การรับรู้รายได้ตามมาตรฐานใหม่ “ใบกำกับภาษี” ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 86 วรรคหนึ่ง
ตามประมวลรัษฎากรมาตรา 86 วรรคหนึ่ง กำหนดเป็นหลักไว้ว่า “ผู้ที่จะออกใบกำกับภาษี” ได้นั้น ต้องเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
โดยผู้ประกอบการจดทะเบียน ต้องจัดทำ ‘ใบกำกับภาษีและสำเนาใบกำกับภาษี’ ทุกครั้ง และต้องจัดทำในทันทีที่ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้น ซึ่งใบกำกับภาษีที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ออกโดยหลักก็จะเป็นใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปตามมาตรา 86/4 และใบกำกับภาษีอย่างย่อตามมาตรา 86/6 แห่งประมวลรัษฎากร
ดังนั้น ‘ผู้ประกอบการที่ยังไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม’ กับกรมสรรพากร แม้จะมีรายรับจากการขายสินค้าหรือให้บริการมากมายเท่าใด เมื่อมีการขายสินค้าหรือให้บริการ ก็ไม่มีสิทธิออกใบกำกับภาษีอย่างเด็ดขาด ถ้ามีการออกใบกำกับภาษีโดยที่ผู้ออกยังไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ผู้ออกจะต้องมีความรับผิดทั้งทางแพ่งและอาญา
แนวทางแก้ไข “กรณีที่ผู้ประกอบการได้ออกใบกำกับภาษี ในขณะที่ยังไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม”
อาจด้วยความเข้าใจผิด หรือเหตุอื่นใดก็ตาม เมื่อมีการขายสินค้าหรือให้บริการได้มีการออกใบกำกับภาษี ลงรายงานภาษีขาย จัดทำรายงานภาษีซื้อ ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มภายในกำหนดเวลา โดยที่ตนเองยังไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
แนวทางแก้ปัญหา คือ ให้ผู้ประกอบการยื่นคำร้องขอต่ออธิบดีกรมสรรพากร เพื่อขออนุมัติเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนย้อนหลัง ตั้งแต่วันที่ได้ปฏิบัติตนเป็นเสมือนผู้ประกอบการจดทะเบียน
ซึ่งถ้าได้รับการอนุมัติตามมาตรา 85 วรรคสี่ แห่งประมวลรัษฎากร ให้เป็นผู้ประกอบการ จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มย้อนหลัง ก็จะทำให้การออกใบกำกับภาษีตั้งแต่ต้นไม่เป็นความผิด*
*ทั้งนี้ อธิบดีกรมสรรพากรได้มีการมอบอำนาจและวางแนวทางการพิจารณาคำขอดังกล่าว ตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.130/2546ฯ ลงวันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2546 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.211/2557ฯ ลงวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2557 ซึ่งถ้าได้รับอนุมัติ ประเด็นความผิดเกี่ยวกับใบกำกับภาษีเป็นอันไม่มี