23 กุมภาพันธ์ 2565
บริษัทที่มีนโยบายในการจัดทำโครงสร้างเงินเดือน มักจะได้รับคำถามจากพนักงานเสมอว่า เมื่อมีโครงสร้างเงินเดือนก็แปลว่าต้องมีเพดานเงินเดือน และการที่มีเพดานเงินเดือนแสดงว่าพนักงานก็มีโอกาสที่เงินเดือนตนเองจะชนเพดาน และเมื่อเงินเดือนชนเพดานแล้วจะทำอย่างไร แปลว่าก็จะไม่ได้รับการขึ้นเงินเดือน…ใช่หรือไม่?
ทำไมถึงต้องมีการกำหนดเพดานเงินเดือน?
การที่มีการกำหนดเพดานเงินเดือนไว้เพื่อเป็นตัวบอกว่า ตำแหน่งงานในระดับงานที่ต่ำกว่าซึ่งมีหน้าที่และความรับผิดชอบของงานที่น้อยกว่าตำแหน่งงานที่อยู่ในระดับที่สูงกว่านั้น เงินเดือนของพนักงานจะต้องไม่ไปสูงกว่าราคาตลาดของตำแหน่งงานที่อยู่ในระดับงานที่สูงกว่า เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมตามความยากง่ายของการแต่ละงานในองค์กร
สิ่งที่บริษัทคิดก็คือ บริษัทยินดีที่จะขึ้นเงินเดือนให้พนักงานไปเรื่อยๆ แต่เงื่อนไขก็คือพนักงานเองก็จะต้องพัฒนาตนเอง เรียนรู้ เพิ่มพูนความรู้ ทักษะในการทำงานต่างๆ ให้มากขึ้นด้วย เพื่อที่จะสามารถรับผิดชอบงานที่ยากขึ้นได้ในอนาคต และเมื่อพิสูจน์ได้ว่ามีความสามารถสูงขึ้น และทำงานที่ยากขึ้นได้ก็จะเลื่อนระดับหรือเลื่อนตำแหน่งให้ ซึ่งก็จะทำให้เงินเดือนไม่ตันแล้ว เพราะองค์กรมีเส้นทางให้เติบโตขึ้นไป
อย่าลืมส่งสัญญาณให้ผู้จัดการทราบก่อนสัก 5 ปี ก่อนที่เงินเดือนพนักงานจะชนเพดาน
ปกติแล้วพนักงานที่เงินเดือนจะชนเพดานเงินเดือนได้นั้นจะต้องเป็นพนักงานที่มีผลงานอยู่ในเกณฑ์ดีหรือดีมาก เพราะได้รับการขึ้นเงินเดือนในอัตราที่สูงกว่าพนักงานที่มีผลงานแย่มาก
ดังนั้นพนักงานที่มีผลงานดี ถ้าเงินเดือนไปอยู่ในจุดที่คำนวณแล้วพบว่า อีก 5 ปีเงินเดือนจะชนเพดานของโครงสร้างเงินเดือนแล้ว ก็ให้ฝ่ายบุคคลทำหนังสือแจ้งไปยังผู้จัดการของพนักงานคนนี้เพื่อบอกว่า อีก 5 ปีพนักงานคนนี้เงินเดือนจะชนเพดานแล้ว เพื่อที่จะได้ใช้ช่วงเวลา 5 ปีนี้ในการวางแผนพัฒนาพนักงานให้เติบโตไปตามเกณฑ์สายอาชีพที่กำหนดไว้
บางส่วนจากบทความ : “ทางออก…เมื่อเงินเดือนชนเพดาน”
โดย ประคัลภ์ ปัณฑพลังกูร / Section : HRM /HRD / Column : ครบเครื่องเรื่องค่าตอบแทน
วารสาร HR Society Magazine ปีที่ 18 ฉบับที่ 214 เดือนตุลาคม 2563
สมัครสมาชิก https://magazine.dst.co.th/bl.html