ประกันสังคม … สวัสดิการเพื่อบริการกลุ่มลูกจ้าง

30 กันยายน 2562

การดำเนินงานของประกันสังคมมีอยู่ในหลายๆ ประเทศ ซึ่งในปัจจุบันได้มีหลักการที่ไม่แตกต่างกัน

เนื่องจากการประกันสังคมเป็นโครงการการบริการทางสังคมระยะยาวอีกระบบหนึ่งที่รัฐเป็นผู้ดำเนินการจัดขึ้น ด้วยการให้ประชาชนผู้มีรายได้แต่ละคนได้มีส่วนช่วยตนเองหรือครอบครัว โดยร่วมกันเสี่ยงภัยหรือช่วยเหลือบำบัดความทุกข์ยากเดือดร้อนซึ่งกันและกันระหว่าง ผู้มีรายได้ในสังคม โดยมีนายจ้าง ลูกจ้างและในบางประเทศมีรัฐบาลร่วมออกเงินสมทบเข้ากองทุนนี้ด้วยกองทุนนั้นจะจ่ายประโยชน์ทดแทนให้แก่ผู้ส่งเงินสมทบเมื่อเกิดความเดือดร้อน เช่น เจ็บป่วย คลอดบุตร ว่างงาน ชราภาพ เป็นต้น

ประเทศไทย ได้มีความพยายามที่จะนำระบบประกันสังคมมาใช้ตั้งแต่ พ.ศ.2495 เป็นต้นมาแต่ไม่ประสบผลสำเร็จ

จนกระทั่งในปี พ.ศ.2515 กรมแรงงานได้ผลักดันให้มีการจัดตั้งสำนักงานกองทุนเงินทดแทนขึ้น เพื่อให้ความคุ้มครองแก่ลูกจ้างเมื่อประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยจากการทำงาน ซึ่งนับว่าเป็นก้าวแรกของการประกันสังคมในประเทศไทย ที่ให้หลักประกันแก่ลูกจ้างในการทำงาน จนมาถึงวันที่ 3 กันยายน 2533 สำนักงานประกันสังคม จึงได้ก่อตั้งขึ้น ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 โดยโอนงานของกรมประชาสงเคราะห์ส่วนที่เกี่ยวข้องกับการประกันสังคม และงานของสำนักงานกองทุนเงินทดแทนของกรมแรงงาน มาอยู่ในความรับผิดชอบของสำนักงานประกันสังคม สังกัดกระทรวงมหาดไทยและได้โอนมาอยู่ในสังกัดกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2536 (กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมเปลี่ยนชื่อเป็น กระทรวงแรงงาน เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2545) ซึ่ง

สำนักงานประกันสังคม ได้ยึดหลักการในการดำเนินงานประกันสังคม คือ

– นายจ้างและลูกจ้างจะออกเงินสมทบร่วมกันส่วนรัฐบาลจะออกเงินอุดหนุนบางส่วน

– การเข้าสู่โครงการประกันสังคมเป็นลักษณะบังคับ

– การจัดตั้งกองทุนเพื่อนำไปจ่ายประโยชน์ทดแทนตามเงื่อนไขที่กำหนดและส่วนหนึ่งของเงินสมทบจะนำไปลงทุนเพื่อให้กองทุนมีสินทรัพย์มากขึ้น

– สิทธิในการรับประโยชน์ทดแทนเกิดจากการจ่ายเงินสมทบที่เป็นไปตามเงื่อนไข

– อัตราเงินสมทบและประโยชน์ทดแทนมีความสัมพันธ์กับรายได้ของผู้ประกันตน

ในปัจจุบัน สำนักงานประกันสังคมมีวัตถุประสงค์เพื่อให้หลักประกันในการดำรงชีวิตแก่ผู้ประกันตนให้เกิดความมั่นคง ตั้งแต่เกิดจนวาระสุดท้ายของชีวิต และเสริมสร้างสังคมและประเทศชาติให้มีเสถียรภาพเป็นปึกแผ่น โดยให้ความคุ้มครองแก่สมาชิก 7 กรณี คือ กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ทุพพลภาพ คลอดบุตร ตายที่ไม่เนื่องจากการทำงาน ชราภาพ สงเคราะห์บุตร และกรณีว่างงานผู้ประกันตนจะได้รับการคุ้มครองเมื่อเจ็บป่วยหรือประสบเหตุที่ทำให้เดือดร้อนโดยจะให้ในรูปตัวเงิน (in cash) และบริการทางการแพทย์ (in kind) เพราะฉะนั้นเราจะกล่าวได้ว่า ระบบประกันสังคม เป็นหนึ่งในบริการด้านสวัสดิการสังคม เพื่อที่จะคุ้มครองป้องกันประชาชนที่มีรายได้ประจำ มิให้ได้รับความเดือดร้อนในความเป็นอยู่ของชีวิต เมื่อต้องสูญเสียรายได้ทั้งหมดหรือบางส่วน หรือมีรายได้ไม่เพียงพอแก่การครองชีพ

 

—-

แหล่งที่มา www.jobdst.com

Copyright ©2024  dharmniti.co.th All rights reserved.

Log in with your credentials

Forgot your details?