06 พฤษภาคม 2565
การหลบเลี่ยงรายได้และกำไรของธุรกิจที่เป็นนิติบุคคล จะส่งผลกระทบต่อกรรมการและผู้ถือหุ้น ดังต่อไปนี้
1. กรณีกรรมการหรือผู้ถือหุ้นที่ได้รับค่าจ้างจากธุรกิจ
ไม่ว่าจะเป็นเงินเดือน ค่าที่ปรึกษา โบนัส หรืออะไรก็ตามที่เป็นเงินได้การจ้างแรงงาน ซึ่งสามารถใช้เป็นค่าใช้จ่ายธุรกิจ (นิติบุคคล) ได้ และถือเป็นรายได้ของบุคคลธรรมดา ตรงนี้ปัญหาคือ เงินที่จ่ายนั้นอาจจะไม่สามารถจ่ายได้ตามข้อเท็จจริง เนื่องจากกิจการได้วางเพดานของรายได้และกำไรไว้ล่วงหน้าแล้ว
2. กำไรน้อยหรือขาดทุนจนไม่สามารถจ่ายเงินปันผลได้
เนื่องจากแรงจูงใจในการหลบเลี่ยงภาษีเงินได้นิติบุคคลทำให้กิจการมีกำไรน้อยลง หรือบางครั้งตัวเลขออกมาขาดทุน นั่นย่อมแปลว่าผู้ถือหุ้นไม่มีโอกาสได้รับสิทธิจากการจ่ายเงินปันผลอย่างแน่นอน ซึ่งตรงนี้ก็จะสะท้อนอีกว่า ไม่สามารถนำเงินออกจากธุรกิจได้
ซึ่งวิธีการหลบเลี่ยงภาษีเงินได้นิติบุคคลนั้น อาจจะเลือกใช้วิธีการโอนเงินเข้าบัญชีบุคคลธรรมดาแทน (ตัวแทน หรือ กรรมการ) เพื่อไม่ให้เงินผ่านบัญชีธุรกิจที่เป็นนิติบุคคล แต่ปัญหาที่จะตามมาอีกทอดหนึ่ง คือ เงินจำนวนนี้จะต้องถูกโอนกลับเป็นเจ้าหนี้กรรมการ หรือ เงินทดรองจ่ายจากกรรมการในบัญชีของนิติบุคคล เนื่องจากเมื่อธุรกิจมีกำไรน้อยหรือประสบผลขาดทุน การกู้ยืมเงินทุนหมุนเวียนจะเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อให้ธุรกิจสามารถดำเนินการต่อไปได้ และสุดท้ายกรรมการจะนำเงินกลับมาให้นิติบุคคลในรูปแบบนี้เสมอ
สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาต่อจากนี้คือ เงินกู้ยืมกรรมการตรงนี้เป็นตัวหนึ่งที่กรมสรรพากรให้ความสำคัญในการตรวจสอบ อยู่ใน 10 ประเด็นความเสี่ยงที่เพิ่งประกาศออกมาเมื่อช่วงกลางปี 2562 ซึ่งเงินกู้ยืมกรรมการที่ไม่สามารถชี้แจงได้ รวมถึงที่มาของเส้นทางการเงินไม่ชัดเจน ไม่มีหลักฐานการกู้ยืม แบบนี้คือความผิดปกติที่สังเกตได้
ลองคิดสภาพดูนะครับ คนๆ หนึ่งที่ทำธุรกิจโดยจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลขึ้นมา แล้วมีการจ่ายเงินเดือนให้ตัวเองไม่มากนัก (ตามข้อ 1) เงินปันผลจากกำไรก็ไม่มีเพราะกิจการขาดทุน (ตามข้อ 2) จะสามารถเอาเงินตัวเองมาให้กิจการกู้ยืมมากขนาดนั้นได้อย่างไร?
เมื่อไม่เกิดความสอดคล้องขึ้นแล้ว ประเด็นที่สรรพากรจะสงสัยก็คือ งบการเงินนั้นถูกต้องหรือเปล่า? ไปจนถึงโอกาสในการตรวจสอบบัญชีเงินฝากหรือหลักฐานของทางฝั่งบุคคลธรรมดา (ถ้าสามารถทำได้ หรือมีข้อบ่งชี้ว่ามีพฤติกรรมหลบเลี่ยงภาษี)
โดยสรุปแล้วเราจะเห็นว่าในระยะสั้น ภาพของกิจการจะดูดี ไม่ต้องเสียภาษี แต่ในระยะยาวแล้ว ปัญหาที่เกิดขึ้นต่อจากนี้จะมีให้แก้ไขไม่รู้จบครับ
บางส่วนจากบทความ “การหลบเลี่ยงภาษีเงินได้นิติบุคคล ส่งผลต่อกรรมการและผู้ถือหุ้นอย่างไร” โดย : Tax Bugnoms วารสาร CPD & Account ปีที่ 16 ฉบับที่ 192 เดือนธันวาคม 2562 สมัครสมาชิก คลิก