ลิขสิทธิ์ เพลงเข้าใจไม่ยาก

23 กุมภาพันธ์ 2565

ลิขสิทธิ์ คืออะไร ?

ลิขสิทธิ์เป็น ผลงานที่เกิดจากการใช้สติปัญญา ความรู้ความสามารถและความวิริยะอุตสาหะในการสร้างสรรค์งานให้เกิดขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นทรัพย์สิน ทางปัญญาประเภทหนึ่ง ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537

“ลิขสิทธิ์” หมายความว่า สิทธิแต่ผู้เดียวที่จะกระทำการใด ๆ เกี่ยวกับงานที่ผู้สร้างสรรค์ได้ทำขึ้น ดังต่อไปนี้

1.ทำซ้ำหรือดัดแปลง

2.เผยแพร่ต่อสาธารณชน

3.ให้เช่าต้นฉบับหรือสำเนางาน

4.ให้ประโยชน์อันเกิดจากลิขสิทธิ์ผู้อื่น

5.อนุญาตให้ผู้อื่นใช้สิทธิ

ลิขสิทธิ์และสิทธิที่เกี่ยวข้อง

ลิขสิทธิ์ดนตรีกรรม

หมายความว่า งานเกี่ยวกับเพลงที่แต่งขึ้นเพื่อบรรเลงหรือขับร้อง ไม่ว่าจะมีทำนองและคำร้อง หรือมีทำนองอย่างเดียว รวมถึงโน้ตเพลงที่ได้เรียบเรียงเสียงประสานแล้ว

ลิขสิทธิ์สิ่งบันทึกเสียง

หมายความว่า งานอันประกอบด้วยลำดับของเสียงดนตรี เสียงการแสดง หรือเสียงอื่นใด โดยบันทึกลงวัสดุไม่ว่าจะมีลักษณะใด ๆ สามารถที่จะนำมาเล่นซ้ำได้อีก โดยใช้เครื่องมือที่จำเป็นสำหรับการใช้วัสดุนั้น แต่ไม่รวมถึงเสียงประกอบภาพยนตร์หรือเสียงประกอบโสตทัศนวัสดุอย่างอื่น

สิทธิเผยแพร่ต่อสาธารณะ

หมายความว่า ทำให้ปรากฏต่อสาธารณชน โดยการแสดง การบรรยายการบรรเลง ทำให้ปรากฏด้วยเสียงและ/หรือภาพ การก่อสร้าง การจำหน่าย หรือโดยวิธีอื่นใดซึ่งงานที่ได้จัดทำขึ้น

เจ้าของลิขสิทธิ์

“เจ้าของลิขสิทธิ์” สามารถทำอะไรกับผลงานก็ได้ จะยกให้ใครก็ได้แต่ “ศิลปิน” ไม่มีสิทธิ์ที่จะนำเพลงที่ขับร้องไปใช้ถ้าไม่ได้รับอนุญาตเพราะไม่ได้เป็นเจ้าของแต่เพียงผู้เดียว

หากผู้ใดนำไปใช้โดยที่ไม่ได้รับอนุญาตนับว่ามีความผิด !!

ความผิดกรณี นำเพลงไปร้อง

“ตามร้านอาหาร สถานประกอบการ หรือสถานที่อื่นใด โดยไม่ได้รับอนุญาต จากเจ้าของลิขสิทธิ์ รวมถึงการ Cover ลงโซเชียลต่าง ๆ” เป็นการนำผลงาน ที่มีลิขสิทธิ์ไปขับร้อง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อหารายได้ให้กับตัวเองไม่ว่าผู้กระทำจะเป็นดารา นักแสดง นักร้อง หรือประชาชนทั่วไป

• มีความผิด “ตามมาตรา 27”

การทำซ้ำหรือดัดแปลงงาน อันมีลิขสิทธิ์ หรือนำงานอันมีลิขสิทธิ์เผยแพร่ต่อสาธารณชน โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ ให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์

• มีความผิด “ตามมาตรา 28”

เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์แก่โสตทัศนวัสดุภาพยนตร์ และสิ่งบันทึกเสียง

• มีความผิด “ตามมาตรา 29”

เป็นกรณีการละเมิดลิขสิทธิ์แก่งานแพร่ภาพแพร่เสียง เช่น แพร่ภาพแพร่เสียงซ้ำ หรือจัดให้ประชาชนชม โดยเรียกเก็บเงินหรือผลประโยชน์อื่นทางการค้า ต้องระวางโทษ ปรับตั้งแต่ 20,000 บาท ถึง 200,000 บาท หากกระทำเพื่อการค้า จำคุกตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 4 ปี หรือปรับตั้งแต่ 100,000 บาท ถึง 800,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

(มาตรา 69)

ความผิดกรณี เปิดเพลง

“ตามร้านอาหาร ร้านกาแฟ สถานประกอบการ หรือสถานที่อื่นใด โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์” ไม่ว่าจากสื่อใด ๆ เช่น  Youtube CD หรือ DVD

• มีความผิด “ตามมาตรา 31”

ผู้ใดรู้อยู่แล้วหรือมีเหตุอันควรรู้ว่างานใดได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่น เผยแพร่งานนั้นต่อสาธารณชน เพื่อหากำไร ให้ถือว่าผู้นั้นทำการละเมิดลิขสิทธิ์

ต้องระวางโทษ ปรับตั้งแต่ 10,000 บาท ถึง 100,000 บาท หากกระทำเพื่อการค้าจำคุกตั้งแต่ 3 เดือน ถึง 2 ปี หรือปรับตั้งแต่ 50,000 บาท ถึง 400,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

(มาตรา 70)

tag

Copyright ©2024  dharmniti.co.th All rights reserved.

Log in with your credentials

Forgot your details?