28 ตุลาคม 2565
การยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการออม หรือ SSF มีรายละเอียดอย่างไร มาทำความเข้าใจให้ดีก่อนซื้อ
ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 369) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการออม ขอนำมาสรุปให้อ่านกัน ดังนี้
หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เพื่อการยกเว้นภาษีเงินที่จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการออม หรือ SSF
1. ซื้อได้สูงสุด 30%
ซื้อได้สูงสุด 30% ของรายได้ แต่ไม่เกิน 200,000 บาท โดยการซื้อที่ว่านี้จะคิดเป็น % จากรายได้ที่ต้องเสียภาษีของเราครับ แต่ซื้อได้เป็นจำนวนเงินสูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท
2. ซื้อปีไหนใช้ลดหย่อนภาษีสำหรับปีนั้น
ซื้อปีไหนใช้ลดหย่อนภาษีสำหรับปีนั้น โดยสิทธิในการซื้อจะมีตั้งแต่ปี 2563 – 2567 ยกตัวอย่างเช่น ในปี 2563 ถ้าเราซื้อกองทุน SSF เพื่อลดหย่อนภาษีจำนวน 100,000 บาท (ไม่เกินสิทธิ์) ก็สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 100,000 บาทในปี 2563 แต่ไม่สามารถใช้ปีอื่นได้ (ซื้อปีไหนลดหย่อนภาษีปีนั้น)
3. ซื้อแล้วต้องถือไม่น้อยกว่า 10 ปี
ซื้อแล้วต้องถือไม่น้อยกว่า 10 ปี (นับจากวันที่ซื้อ) การถือครองตรงนี้จะนับจากวันที่ซื้อเป็นระยะเวลา 10 ปี
4. ซื้อกี่กองก็ได้
ซื้อกี่กองก็ได้ แต่รวมกันแล้วต้องไม่เกินจำนวนในข้อ 1
5. ซื้อได้เฉพาะบุคคลธรรมดา
ซื้อได้เฉพาะบุคคลธรรมดา (ที่เป็นบุคคลจริงๆ) ความหมายของข้อนี้ก็คือ ไม่ให้บุคคลธรรมดาประเภทอื่น เช่น กองมรดกที่ยังไม่ได้แบ่ง ห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือคณะบุคคล สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีในการซื้อ SSF ได้นั่นเอง
6. เงินที่ซื้อ SSF รวมกลุ่มเกษียณต้องไม่เกิน 500,000 บาท
เงินที่ซื้อ SSF รวมกลุ่มเกษียณต้องไม่เกิน 500,000 บาท ซึ่งความหมายของกลุ่มเกษียณนั้น หมายถึง เงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามกฎหมาย (PVD) หรือเงินสะสมเข้ากองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการตามกฎหมาย (กบข) หรือเงินสะสมเข้ากองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน รวมถึงกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) เบี้ยประกันภัยสำหรับการประกันชีวิตแบบบำนาญ หรือเงินสะสมเข้ากองทุนการออมแห่งชาติ (กอช) ซึ่งแต่ละตัวที่ว่ามานี้ มีเงื่อนไขในการลดหย่อนภาษีของแต่ละตัวร่วมกัน เพียงแต่ว่าเมื่อรวมทั้งหมดแล้วต้องไม่เกิน 500,000 นั่นเอง
แต่อย่างไรก็ตามสำหรับนโยบายนี้ (ณ วันที่เขียนบทความ) ยังไม่มีการออกเป็นกฎหมาย ซึ่งถ้าหากมีรายละเอียดเพิ่มเติมมากกว่านี้ จะมาอัปเดตให้ฟังต่อไป
ที่มา บทความ : “6 ประเด็นน่ารู้ ลดหย่อนภาษี “กองทุนรวม SSF” โดย TAXBugnoms วารสาร HR Society Magazine ปีที่ 18 ฉบับที่ 210 เดือนมิถุนายน 2563