พนักงานประเภท “Challenger ชอบงานท้าทาย”
คนลักษณะนี้จะสามารถปลดปล่อยพลังศักยภาพออกมาได้อย่างยิ่งยวด เมื่อเจอกับงานใหม่ที่ยากที่ไม่ใช่งานพื้นๆ Routine Job ทั่วไป เขาจึงเป็น“กลุ่มคนที่สรรค์สร้างสิงใหม่” ในองค์กร!
วิธีการบริหาร “คนที่ชอบงานท้าทาย หรือ Challenger” นะ!!!…หมอคนให้คำแนะนำว่า…“เปิดโอกาสใหม่ๆ แก่เขา มอบงานที่ยากแก่เขา รับฟังมุมมองที่แปลกจากเขา”
ดังนั้น คนที่ทำงานด้าน HR หรือแม้กระทั่งหัวหน้างาน (Leader, Supervisor) ผู้บริหารสายงาน (Line Manager) ก็ตาม คงต้อง “ปรับตัว” และ “เอาตัวให้รอด” กับ “โจทย์ใหญ่” ที่ทุกองค์กร “กำลังเผชิญอยู่” คือ จะบริหารคนรุ่นใหม่อย่างไร ให้คนรุ่นใหม่ (Gen.Y & Next) สามารถปลดปล่อยศักยภาพและสร้างสรรค์ผลงานออกมาให้ดีเลิศอย่างคุ้มค่าราคาจ้าง มิใช่สรรหามาได้ อยู่ไม่นานก็ลาออกเสียแล้ว เพราะไม่สามารถเอาอยู่ ก็จะไม่ใช่ปัญหาการบริหารทรัพยากรบุคคลอีกต่อไปแล้ว เพราะเราสามารถบริหารคนรุ่นใหม่ที่มีลักษณะหลากหลายให้อยู่หมัดนั่นเอง
จากบทความ : “เทคนิคการบริหารคนรุ่นใหม่ที่มีลักษณะหลากหลาย” โดย : พรเทพ ฉันทนาวี วารสาร HR Society Magazine ปีที่ 17 ฉบับที่ 199 เดือนกรกฎาคม 2562