11 กุมภาพันธ์ 2565
การฟื้นฟูกิจการ
การฟื้นฟูกิจการเป็นส่วนหนึ่งในกฎหมายล้มละลาย โดยมีวัตถุประสงค์ในการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ประสบปัญหาสภาพคล่องทางการเงินชั่วคราวได้มีโอกาสกลับมาดำเนินกิจการต่อไปได้ โดยไม่ต้องเข้าสู่กระบวนการฟ้องล้มละลาย
ผู้มีสิทธิยื่นขอฟื้นฟูกิจการ (ม. 90/3, ม. 90/4)
1. เจ้าหนี้ อาจเป็นคนเดียวหรือหลายคน และมีจำนวนหนี้ ไม่น้อยกว่า 10 ล้านบาท
2. ลูกหนี้ ที่มีหนี้สินล้นพ้นตัวหรือไม่สามารถที่จะชำระหนี้ตามกำหนด และมีหนี้จำนวนไม่น้อยกว่า 10 ล้านบาท
3. ธนาคารแห่งประเทศไทย ในกรณีที่ลูกหนี้เป็นธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุน บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ บัตรเครดิตฟองซิเอร์
4. สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ในกรณีที่ลูกหนี้เป็นบริษัทหลักทรัพย์
5. กรมการประกันภัย ในกรณีที่ลูกหนี้เป็นบริษัทประกันวินาศภัย หรือบริษัทประกันชีวิต
6. หน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลการประกอบกิจการของลูกหนี้
หลักเกณฑ์ในการยื่นขอฟื้นฟูกิจการเบื้องต้น
1. ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัวหรือไม่สามารถชำระหนี้ตามกำหนดได้
2. มีหนี้สินไม่น้อยกว่า 10 ล้านบาท
3. มีเหตุอันควรและมีช่องทางที่จะฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้
4. ศาลยังไม่มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด
5. ยังไม่มีการจดทะเบียนเลิกนิติบุคคล หรือ นิติบุคคลเลิกกันด้วยเหตุอื่น หรือศาลมีคำสั่งให้เพิกถอนทะเบียนนิติบุคคล
6. ยื่นคำขอโดยสุจริต
พิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด
: คำสั่งศาลที่ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รวบรวมทรัพย์สินของลูกหนี้เพื่อจัดสรร/ชำระให้กับบรรดาเจ้าหนี้ของลูกหนี้ทั้งหลาย
สภาวะพักชำระหนี้ (Automatic Stay)
“สภาวะพักชำระหนี้” (Automatic Stay) คือ เมื่อศาลรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการแล้ว ลูกหนี้จะได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 90/12 พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ.2483 ทันที ซึ่งในสภาวะพักชำระหนี้ดังกล่าว เพื่อให้ลูกหนี้สามารถดำเนินการฟื้นฟูกิจการได้ โดยไม่ต้องกังวลว่าจะถูกฟ้องร้องหรือบังคับคดีจากเจ้าหนี้แต่อย่างใด
สภาวะพักชำระหนี้ (Automatic Stay)
ตามมาตรา 90/12 นั้น ส่งผลให้ลูกหนี้ไม่ต้องถูกบังคับตามกฎหมาย ดังต่อไปนี้
1. ห้ามเจ้าหนี้ฟ้องร้อง หรือร้องขอให้ศาล หรือนายทะเบียนสั่งให้เลิกนิติบุคคลของลูกหนี้
2. ห้ามเจ้าหนี้ฟ้องคดีแพ่ง/ล้มละลายกับลูกหนี้
3. ห้ามเจ้าหนี้บังคับคดีกับลูกหนี้
4. ห้ามเจ้าหนี้บังคับชำระหนี้ ยึดทรัพย์สินหรือขายทรัพย์สินของลูกหนี้
5. ห้ามเจ้าหนี้ที่มีประกัน ห้ามบังคับหลักประกัน
6. ห้ามตัดน้ำ ตัดไฟ โทรศัพท์ (บริการสาธารณูปโภค) ของลูกหนี้
7. ห้ามหน่วยงานของรัฐเพิกถอนใบอนุญาต
8. ห้ามลูกหนี้จำหน่าย จ่าย โอน ก่อหนี้ หรือกระทำการใด ๆ ที่ก่อให้เกิดภาระในทรัพย์สิน
การฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้
จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ช่วยให้กิจการที่ประสบปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน ไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด ยังสามารถดำรงกิจการต่อไปได้