เช็กด่วน! สิทธิประโยชน์ผู้ประกันตน กรณีว่างงานจากเหตุสุดวิสัย

11 มีนาคม 2565

จากสถานการณ์ความไม่ปกติจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ยืดเยื้อนานหลายเดือน สร้างผลกระทบและความเดือนร้อนทั่วทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นการปิดกิจการ การถูกเลิกจ้าง หรือการไม่มีรายได้เพราะภาวะเศรษฐกิจที่ทรุดหนัก
สำหรับนายจ้าง ลูกจ้าง และผู้ประกันตนนั้น มีสิทธิประโยชน์ และแนวทางความช่วยเหลือจากประกันสังคม กรณีว่างงานจากเหตุสุดวิสัยอย่างไรบ้าง

มาตรการช่วยเหลือผู้ประกันตนในช่วงภาวะวิกฤตจากไวรัสโควิด-19

1. ลดอัตราเงินสมทบ เป็นระยะเวลา 3 เดือน

สำหรับช่วงเดือนมีนาคม – พฤษภาคม 2563

– ลดอัตราเงินสมทบ นายจ้าง เหลือร้อยละ 4

– ผู้ประกันตนมาตรา 33 เหลือร้อยละ 1

– ผู้ประกันตนมาตรา 39 เหลือ 86 บาทต่อเดือน

2. ขยายระยะเวลานำส่งเงินสมทบของนายจ้าง และผู้ประกันตนมาตรา 33, 39

สำหรับงวดเดือนมีนาคม – พฤษภาคม ออกไปอีก 3 เดือน

– ค่าจ้างเดือน มีนาคม 2563 ให้นำส่งภายใน 15 กรกฎาคม 2563

– ค่าจ้างเดือน เมษายน 2563 ให้นำส่งภายใน 15 สิงหาคม 2563

– ค่าจ้างเดือน พฤษภาคม 2563 ให้นำส่งภายใน 15 กันยายน 2563

3. เพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานเนื่องจากเหตุสุดวิสัย

ให้ได้รับเงินว่างงานร้อยละ 62 ของค่าจ้างรายวัน ไม่เกิน 90 วัน

– กรณีผู้ประกันตนไม่ได้ทำงาน หรือนายจ้างไม่ให้ทำงานกักตัว 14 วัน เนื่องจากสัมผัสหรือใกล้ชิดผู้ติดเชื้อโควิด-19

– กรณีผู้ประกันตน ไม่สามารถทำงานได้และไม่ได้รับค่าจ้างในระหว่างนั้น ไม่ว่านายจ้างจะหยุดประกอบกิจการเอง หรือหยุดประกอบกิจการตามคำสั่งของทางราชการ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดต่ออันตราย

*** สิทธิประโยชน์กรณีว่างงานเฉพาะผู้ประกันตนมาตรา 33 เท่านั้น

4. เพิ่มเงินทดแทนการขาดรายได้กรณีว่างงาน (บังคับใช้ 2 ปี)

– ผู้ประกันตนที่ลาออก รับเงินกรณีว่างงานร้อยละ 45 ของค่าจ้างไม่เกิน 90 วัน

– ผู้ประกันตนที่ถูกเลิกจ้าง รับเงินกรณีว่างงานร้อยละ 70 ของค่าจ้าง ไม่เกิน 200 วัน

 

 

ทั้งนี้ในสถานการณ์โควิด-19 ที่ยังไม่พ้นช่วงวิกฤติ จึงขอขยายความในส่วนของมาตรการที่ 3 การเพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานเนื่องจากเหตุสุดวิสัย โดยสรุปจากกฎกระทรวง เรื่องการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัย อันเกิดจากการระบาดของโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ พ.ศ. 2563 ดังนี้

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 7 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 และมาตรา 79/1 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2558 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ในกฎกระทรวงนี้ “เหตุสุดวิสัย” หมายความรวมถึง ภัยอันเกิดจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือโรคติดต่ออันตรายอื่นตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อซึ่งมีผลกระทบต่อสาธารณชน และถึงขนาดที่ผู้ประกันตนไม่สามารถทำงานได้หรือนายจ้างไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติ

ข้อ 2 ให้ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนที่มีสิทธิ์ได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัย มีสิทธิ์ได้รับประโยชน์ทดแทนตามกฎกระทรวงนี้

ข้อ 3 ในกรณีมีเหตุสุดวิสัย และลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนที่มีสิทธิ์ได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงาน ไม่ได้ทำงานหรือนายจ้างไม่ให้ทำงานเนื่องจากต้องกักตัวหรือเฝ้าระวังการระบาดของโรค

ให้ลูกจ้างดังกล่าวซึ่งไม่ได้รับค่าจ้างมีสิทธิ์ได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงาน ในอัตราร้อยละหกสิบสองของค่าจ้างรายวัน โดยให้ได้รับตลอดระยะเวลาที่ผู้ประกันตนไม่ได้ทำงาน หรือนายจ้างไม่ให้ทำงาน แต่ไม่เกินเก้าสิบวัน

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2563 ถึงวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2563 หรือตามระยะเวลาที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี

ข้อ 4 ในกรณีมีเหตุสุดวิสัย ถึงขนาดที่นายจ้างต้องหยุดประกอบกิจการไม่ว่าทั้งหมดหรือแต่บางส่วนเป็นการชั่วคราว และลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนที่มีสิทธิ์ได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานไม่สามารถทำงานได้และไม่ได้รับค่าจ้างในระหว่างนั้น

ไม่ว่านายจ้างจะหยุดประกอบกิจการเองหรือหยุดประกอบกิจการตามคำสั่งของทางราชการ ตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อหรือกฎหมายว่าด้วยการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินก็ตาม

ให้ลูกจ้างดังกล่าวซึ่งไม่ได้รับค่าจ้างมีสิทธิ์ได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงาน ในอัตราร้อยละหกสิบสองของค่าจ้างรายวัน โดยให้ได้รับตลอดระยะเวลาที่นายจ้างหยุดประกอบกิจการ แต่ไม่เกินเก้าสิบวัน

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2563 ถึงวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2563 หรือตามระยะเวลาที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี

ข้อ 5 การจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานตามข้อ 3 และข้อ 4 ให้จ่ายเป็นรายเดือน สำหรับเศษของเดือนให้คำนวณจ่ายเป็นรายวัน และให้นำบทบัญญัติมาตรา 57 วรรคหนึ่งแห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2558 มาใช้บังคับแก่การคำนวณค่าจ้างรายวัน เพื่อการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานด้วยโดยอนุโลม

ข้อ 6 ให้สำนักงานงดการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยแก่ผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนเมื่อ

(1) ผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนลาออกจากงานหรือถูกเลิกจ้าง โดยให้สิ้นสุดการรับประโยชน์ทดแทนตั้งแต่วันที่ผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนได้ลาออกจากงานหรือถูกเลิกจ้าง

(2) ผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนได้สิ้นสภาพการเป็นลูกจ้างเนื่องจากสัญญาจ้างได้สิ้นสุดลงโดยให้สิ้นสุดการรับประโยชน์ทดแทนตั้งแต่วันที่สัญญาจ้างแรงงานได้สิ้นสุดลง

ข้อ 7 ให้นายจ้างออกหนังสือรับรองการขอรับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยซึ่งอย่างน้อยต้องมีรายการตามหนังสือรับรองที่แนบท้ายกฎกระทรวงนี้

การออกหนังสือรับรองตามวรรคหนึ่ง นายจ้างอาจจัดทำในรูปแบบข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์และส่งโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ก็ได้ แต่ต้องเก็บข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ที่เกี่ยวข้องไว้เป็นหลักฐาน

ที่มาข้อมูลกฎกระทรวง http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2563/A/029/T_0008.PDF

 

วิธีการยื่นขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานจากเหตุสุดวิสัย

1. ผู้ประกันตน

สามารถดำเนินการได้ 2 ช่องทาง ดังนี้

– ช่องทางออนไลน์

ผู้ประกันตนสามารถเข้าหน้าเว็บไซต์ www.sso.go.th หัวข้อขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน Online (e-form for sso benefits) โดยผู้ประกันตนต้องกรอกแบบขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานจากเหตุสุดวิสัย

– ติดต่อสำนักงานประกันสังคม

ผู้ประกันตนสามารถดาวน์โหลดแบบขอรับผลประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน (สปส.2-01/7) ที่เว็บไซต์ www.sso.go.th เพื่อพิมพ์แบบออกมากรอกข้อมูล พร้อมสำเนาหน้าบัญชีธนาคาร

โดยจัดส่งตามช่องทางต่อไปนี้ คือ ส่งเอกสารทางไปรษณีย์ตอบรับ หรือส่งเอกสารทางโทรสาร (FAX) ของสำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานคร หรือจังหวัด หรือสาขากำหนด

2. นายจ้าง

นายจ้างต้องกรอกแบบรับรองการปิดกิจการ จากเหตุสุดวิสัยโควิด-19 ทางเว็บไซต์สำนักงานประกันสังคม www.sso.go.th หรือจะติดต่อสำนักงานประกันสังคมในพื้นที่

 

การรับสิทธิประโยชน์จากส่วนต่างๆ ผู้รับสิทธิควรเช็กข้อมูลรายละเอียดต่างๆ อย่างถี่ถ้วน เพื่อลดระยะเวลาการรอคอยและเสียสิทธิในภายหลัง รวมทั้งคอยติดตามสถานการณ์ ข่าวสารที่เป็นประโยชน์แก่ตนเองอย่างต่อเนื่อง จะทำให้มีแนวทางที่สามารถก้าวผ่านสถานการณ์วิกฤตินี้ไปได้

 

ผลวิเคราะห์กระแสในโลกออนไลน์

ในช่วงสถานการณ์โควิดนี้ มาดูกระแสบนโลกออนไลน์กันว่ามีการพูดถึงหรือค้นหา “สิทธิผู้ประกันตน” อย่างไร โดยเราใช้เครื่องมือที่มีชื่อว่า Zanroo Search ใช้ในการค้นหา พบว่ามีการพูดถึงกันมากบนโลกออนไลน์ โดยใช้ค้นหาข้อมูล ตั้งแต่วันที่ 14 เมษายน – 13 พฤษภาคม 2563 ช่วงวันที่มีการพูดถึงเรื่องสิทธิผู้ประกันตนมากที่สุด คือ ช่วงวันที่ 30 เมษายน 2563 โดยส่วนใหญ่พูดถึงผ่านช่องทาง News

 

 

โดยมีการพูดถึง “สิทธิผู้ประกันตน” ทั้งหมด 20 ข้อความ ซึ่งช่องทางที่มีการเคลื่อนไหวมากที่สุดคือ News จำนวน 8 ข้อความ

 

 

จะเห็นได้ว่า เนื้อหาที่ได้รับความนิยมและผู้คนมีส่วนร่วมมากที่สุด มาจากช่องทาง Facebook โดยเป็นเรื่องที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการขยายสิทธิ ผู้ประกันตน ม.33 ซึ่งมีการเข้าชมมากกว่า 313 ครั้ง

 

ส่วนในด้าน Keyword ที่มีการค้นหามากที่สุดเกี่ยวกับ “สิทธิผู้ประกันตน” ใน 5 อันดับแรก ได้ค้นหาถึงคีย์หลักคำว่า “ระบาดของโรคติดเชื้อ” เป็นส่วนใหญ่ รองลงมาคือ “ประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน”

 

นอกจากนั้น เครื่องมือ Zanroo ยังสามารถบอกได้อีกว่า แต่ละ Channel ที่มีการพูดถึง “สิทธิผู้ประกันตน” นั้น ผู้โพสต์หรือผู้มีส่วนรวม มีความรู้สึกหรือความคิดเห็นอย่างไรบ้าง ซึ่งจากภาพแสดงได้ว่าผู้คนมีการกดไลค์ คอมเมนต์ และกดแชร์เป็นส่วนใหญ่ และยังสามารถดูความรู้สึกได้จาก Emoji ได้อีกด้วย

 

 

และสุดท้าย โพสต์ที่เกี่ยวข้องจะเป็นของ สำนักข่าว ThaiQuote มีทั้งหมด 1 โพสต์ และส่วนของ Influencer นั้น อันดับ 1 คือ Kapook ที่ผู้คนมีส่วนร่วมมากถึง 313 ข้อความต่อโพสต์

 

 

สุดท้าย ต้องขอขอบคุณสำหรับเครื่องมือ Zanroo Search ที่ช่วยให้การค้นหาข้อมูลและการเปรียบเทียบเพื่อทำการตลาดที่ง่ายขึ้น หากใครที่สนใจสามารถทดลองใช้งานได้ที่ https://www.zanroo.com/

tag

Copyright ©2024  dharmniti.co.th All rights reserved.

Log in with your credentials

Forgot your details?