ลูกจ้างควรรู้! รักษาสิทธิประโยชน์อย่างไรเมื่อถูกกดดันให้เขียนใบลาออก

11 มีนาคม 2565

ในสถานการณ์ที่ภาวะเศรษฐกิจยังอยู่ขั้นที่เรียกว่าไม่ปกติ หลายบริษัทอาจได้เรียนรู้ และปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์และสามารถอยู่รอดได้โดยไม่กระทบกับรายได้และบุคลากรของบริษัทมากนัก แต่ก็ยังมีหลายบริษัทที่อาจปรับตัวไม่ได้ และได้รับผลกระทบหนักถึงขั้นต้องลดต้นทุนในทุกๆ ด้าน เพื่อเลี่ยงการปิดตัวในที่สุด

การปรับตัวเพื่ออยู่รอดของบริษัทอาจมีผลต่อการจ้างงาน ซึ่งบางบริษัทอาจทำการเลิกจ้างแล้วจ่ายค่าชดเชยกับลูกจ้าง แต่บางบริษัทก็มีโครงการให้พนักงานลาออกโดยสมัครใจ พร้อมข้อตกลงเรื่องเงินชดเชย หรือที่ร้ายแรงที่สุดคือบางบริษัทอาจใช้วิธีกดดัน บีบบังคับให้พนักงานทนไม่ไหวแล้วลาออกไปเองเพื่อเลี่ยงการจ่ายเงินชดเชยการเลิกจ้าง

ดังนั้นมาดูกันว่าลักษณะการลาออกของพนักงานแต่ละประเภทนั้นมีความแตกต่างกันอย่างไร และมีสิทธิประโยชน์พึงได้อะไรบ้างที่ลูกจ้างควรรู้

การลาออกคืออะไร?

การลาออก คือการบอกเลิกสัญญาจ้างโดยลูกจ้าง ซึ่งเมื่อการแสดงเจตจำนงพร้อมเอกสารการลาออกต่อนายจ้างหรือผู้แทนนายจ้างเป็นที่รับทราบแล้วถือว่าสัญญาจ้างงานนั้นๆ สิ้นสุดลง และไม่ได้อยู่ในสถานะนายจ้าง-ลูกจ้างอีกต่อไป

 

ประเภทของการออกจากงาน

การออกจากงานมีหลายกรณีทั้งที่พนักงาน ลูกจ้างสมัครใจออกเอง หรืออาจถูกเลิกจ้างจากบริษัทด้วยกรณีต่างๆ ซึ่งมีผลต่อการจ่ายค่าชดเชยและการรับสิทธิประโยชน์จากประกันสังคม โดยแบ่งลักษณะออกจากงานดังนี้

1. การถูกเลิกจ้าง

การถูกเลิกจ้างเป็นสถานการณ์ที่มนุษย์เงินเดือนทุกคนไม่อยากพบเจอ เพราะบางครั้งอาจเกิดขึ้นโดยไม่ตั้งตัว และหลายคนยังไม่มีการเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์นี้

การถูกเลิกจ้างนั้นหากเกิดขึ้นโดยความผิดของลูกจ้าง แม้จะเกิดขึ้นอย่างกะทันหันแต่บริษัทก็มีสิทธิที่จะไม่ต้องจ่ายเงินชดเชยใดๆ ในทางกลับกันหากการเงิกจ้างเกิดขึ้นเนื่องมาจากไม่ใช่ความผิดของลูกจ้าง แต่อาจเป็นเพราะภาวะทางเศรษฐกิจทำให้ต้องลดค่าใช้จ่าย กรณีนี้บริษัทจะต้องจ่ายเงินชดเชยให้กับลูกจ้าง

โดยการจ่ายเงินชดเชยจะเป็นไปตามข้อกำหนดกฎหมายแรงงานเกี่ยวกับการเลิกจ้างตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 ซึ่งพิจารณาอัตราค่าชดเชยตามอายุงานตามตารางอัตราการจ่ายค่าชดเชยคำนวณตามอายุงานของลูกจ้าง

อัตราการจ่ายค่าชดเชยคำนวณตามอายุงานของลูกจ้าง

ข้อยกเว้นที่บริษัทไม่ต้องจ่ายเงินค่าชดเชยแก่ลูกจ้าง

• ลูกจ้างลาออกเองโดยสมัครใจ

• สัญญาว่าจ้างมีกำหนดระยะเวลาที่แน่นอน และการเลิกจ้างเกิดขึ้นเพราะสิ้นสุดตามกำหนดในสัญญา

นอกจากเงินชดเชยที่ลูกจ้างจะได้รับจากนายจ้างแล้ว ยังมีสิทธิได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้กรณีว่างงานจากการถูกเลิกจ้าง โดยสามารถยื่นเรื่องได้กับประกันสังคม ซึ่งในช่วงนี้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดจากโควิด-19 สามารถอ่านรายละเอียดเงินชดเชยจากประกันสังคมได้ที่ https://bit.ly/2zC7kNS

2. การลาออกเอง

การลาออกเอง ตามเจตจำนงของลูกจ้างประจำนั้น สามารถทำได้เมื่อไรก็ได้เพราะไม่มีกำหนดระยะเวลาการจ้าง และในทางกฎหมายไม่ได้บังคับว่าต้องแจ้งลาออกล่วงหน้า 30 วัน แต่ทางบริษัทมักกำหนดไว้เพื่อให้มีเวลาในการจัดหาคนมาทดแทน และให้พนักงานจัดการงานส่วนที่ตยเองรับผิดชอบ พร้อมโอนงานให้กับคนที่มาทำแทน

เมื่อลูกจ้างยื่นจดหมายลาออกเป็นลายลักษณ์อักษรและนายจ้างรับทราบแล้ว ถือว่าการลาออกนั้นเสร็จสิ้นสมบูรณ์

การลาออกเองลูกจ้างจะไม่มีสิทธิได้รับเงินค่าชดเชยจากบริษัท แต่มีสิทธิขอรับเงินทดแทนกรณีว่างงานจากประกันสังคมได้ตามเงื่อนไขที่กำหนด

 

3. การลาออกตามโครงการลาออกโดยสมัครใจ

การลาออกตามโครงการลาออกโดยสมัครใจ ถือเป็นการลาออกที่เป็นไปตามข้อตกลงที่ทำร่วมกันระหว่างบริษัทและพนักงาน ซึ่งไม่ใช่การใช้อำนาจในการบอกเลิกจ้างของนายจ้างฝ่ายเดียว โดยบริษัทจะมีการจ่ายเงินชดเชยให้กับพนักงาน แต่จำนวนจ่ายจะไม่เท่ากับการเลิกจ้าง

หากบริษัทตั้งโครงการลาออกโดยสมัครใจขึ้นมาโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อปรับลดอัตราการจ้างพนักงานลง สิทธิที่พนักงานจะได้รับเมื่อลาออกตามโครงการนี้ จะมีสิทธิได้รับเงินชดเชยเท่ากับกรณีว่างงานจากการถูกเลิกจ้าง ซึ่งเป็นไปตามที่ประกันสังคมกำหนด

4. การลาออกเพราะถูกกดดันให้เขียนใบลาออก

การลาออกโดยที่ลูกจ้างถูกนายจ้างกดดัน หรือถูกบังคับให้เขียนใบลาออกโดยไม่สมัครใจนั้น ในทางกฎหมายนายจ้างไม่สามารถทำได้ และลูกจ้างมีสิทธิที่จะปฏิเสธเพราะมีกฎหมายแรงงานคุ้มครองอยู่

การถูกบีบบังคับให้ลาออกโดยลูกจ้างไม่ได้ยินยอม ตามกฎหมายจะถือว่าการลาออกนั้นเป็นโมฆียะ และเป็นการออกจากงานโดยการเลิกจ้าง ซึ่งนายจ้างจะต้องจ่ายค่าชดเชยกรณีเลิกจ้างตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น

หากลูกจ้างไม่ได้รับเงินชดเชยตามระยะเวลาที่กำหนด จะถือเป็นการเข้าข่ายการเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรมต่อ ซึ่งลูกจ้างสามารถยื่นเรื่องร้องเรียนกับพนักงานตรวจแรงงานได้ที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานของแต่ละจังหวัด ส่วนกรุงเทพมหานครสามารถยื่นได้ที่กลุ่มงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน

 

 

ลำหรับลูกจ้างแล้ว ไม่ว่าการออกจากงานนั้นจะเกิดขึ้นโดยความตั้งใจและและสมัครใจลาออกเอง หรือเกิดจากการเลิกจ้าง หรือถูกบังคับให้ลาออก สิ่งที่ควรเตรียมพร้อมคือการหาแนวทางตั้งรับอย่างครอบคลุม เพื่อรักษาสิทธิประโยชน์พึงได้ และให้มีทางออกในการทำงานและการดำเนินชีวิตในสถานการณ์ไม่ปกตินี้ให้เป็นไปอย่างราบรื่น

 

ข้อมูลอ้างอิง
www.mol.go.th

tag

Copyright ©2024  dharmniti.co.th All rights reserved.

Log in with your credentials

Forgot your details?