15 เมษายน 2563
ปลอมใบรับรองแพทย์ ถือเป็นการปลอมและใช้เอกสารปลอม ระวังติดคุก แถมถูกไล่ออกโดยนายจ้างไม่ต้องจ่ายสักบาท
ลูกจ้างป่วย แพทย์ตรวจแล้วออกใบรับรองเห็นควรให้หยุดงาน แต่ลูกจ้างเห็นว่าน้อยไปอยากหยุดยาวๆ เลยแก้ไขเองให้หยุดงานเพิ่มขึ้น ถ้านำไปยื่นกับฝ่ายบุคคลประกอบการลาป่วย การแก้ไขใบรับรองแพทย์แล้วนำมายื่นเช่นนี้ อาจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย กรณีเช่นนี้ถือเป็นการกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาต่อนายจ้าง ฐานปลอมและใช้เอกสารปลอม
การแก้ไขใบรับรองแพทย์และใช้ใบรับรองแพทย์ที่แก้ไขดังกล่าว ถือว่ามีความผิดในข้อหาปลอมเอกสาร และใช้เอกสารปลอม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 หรือ 265 ประกอบ มาตรา 268 มีโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือนถึง 5 ปี และปรับตั้งแต่ 10,000 – 100,000 บาท
ในส่วนข้าราชการ การนำใบรับรองแพทย์ปลอมไปแสดงต่อผู้บังคับบัญชา ก็อาจจะมีความผิดในข้อหาปลอมเอกสารและใช้เอกสารพยาน รวมถึงอาจจะมีโทษทางวินัยตามมาด้วย
แพทย์ที่ออกใบรับรองแพทย์โดยที่ไม่ทำการตรวจสุขภาพจริง อันนี้ก็โกงเหมือนกัน ไม่ดี จะมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 269 ผู้ประกอบการงานในวิชาแพทย์ ทำคำรับรองเป็นเอกสารอันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนผู้ที่นำเอกสารดังกล่าวไปใช้ก็จะต้องรับโทษไม่ต่างกัน
นอกจากนี้ การที่แพทย์ออกใบรับรองแพทย์โดยไม่ได้ทำการตรวจจริง ยังมีความผิดเกี่ยวกับข้อบังคับแพทยสภาที่ว่าด้วยการรักษามารยาทแห่งวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2526 หมวดที่ 3 ข้อที่ 9 กำหนดว่า ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมจะต้องไม่ออกใบรับรองอันเป็นเท็จ โดยตั้งใจหรือให้ความเห็นโดยไม่สุจริตในเรื่องที่เกี่ยวกับวิชาชีพ ซึ่งอาจจะถูกลงโทษถึงขั้นพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ หากนำใบรับรองแพทย์ปลอมดังกล่าวไปยื่นต่อศาล อาจจะมีความผิดข้อหาละเมิดอำนาจศาล ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 33 มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 500 บาท
หัดทำและดำเนินชีวิตอย่างสุจริต ตรงไปตรงมา อย่าขี้โกง คดมันกินนานซะที่ไหนเล่า จริงมั้ยครับผม
ที่มา : บางส่วนจากบทความ ปลอมใบรับรองแพทย์ ระวังติดคุก ถูกไล่ออก ไม่จ่ายสักบาท : โดย : กฤษฎ์ อุทัยรัตน์ วารสาร HR Society Magazine ปีที่ 18 ฉบับที่ 205 เดือนมกราคม 2563