11 มีนาคม 2565
อีกเรื่องสำคัญที่ผู้ประกันตนในกองทุนประกันสังคมอาจละเลยต่อการรักษาสิทธิที่พึงได้รับความคุ้มครองจาก “กองทุนประกันสังคม” ก็คือการทำหนังสือ “ระบุผู้มีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์กรณีตายหรือเงินบำเหน็จชราภาพ” ซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาในการรับสิทธิประโยชน์ภายหลังได้
จากการแพร่ระบาดของไวรัส covid-19 บริษัทประกันภัยได้ออกแคมเปญเพื่อการคุ้มครองผู้ที่อาจต้องเผชิญกับเชื้อ Covid-19 ด้วยการเชิญชวนประชาชนทั่วไปทำประกันสุขภาพในกรณีที่เจ็บป่วยหรือตายจากการติดเชื้อ และจากแคมเปญนี้เองทำให้ผู้เขียนมีข้อห่วงใยผู้ประกันตนที่อาจละเลยต่อการรักษาสิทธิที่พึงได้รับความคุ้มครองจาก “กองทุนประกันสังคม”
ซึ่งก็คือการทำหนังสือ “ระบุผู้มีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์กรณีตายหรือเงินบำเหน็จชราภาพ” ในกรณีที่ผู้ประกันตนถึงแก่ความตาย ไม่ว่าการตายนั้นจะเกิดจากการติดเชื้อหรือตายเพราะเหตุใดๆ ก็ตาม (ยกเว้น การตายเนื่องจากการทำงานให้กับนายจ้าง หรือตายเพราะทำงานตามคำสั่งของนายจ้าง หรือตายเพราะการรักษาประโยชน์ให้กับนายจ้าง) โดยผู้ประกันตนไม่ต้องเสียเงินซื้อประกันอีกเพราะผู้ประกันตนได้จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมแล้วเป็นประจำทุกเดือน
ดังนั้น ผู้เขียนจึงอยากจะขอย้ำเตือนผู้ประกันตนให้รักษาสิทธิตามที่กฎหมายกำหนดไว้ 2 ประการ
ประการแรก ให้ขอรับสิทธิประโยชน์ให้ครบถ้วน
โดยถ้าผู้ประกันตนถึงแก่ความตาย ทายาทผู้มีสิทธิจะได้รับเงินจากกองทุนประกันสังคม 3 ประเภท
• ประเภทที่ 1 เงินค่าทำศพ
เป็นการจ่ายเพื่อช่วยเหลือในการจัดการศพของผู้ประกันตน จำนวน 40,000 บาท โดยเงินค่าทำศพนี้จะจ่ายให้กับบุคคลที่มีหลักฐานการจัดการศพและได้จัดการศพของผู้ประกันตน เช่น หลักฐานใบฌาปนกิจที่ปรากฏชื่อผู้ที่ได้เข้ามาจัดการศพตามประเพณีทางศาสนาของผู้ประกันตน (เช่น การเผาศพ การฝังศพ) เป็นต้น
• ประเภทที่ 2 เงินสงเคราะห์แก่ทายาท
จำนวนเงินที่จะได้รับขึ้นอยู่กับระยะเวลาการจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมและค่าจ้างที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบของผู้ประกันตนแต่ละคน
ทายาทผู้มีสิทธิ คือ บุคคลซึ่งผู้ประกันตนทำหนังสือระบุให้เป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์ฯ (ทำประกัน) แต่ถ้าผู้ประกันตนมิได้มีหนังสือระบุไว้ก็ให้นำมาเฉลี่ยจ่ายให้แก่ สามีหรือภริยา บิดามารดา หรือบุตรของผู้ประกันตนในจำนวนที่เท่ากัน การที่กฎหมายกำหนดทายาทผู้มีสิทธิรับเงินสงเคราะห์กรณีตายไว้เช่นนี้ มีสาระสำคัญทางกฎหมายที่ผู้ประกันตนจะต้องรู้ คือ หากก่อนถึงแก่ความตาย ผู้ประกันตนได้ทำหนังสือระบุไว้ให้บุคคลใดเป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์ฯ สามีหรือภริยา บิดามารดา หรือบุตรของผู้ประกันตนจะไม่ได้รับเงินสงเคราะห์ฯ นี้เลย
และหากก่อนถึงแก่ความตาย ผู้ประกันตนไม่มีสามีหรือภริยา บิดามารดา หรือบุตร และไม่ได้ทำหนังสือระบุให้บุคคลใดเป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์ฯ ถือว่าไม่มีทายาทผู้มีสิทธิ ดังนั้นกองทุนประกันสังคมจะไม่มีอำนาจจ่ายเงินให้กับบุคคลอื่นใด เช่น ผู้ประกันตนมีบุตรบุญธรรมหรือมีหลานที่ให้การอุปการะเลี้ยงดู มีพี่น้องร่วมบิดา มารดา ลุง ป้า น้า อา ฯลฯ บุคคลเหล่านี้จะไม่มีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์ฯ
จึงมีข้อย้ำเตือนว่าถ้าผู้ประกันตนที่ไม่มีสามีหรือภริยา บิดามารดา หรือบุตร ต้องทำหนังสือระบุผู้มีสิทธิรับเงินสงเคราะห์ฯ ไว้
• ประเภทที่ 3 เงินชราภาพ
การจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมของผู้ประกันตนและนายจ้างแต่ละเดือน ส่วนหนึ่งจะเป็น “เงินออม” ที่ผู้ประกันตนมีสิทธิได้รับเงินคืน เมื่อ..
1) ความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง (ตายหรือถูกเลิกจ้างหรือลาออกจากงานหรือสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 เพราะลาออกหรือไม่จ่ายเงินสมทบตามเวลาที่กฎหมายกำหนด)
2) อายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ ในกรณีที่ผู้ประกันตนถึงแก่ความตาย ถือว่าสิ้นสภาพความเป็นบุคคลตามกฎหมาย ดังนั้นเงื่อนไขเรื่องอายุจึงไม่ต้องนำมาพิจารณาและเมื่อครบเงื่อนไขดังกล่าว ทายาทผู้มีสิทธิจะได้รับเป็นเงินบำเหน็จชราภาพ (เงินที่กองทุนประกันสังคมจ่ายก้อนเดียว) โดยจำนวนเงินที่จะได้รับขึ้นอยู่กับว่าผู้ประกันตนได้จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมมาแล้วกี่เดือน
ทายาทผู้มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จชราภาพคือ ทายาทซึ่งมีชีวิตอยู่ในวันที่ผู้ประกันตนหรือผู้รับเงินบำนาญชราภาพถึงแก่ความตาย ได้แก่
1) บุตร ยกเว้นบุตรบุญธรรมหรือบุตรซึ่งได้ยกให้เป็นบุตรบุญธรรมของบุคคลอื่น
2) สามีหรือภริยา
3) บิดามารดา หรือบิดาหรือมารดาที่มีชีวิตอยู่
4) บุคคลซึ่งผู้ประกันตนทำหนังสือระบุไว้เป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จชราภาพ
ทั้งนี้ ตามสัดส่วนที่กฎหมายกำหนดไว้ แต่ถ้าผู้ประกันตนไม่มีทายาทดังกล่าว กฎหมายกำหนดให้บุคคลตามลำดับดังต่อไปนี้ มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จ
1) พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน
2) พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดา
3) ปู่ ย่า ตา ยาย
4) ลุง ป้า น้า อา
การที่กฎหมายกำหนดทายาทผู้มีสิทธิรับเงินบำเหน็จไว้เช่นนี้ มีสาระสำคัญทางกฎหมายที่ผู้ประกันตนควรรู้ 4 เรื่อง คือ
1) ทายาทผู้มีสิทธิตามที่กฎหมายกำหนดดังกล่าว
ไม่ใช่ทายาทโดยธรรมตามมาตรา 1629 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แต่เป็นทายาทตามที่กฎหมายประกันสังคมกำหนดและต้องเป็นทายาทโดยชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น ยกเว้น บุคคลซึ่งผู้ประกันตนทำหนังสือระบุไว้เป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จชราภาพ ซึ่งถือเป็นการแสดงเจตนาของผู้ประกันตนที่จะให้บุคคลใดก็ได้เป็นผู้มีสิทธิรับเงิน
2) หากบุตรเป็นผู้สืบสันดาน
และบิดาเป็นบิดาตามความเป็นจริง แต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับมารดา มีขั้นตอนที่ต้องดำเนินการคือ ต้องยื่นคำขอรับเงินบำเหน็จก่อน และเมื่อเจ้าหน้าที่ปฏิเสธการจ่าย (ซึ่งเจ้าหน้าที่ต้องชะลอการจ่ายไว้ก่อน) ให้บุตรหรือบิดายื่นคำร้องขอให้ศาลเยาวชนและครอบครัวมีคำสั่งหรือคำพิพากษาให้เป็นบุตรหรือบิดาโดยชอบด้วยกฎหมาย และนำคำสั่งหรือคำพิพากษาไปยื่นให้เจ้าหน้าที่วินิจฉัยอีกครั้ง
3) กรณีที่ผู้ประกันตนไม่มีทายาท
ผู้มีสิทธิตามที่กฎหมายกำหนดไว้ดังกล่าว หรือมีแต่ไม่ใช่ทายาทโดยชอบด้วยกฎหมาย ผู้ประกันตนจะต้องทำหนังสือระบุให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จ เช่น มีพี่สาวต่างบิดาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายจะต้องทำหนังสือระบุไว้ให้เป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จ
4) กรณีที่ผู้ประกันตนไม่มีทายาทผู้มีสิทธิตามที่กฎหมายกำหนดไว้เลย
เจ้าหน้าที่จะไม่มีอำนาจจ่ายเงินบำเหน็จให้กับบุคคลใด
ดังนั้น จึงขอย้ำเตือนว่า ถ้าผู้ประกันตนที่มีสามีหรือภริยา บิดามารดา หรือบุตร ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายในระหว่างที่ผู้ประกันตนมีชีวิตอยู่จะต้องรีบดำเนินการให้เป็นมีสถานะที่ชอบด้วยกฎหมาย (การจดทะเบียนสมรส หรือการจดทะเบียนรับรองบุตร หรือการขอให้ศาลมีคำสั่งหรือคำพิพากษาให้เป็นบิดาหรือบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย) และหากผู้ประกันตนไม่มีทายาทที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่อาจดำเนินการดังกล่าวได้ ให้ผู้ประกันตนทำหนังสือระบุผู้มีสิทธิรับเงินบำเหน็จไว้
ประการที่สอง ทำประกัน “สิทธิประกันสังคม” โดยไม่ต้องเสียเงินซื้อประกัน
เพราะกฎหมายประกันสังคมให้สิทธิผู้ประกันตนทำหนังสือระบุผู้มีสิทธิรับเงินสงเคราะห์กรณีตายและเงินบำเหน็จชราภาพแล้ว แต่ต้องทำให้ถูกต้อง โดยผู้ประกันตนต้องปฏิบัติดังนี้
(1) แบบวิธีการเขียน :
กฎหมายประกันสังคมกำหนดแต่เพียงให้ “ทำหนังสือ” โดยไม่ได้กำหนดวิธีการหรือรูปแบบให้ถือปฏิบัติ ดังนั้นผู้ประกันตนจึงมีสิทธิที่จะทำเป็นหนังสือโดยเขียนเป็นเอกสารด้วยลายมือตนเอง หรือบุคคลอื่นเขียนให้ หรือเขียนในสมุดก็ได้ แต่หนังสือต้องลงลายมือชื่อผู้ประกันตนให้ถูกต้องชัดเจน
(2) การระบุสิทธิที่จะได้รับ :
ข้อความต้องระบุชัดเจนว่า ใครเป็นผู้มีสิทธิและให้มีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์แก่ทายาทหรือเงินบำเหน็จชราภาพ (หรือทั้งสองประเภท) ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 จะเขียนกว้างๆ เช่น “…ให้นางสาว ก. เป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินจากกองทุนประกันสังคมแต่เพียงผู้เดียว” ถือว่าไม่ถูกต้อง
(3) ความถูกต้องของหนังสือ :
ต้องละเอียดรอบคอบในการเขียน โดยระบุวัน เดือน ปี ที่ทำหนังสือ เลขบัตรประจำตัวประชาชน ชื่อและลายมือชื่อทั้งผู้ประกันตนและผู้มีสิทธิ โดยไม่ต้องมีพยานรับรองก็ได้ เว้นแต่กรณีที่ผู้ประกันตนไม่อาจลงลายมือชื่อได้ แต่ใช้วิธีพิมพ์ลายนิ้วมือ แกงได (รอยขีดเขียนซึ่งบุคคลทำไว้เป็นสำคัญแทนการลงลายมือชื่อในทางกฎหมาย ถ้าจะให้มีผลเสมอกับลงลายมือชื่อต้องมีพยานลงลายมือชื่อรับรอง 2 คน หรือได้ทำต่อหน้าพนักงานเจ้าหน้าที่ : พจนานุกรมราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554) ตราประทับหรือเครื่องหมายอื่นจะต้องมีพยาน 2 คน รับรองลายพิมพ์นิ้วมือ (มาตรา 9 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์)
(4) จำนวนหนังสือระบุผู้มีสิทธิ :
ไม่จำกัดจำนวนครั้งที่เขียนและจำนวนคนที่มีสิทธิ ซึ่งหากเขียนหนังสือระบุผู้มีสิทธิหลายฉบับหรือหลายคน ทุกคนจะมีสิทธิได้รับโดยเฉลี่ยเท่ากัน ดังนั้นเมื่อในอดีตเคยเขียนระบุไว้แล้ว หากต้องการยกเลิกจะต้องระบุว่ายกเลิกฉบับใด ในหนังสือที่เขียนขึ้นใหม่
(5) การเก็บรักษาหนังสือ :
ผู้ประกันตนหรือผู้มีสิทธิสามารถเก็บรักษาหนังสือนั้นไว้ได้เอง
การเขียนหนังสือระบุผู้มีสิทธิรับเงินสงเคราะห์กรณีตายหรือเงินบำเหน็จชราภาพ เป็นการแสดงเจตนาของผู้ประกันตนที่จะระบุให้ใครเป็นผู้มีสิทธิก็ได้ และเมื่อกฎหมายประกันสังคมได้คุ้มครองผู้ประกันตนที่จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมแล้ว จึงเป็นสิทธิและหน้าที่ของผู้ประกันตนหรือผู้มีสิทธิโดยแท้ที่จะต้องรักษาสิทธินั้นโดยไม่ต้อง “เสียเงินซื้อประกัน” แต่ต้องยื่นคำขอรับสิทธินั้นภายใน 2 ปี นับแต่วันที่ผู้ประกันตนถึงแก่ความตาย
เว้นแต่ กรณีที่มีเหตุจำเป็นไม่อาจยื่นคำขอได้ภายในเวลาดังกล่าว ก็จะต้องชี้แจงเหตุผลความจำเป็นต่อเจ้าหน้าที่เพื่อให้วินิจฉัยต่อไป
ที่มา บทความ : “Covid-19 กับ “สิทธิประกันสังคม” ทำถูกต้อง…ไม่เสียสิทธิ !” โดย ปรานี สุขศรี วารสาร HR Society Magazine ลิงค์ http://bit.ly/hrsociety-dhg ปีที่ 18 ฉบับที่ 210 เดือนมิถุนายน 2563
ผลวิเคราะห์กระแสในโลกออนไลน์
ในช่วงสถานการณ์โควิดนี้ มาดูกระแสบนโลกออนไลน์กันว่ามีการพูดถึงหรือค้นหา “กองทุนประกันสังคม” อย่างไร โดยเราใช้เครื่องมือที่มีชื่อว่า Zanroo Search ใช้ในการค้นหา พบว่ามีการพูดถึงกันมากบนโลกออนไลน์ โดยใช้ค้นหาข้อมูล ตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายน – 15 กรกฎาคม 2563 ช่วงวันที่มีการพูดถึงเรื่องค่าชดเชยเลิกจ้างมากที่สุด คือ ช่วงวันที่ 10 กรกฎาคม 2563 โดยส่วนใหญ่พูดถึงผ่านช่องทาง News
โดยมีการพูดถึง “กองทุนประกันสังคม” ทั้งหมด 189 ข้อความ ซึ่งช่องทางที่มีการเคลื่อนไหวมากที่สุดคือ News จำนวน 105 ข้อความ
จะเห็นได้ว่า เนื้อหาที่ได้รับความนิยมและผู้คนมีส่วนร่วมมากที่สุด มาจากช่องทาง Facebook โดยเป็นเรื่องที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการอภิปรายร่างงบประมาณ ปี 64 ซึ่งมีการเข้าชมมากกว่า 5,494 ครั้ง
นอกจากนั้น เครื่องมือ Zanroo ยังสามารถบอกได้อีกว่า แต่ละ Channel ที่มีการพูดถึง “กองทุนประกันสังคม” นั้น ผู้โพสต์หรือผู้มีส่วนรวม มีความรู้สึกหรือความคิดเห็นอย่างไรบ้าง ซึ่งจากภาพแสดงได้ว่าผู้คนมีการกดไลค์ คอมเมนต์ และมองเห็นเป็นส่วนใหญ่ และยังสามารถดูความรู้สึกได้จาก Emoji ได้อีกด้วย
และสุดท้าย โพสต์ที่เกี่ยวข้องจะเป็นของเพจ SOLO มีทั้งหมด 3 โพสต์ และส่วนของ Influencer นั้น อันดับ 1 คือ พรรคก้าวไกล – Move Forward Party ที่ผู้คนมีส่วนร่วมมากถึง 5,494 ข้อความต่อโพสต์
สุดท้าย ต้องขอขอบคุณสำหรับเครื่องมือ Zanroo Search ที่ช่วยให้การค้นหาข้อมูลและการเปรียบเทียบเพื่อทำการตลาดที่ง่ายขึ้น หากใครที่สนใจสามารถทดลองใช้งานได้ที่ https://www.zanroo.com/