11 มีนาคม 2565
เมื่อบริจาคให้แก่สถานพยาบาลของทางราชการ บุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลจะได้รับสิทธิประโยชน์ด้านภาษีอย่างไรบ้าง มาทบทวนกันครับ
การบริจาคนั้นจะทำในนามบุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคลก็ตาม หากการบริจาคกระทำในนามบุคคลธรรมดาก็มีสิทธินำไปหักลดหย่อนภาษีปลายปีได้ ทำให้เสียภาษีเงินบุคคลธรรมดาน้อยลง หากการบริจาคนั้นกระทำในบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล เงิน หรือทรัพย์สินที่นำไปบริจาคก็จะนำมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้ ทั้งนี้ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดไว้ให้รายการต่อไปนี้ ไม่ให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิในมาตรา 65 ตรี (3) ที่ได้ระบุไว้ดังนี้
“(3) รายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการส่วนตัว การให้โดยเสน่หา หรือการกุศล เว้นแต่
(ก) รายจ่ายซึ่งเป็นเงินที่บริจาคแก่พรรคการเมืองตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ให้หักได้ไม่เกินห้าหมื่นบาท ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด
(ข) รายจ่ายเพื่อการกุศล สาธารณะ หรือเพื่อการสาธารณประโยชน์ตามที่อธิบดีประกาศกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี ให้หักได้ในส่วนที่ไม่เกินร้อยละ 2 ของกำไรสุทธิ และรายจ่ายเพื่อการศึกษาหรือเพื่อการกีฬาตามที่อธิบดีประกาศกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรีให้หักได้อีกในส่วนที่ไม่เกินร้อยละ 2 ของกำไรสุทธิ
บริจาคให้แก่สถานพยาบาลของทางราชการ
สิทธิประโยชน์บริจาคให้แก่สถานพยาบาลของทางราชการ ประมวลรัษฎากรได้กำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้สําหรับการบริจาคให้แก่สถานพยาบาลของทางราชการ ที่ได้กระทําตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2561 เป็นต้นไป ดังต่อไปนี้
- สําหรับบุคคลธรรมดา ให้ยกเว้นสําหรับเงินได้พึงประเมินหลังจากหักค่าใช้จ่ายและหักลดหย่อนตามมาตรา 47 (1) (2) (3) (4) (5) หรือ (6) แห่งประมวลรัษฎากร เป็นจํานวนสองเท่าของจํานวนเงินที่บริจาค แต่เมื่อรวมกับเงินได้ที่ได้รับยกเว้นสําหรับการจ่ายเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนการศึกษา สําหรับโครงการที่กระทรวงศึกษาธิการให้ความเห็นชอบแล้ว ต้องไม่เกินร้อยละสิบของเงินได้พึงประเมินหลังจากหักค่าใช้จ่ายและ หักลดหย่อนนั้น
- สําหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ให้ยกเว้นสําหรับเงินได้เป็นจํานวน 2 เท่าของ รายจ่ายที่บริจาค ไม่ว่าจะได้จ่ายเป็นเงินหรือทรัพย์สิน แต่เมื่อรวมกับรายจ่ายที่จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนการศึกษาสําหรับโครงการที่กระทรวงศึกษาธิการให้ความเห็นชอบและรายจ่ายที่จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดสร้างและการบํารุงรักษาสนามเด็กเล่น สวนสาธารณะ หรือสนามกีฬาของเอกชนที่เปิดให้ประชาชนใช้เป็นการทั่วไปโดยไม่เก็บค่าบริการใด ๆ หรือสนามเด็กเล่น สวนสาธารณะ หรือสนามกีฬาของทางราชการแล้ว ต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของกําไรสุทธิก่อนหักรายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะหรือเพื่อการสาธารณประโยชน์ และรายจ่ายเพื่อการศึกษาหรือเพื่อการกีฬาตามมาตรา 65 ตรี (3) แห่งประมวลรัษฎากร
โดยกำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ ให้แก่บุคคลธรรมดาหรือบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สําหรับเงินได้ที่ได้รับจากการโอนทรัพย์สิน หรือการขายสินค้า หรือสําหรับการกระทําตราสารอันเนื่องมาจากการบริจาคให้แก่สถานพยาบาลของทางราชการ โดยผู้โอนจะต้องไม่นําต้นทุนของทรัพย์สินหรือสินค้า ซึ่งได้รับยกเว้นภาษีดังกล่าวมาหักเป็นค่าใช้จ่ายในการคํานวณภาษีเงินได้ของบุคคลธรรมดา หรือบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ทั้งนี้ สําหรับการบริจาคที่ได้กระทําตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2561 เป็นต้นไป และให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกําหนด
ที่มา : บทความ “สิทธิประโยชน์บริจาคให้แก่สถานพยาบาลของทางราชการ” โดย : สมเดช โรจน์คุรีเสถียร / วารสาร CPD & Account ปีที่ 17 ฉบับที่ 194 เดือนกุมภาพันธ์ 2563