11 มีนาคม 2565
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการปรับหลักเกณฑ์และเงื่อนไข “โครงการสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยแห่งรัฐ (โครงการบ้านล้านหลัง)” สำหรับลูกค้ารายย่อย (Post Finance)
จากเดิมโครงการบ้านล้านหลังของธนาคารอาคารสงเคราะห์กำหนดราคาซื้อขายและวงเงินกู้สูงสุดต่อรายไม่เกิน 1 ล้านบาท ก็ได้ปรับเพิ่มราคาซื้อขายไม่เกิน 1.2 ล้าน บาท/หน่วย และวงเงินกู้สูงสุดต่อรายต่อหลักประกันไม่เกิน 1.2 ล้านบาท รวมถึงแก้ไขเพิ่มเติมบัญชีประเภทกิจการที่ให้การส่งเสริมการลงทุนโดยกำหนดให้กิจการที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยได้รับสิทธิประโยชน์เฉพาะการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นระยะเวลา 3 ปี หากทำตามเงื่อนไขที่กำหนด
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการปรับหลักเกณฑ์และเงื่อนไข “โครงการสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยแห่งรัฐ (โครงการบ้านล้านหลัง)” สำหรับลูกค้ารายย่อย (Post Finance) ของธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เพื่อสนับสนุนการลงทุนในกิจการที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยตามประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ที่ ส. 2/2563 เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติมบัญชีประเภทกิจการที่ให้การส่งเสริมการลงทุนตามประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนที่ 2/2557 ลงวันที่ 11 มีนาคม 2563 (ประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนฯ) ซึ่งจะทำให้ประชาชนมีทางเลือก ที่หลากหลายและสามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนได้มากยิ่งขึ้น ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
กค. รายงานว่า
1.ผลการดำเนินโครงการบ้านล้านหลัง ณ วันที่ 13 เมษายน 2563 ธอส. มียอดอนุมัติสินเชื่อแก่ลูกค้ารายย่อย (Post Finance) จำนวน 25,930 ราย เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 18,429.11 ล้านบาท
โดยแบ่งเป็น
1) กลุ่มรายได้ต่อเดือนต่อคนไม่เกิน 25,000 บาท จำนวน 21,495 ราย เป็นจำนวนเงิน 15,271.17 ล้านบาท และ
2) กลุ่มรายได้ต่อเดือนต่อคนเกิน 25,000 บาท จำนวน 4,435 ราย เป็นเงินจำนวน 3,157.94 ล้านบาท
[ข้อมูลณ วันที่ 1 มิถุนายน 2563 ธอส. มียอดอนุมัติสินเชื่อแก่ลูกค้ารายย่อย จำนวน 27,614 ราย เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 19,632.12 ล้านบาท แบ่งเป็น (1) กลุ่มรายได้ต่อเดือนต่อคนไม่เกิน 25,000 บาท จำนวน 22,862 ราย เป็นจำนวนเงิน 16,265.38 ล้านบาท และ (2) กลุ่มรายได้ต่อเดือนต่อคนเกิน 25,000 บาท จำนวน 4,752 ราย เป็นจำนวนเงิน 3,366.74 ล้านบาท]
2. คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนได้ออกประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนฯ เพื่อแก้ไขเพิ่มเติมบัญชีประเภทกิจการที่ให้การส่งเสริมการลงทุนโดยกำหนดให้กิจการที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยได้รับสิทธิประโยชน์เฉพาะการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นระยะเวลา 3 ปี
โดยมีเงื่อนไขสำคัญ คือ
กรณีที่อยู่อาศัยที่ขอรับการส่งเสริมตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานคร นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร ต้องจำหน่ายราคาต่อหน่วยไม่เกิน 1.2 ล้านบาท (รวมค่าที่ดิน) และกรณีที่ตั้งอยู่ในจังหวัดอื่นต้องจำหน่ายราคาหน่วยละไม่เกิน 1 ล้านบาท โดยที่อยู่อาศัยดังกล่าวจะต้องจำหน่ายให้แก่บุคคลธรรมดาเท่านั้น
ทั้งนี้เพื่อส่งเสริมกิจการที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย และเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อยสามารถมีที่อยู่อาศัยที่มีมาตรฐานเป็นของตนเอง เพิ่มทางเลือกในด้านทำเลที่ตั้ง สภาพแวดล้อมของชุมชน และระดับราคาที่เหมาะสม รวมทั้งเป็นการสนับสนุนโครงการบ้านล้านหลัง
3.เพื่อให้การกำหนดราคาที่อยู่อาศัยตามโครงการบ้านล้านหลังเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันและเพื่อสนับสนุนการส่งเสริมการลงทุนของกิจการที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยและส่งเสริมให้ผู้มีรายได้น้อยมีที่อยู่อาศัยที่ตรงตามความต้องการเป็นของตนเอง รวมถึงเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการภาคเอกชนในการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยให้ได้รับสิทธิประโยชน์ตามประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนฯ (ตามข้อ 2) ซึ่งจะเป็นการกระตุ้นการลงทุนในกิจการที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยทำให้มีที่อยู่อาศัยในระดับราคาที่หลากหลายสามารถตอบสนองความต้องการของผู้จองสิทธิโครงการบ้านล้านหลังที่ยังไม่สามารถหาที่อยู่อาศัยในระดับราคาที่ต้องการได้ ธอส. จึงได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของโครงการบ้านล้านหลังสำหรับลูกค้ารายย่อย (Post Finance) ให้สอดคล้องกับประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนฯ ซึ่งคณะกรรมการธนาคารอาคารสงเคราะห์ได้ให้ความเห็นชอบแล้ว ดังนี้
3.1 ปรับปรุงการกำหนดราคาซื้อขายหลักประกัน จากเดิม “กำหนดราคาซื้อขายไม่เกิน 1 ล้านบาทต่อหน่วย” เป็น “กำหนดราคาซื้อขายไม่เกิน 1.2 ล้านบาทต่อหน่วย”
3.2 ปรับปรุงการกำหนดวงเงินกู้ จากเดิม “กำหนดวงเงินกู้สูงสุดต่อรายต่อหลักประกันไม่เกิน 1 ล้านบาท” เป็น “กำหนดวงเงินกู้สูงสุดต่อรายได้ต่อหลักประกันไม่เกิน 1.2 ล้านบาท”
4.การปรับปรุงหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในครั้งนี้ ไม่กระทบต่อภาระการชดเชยส่วนต่างระหว่างรายได้ดอกเบี้ยรับตามแผนวิสาหกิจของ ธอส. กับรายได้ดอกเบี้ยรับจากโครงการบ้านล้านหลังของรัฐบาลซึ่งคณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบแล้ว เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2561 และวันที่ 12 มีนาคม 2562 เนื่องจากกรอบวงเงินและอัตราดอกเบี้ยของลูกค้าแต่ละกลุ่มไม่เปลี่ยนแปลง จึงไม่ต้องปรับปรุงรายละเอียดข้อมูลที่หน่วยงานของรัฐต้องเสนอพร้อมกับการขออนุมัติต่อคณะรัฐมนตรีตามมาตรา 27 และมาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561
ที่มา : สรุปข่าวการประชุมคณะรัฐมนตรี 16 มิถุนายน 2563
https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/32359