23 กรกฎาคม 2563
สาระสำคัญเกี่ยวกับ “เวลา” และ ผลที่เกิดขึ้นหากไม่ปฏิบัติตามเวลาที่กฎหมายประกันสังคมและกฎหมายเงินทดแทน เพื่อย้ำเตือนให้นายจ้าง ลูกจ้าง ผู้ประกันตนระมัดระวังและปฏิบัติอย่างเคร่งครัด
สำหรับเวลาในการในการปฏิบัติตามกฎหมายประกันสังคม ที่นายจ้างและผู้ประกันตน ควรใส่ใจ….ได้แก่
1. เวลาในการยื่นแบบขึ้นทะเบียนนายจ้าง
กองทุนประกันสังคม :
นายจ้างต้องยื่นแบบรายการขึ้นทะเบียนนายจ้างภายใน 30 วันนับแต่มีลูกจ้างเพื่อให้ลูกจ้างที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปีบริบูรณ์และไม่เกิน 60 ปีบริบูรณ์ ได้เป็นผู้ประกันตน (มาตรา 33 และมาตรา 34)
กองทุนเงินทดแทน :
นายจ้างต้องยื่นแบบรายการขึ้นทะเบียนนายจ้าง ภายใน 30 วันนับแต่วันที่นายจ้างมีหน้าที่ต้องจ่ายเงินสมทบ (ม. 44 วรรคสอง)
2. เวลาแจ้งเปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริงภายหลังจากยื่นแบบขึ้นทะเบียนนายจ้างแล้ว
กองทุนประกันสังคม :
นายจ้างต้องแจ้งเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขเพิ่มเติมรายการ ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดจากเดือนที่มีการเปลี่ยนแปลง (ม. 44 วรรคหนึ่ง)
กองทุนเงินทดแทน :
นายจ้างมีหน้าที่แจ้งเปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริงหรือแก้ไขเพิ่มเติมรายการ ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดจากเดือนที่มีการเปลี่ยนแปลง (ม. 44 วรรคสาม)
3. เวลานำส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมและกองทุนเงินทดแทน
กองทุนประกันสังคม :
นายจ้างมีหน้าที่นำส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมทุกเดือน ทั้งในส่วนของนายจ้างและส่วนของผู้ประกันตนตามมาตรา 33 (ลูกจ้างในสถานประกอบการ) ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดจากเดือนที่นายจ้างหักเงินค่าจ้างของลูกจ้างไว้
กองทุนเงินทดแทน :
นายจ้างต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมปีละ 1 ครั้ง โดยครั้งแรกภายใน 30 วันนับแต่วันที่นายจ้างมีหน้าที่ต้องจ่ายเงินสมทบ (ม.44 วรรคสอง) และในปีถัดไปนายจ้างต้องจ่ายเงินสมทบในเดือนมกราคมของทุกปี
4. เวลาในการขอรับเงินคืน ในกรณีที่นายจ้างหรือผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมเกินจำนวนที่ต้องชำระ
กองทุนประกันสังคม :
เช่น ในกรณีที่ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ทำงานกับนายจ้างหลายราย จะต้องขอรับเงินสมทบคืนภายใน 1 ปี นับแต่วันที่นำส่งเงินสมทบ และจะต้องมารับเงินภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ได้รับแจ้งให้มารับเงิน (ม.47 วรรคสี่)
กองทุนเงินทดแทน :
เดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี นายจ้างต้องแจ้งจำนวนเงินค่าจ้างของลูกจ้างทั้งหมดของปีที่ล่วงมาแล้ว และเจ้าหน้าที่ได้คำนวณเงินสมทบที่ถูกต้องแล้ว หากมีเงินที่จะต้องคืนให้นายจ้างสำนักงานต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน และนายจ้างสามารถขอคืนได้ หรือจ่ายเป็นเงินสมทบในปีต่อไป
5.เวลาในการยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนจากกองทุนประกันสังคมและกองทุนเงินทดแทน
กองทุนประกันสังคม :
ผู้ประกันตนที่มีสิทธิจะได้รับประโยชน์ทดแทนจากกองทุนประกันสังคมในกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย กรณีคลอดบุตร กรณีทุพพลภาพ กรณีตาย กรณีสงเคราะห์บุตร กรณีชราภาพและกรณีว่างงาน (ยกเว้น ผู้ประกันตนตามมาตรา 39) ต้องยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนต่อสำนักงานประกันสังคมภายใน 2 ปี นับแต่วันที่มีสิทธิ (เดิม กฎหมายกำหนด 1 ปี ต่อมาได้แก้ไขเป็น 2 ปี
ตามมาตรา 56 กฎหมายประกันสังคม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2558)
กองทุนเงินทดแทน :
ลูกจ้างที่ประสบอันตราย เจ็บป่วยหรือสูญหาย เนื่องจากการทำงาน ต้องขอรับเงินทดแทน ( คือ เงินที่จ่ายเป็นค่าทดแทน ค่ารักษาพยาบาล ค่าฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงานและค่าทำศพ) ภายใน 180 วันนับแต่วันที่ประสบอันตราย เจ็บป่วย หรือสูญหาย (คือ การที่ลูกจ้างหายไประหว่างการทำงานเพราะประสบเหตุอันตราย มีเหตุอันควรเชื่อว่าตาย เป็นเวลา 120 วันนับแต่วันเกิดเหตุ) หรือหากการเจ็บป่วยเกิดหลังสิ้นสภาพการเป็นลูกจ้าง ให้ยื่นคำร้องภายใน 2 ปี นับแต่วันที่ทราบการเจ็บป่วย (ม. 49)
ที่มา : จากบทความ ““เวลา” ในการปฏิบัติตามกฎหมาย…นายจ้างและผู้ประกันตนต้องใส่ใจ” โดย : ปรานี สุขศรี วารสาร HR Society Magazine ปีที่ 18 ฉบับที่ 208 เดือนเมษายน 2563