6 สาระสำคัญ “ของการทำหนังสือสัญญา”

16 มิถุนายน 2564

1. ชื่อคู่สัญญา

ชื่อสัญญาแต่ละฝ่ายเป็นสิ่งสำคัญอย่างมากที่จะต้องระบุในสัญญา เพราะเป็นการแสดงให้ทราบว่าผู้ที่ตกลงทำสัญญากันนั้น เป็นใครบ้าง ทั้งนี้ผู้มีชื่อในสัญญาว่าเป็นคู่สัญญาจะมีบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบในการปฏิบัติตามสัญญาที่ตกลงกัน

ตัวอย่าง

สัญญาระหว่าง นาย A ผู้ให้เช่า กับ นาย B ซึ่งเป็น ผู้เช่า ต้องระบุสัญญา โดยมีข้อความว่า สัญญานี้ทำขึ้นระหว่างนาย  A ซึ่งต่อไปในสัญญานี้เรียกว่าผู้ให้เช่า กับนาย B ซึ่งต่อไปในสัญญานี้เรียกว่า ผู้เช่า เป็นต้น ในกรณีที่เป็นสัญญานิติบุคคล เช่น บริษัทจำกัด ห้างหุ้นสวนจำกัด หรือนิติบุคคลอื่น ในสัญญาต้องระบุชื่อนิติบุคคลและผู้รับมอบอำนาจซึ่งมีอำนาจทำการแทน

 

2. วัน เดือน ปี ในการทำสัญญา

การระบุวันในการทำสัญญา จะช่วยให้คู่สัญญาได้รู้กำหนดระยะเวลาในการบังคับตามสัญญาได้อย่างชัดเจนแน่นอนป้องกันข้อขัดแย้งในการบังคับชำระหนี้

ตัวอย่าง

หากสัญญากู้เงินทำขึ้นเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2551 และระบุไว้ว่า ผู้กู้จะต้องชำระหนี้ภายในระยะเวลา 3 เดือน นับแต่วันทำสัญญา วันที่บังคับชำระหนี้ตามสัญญาคือวันที่ 1 เมษายน 2551

 

3. สถานที่ในการทำสัญญา

สาระสำคัญในการทำสัญญาจะมีความสมบูรณ์ชัดเจนยิ่งขึ้น ในสัญญาต้อง ระบุถึงสถานที่ในการทำสัญญา และสถานที่ในการชำระหนี้ กรณีที่สัญญาไม่ได้ระบุเรื่องศาลที่จะฟ้องร้อง บังคับคดีไว้ หากมีข้อพิพาทเกิดขึ้น แต่ได้ระบุสถานที่ในการทำสัญญาไว้ อย่างน้อยก็จะช่วยให้สัญญามีความชัดเจน เมื่อโจทก์ประสงค์จะฟ้องคดีศาลที่มีมูลคดีเกิดขึ้นจะต้องฟ้องต่อศาลใด ทั้งนี้ โจทก์อาจฟ้องต่อศาล ที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลก็ได้

เช่น

ในสัญญาชื้อขายอาจระบุให้ผู้ขายต้องส่งมอบสินค้าที่สถานที่ของผู้ซื้อหรืออาจจะให้ผู้ซื้อต้องไปรับมอบสินค้าที่สถานที่ของผู้ขายก็ได้ ซึ่งสถานที่ไนการชำระหนี้ มีผลต่อค่าใช้จ่ายของสัญญา เช่น ขนส่ง เป็นต้น ดังนั้น จึงควรระบุไว้แน่นอนในสัญญาเพื่อป้องกันปัญหาข้อถกเถียงในเรื่องสถานที่ทำการชำระหนี้

 

4. เขตอำนาจศาล

กรณีที่คู่สัญญากำหนดเรื่องเขตอำนาจศาลที่จะฟ้องคดีไว้ในสัญญาจะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์เกี่ยวกับเขตอำนาจศาลตามประมวลกฎหมายวิธิพิจารณาความแพ่งบัญญัติไว้

เช่น

ต้องเป็นศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล หรือศาลที่มูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาล ตามมาตรา 4 (1) หรือในกรณีที่เป็นคำฟ้องเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์ หรือประโยชน์อันเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์ ต้องฟ้องต่อศาลที่อสังหาริมทรัพย์ตั้งอยู่ในเขตศาลว่า จำเลยจะมีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักรหรือไม่ หรือฟ้องต่อศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล ตามมาตรา 4 ทวิ ทั้งนี้ คู่สัญญาจะตกลงกันให้ฟ้องยังศาลที่อื่นนอกจากที่ประมวลวิธีพิจารณาความแพ่งกำหนดอยู่ไม่ได้

 

5. พยาน

แม้กฎหมายจะไม่ได้บังคับให้การทำสัญญาโดยทั่วไปจะต้องมีพยาน แต่การมีพยานเพื่อรับรู้และรับรองการทำสัญญา จะช่วยให้สัญญามีความนำเชื่อถือ และคู่สัญญาจะระมัดระวังในการปฏิบัติให้เป็นไปตามสัญญามากยิ่งขึ้น หากมีปัญหาข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสัญญาพยานก็สามารถยืนยันความถูกต้องได้ และหากมีคดีเกี่ยวกับสัญญาต้องขึ้นสู่ศาล คู่สัญญาก็อาจเบิกพยานในการทำสัญญามาให้การยืนยันข้อเท็จจริงและความถูกต้องในสัญญานั้นได้ ซึ่งในทางปฏิบัติมักนิยมให้มีพยานในสัญญาเพียง 2 คน  

เช่น

การทำพินัยกรรมซึ่งเป็นนิติกรรมฝ่ายเดียว ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์กำหนดบังคับให้การทำพินัยกรรม ตามมาตรา 1656 ซึ่งไม่ใช่พินัยกรรมเขียนเองทั้งฉบับ ผู้ทำพินัยกรรมจะต้องลงลายมือชื่อต่อหน้าพยานอย่างน้อย 2 คน พร้อมกัน ซึ่งพยาน 2 คนนั้น ต้องลงลายมือชื่อรับรองลายมือชื่อของผู้ทำพินัยกรรมไว้ในขณะนั้นด้วย

 

6. เอกสารแนบท้ายสัญญา

เป็นเอกสาร รายละเอียดต่าง ๆ ที่คู่สัญญาจะต้องปฏิบัติตามสัญญา เพื่อความสะดวกในการพิจารณาและปฏิบัติตามสัญญา จึงได้มีการแยกส่วนที่เป็นรายละเอียดออกต่างหาก โดยกำหนดให้เป็นเอกสารแนบท้ายสัญญา และให้ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของสัญญา ซึ่งเป็นผลให้เอกสารแนบท้ายสัญญามีฐานะและความสำคัญในลักษณะเป็นสัญญาด้วย

เช่น

สัญญาซื้อขายสินค้าหลายรายการ จะต้องมีรายละเอียดเกี่ยวกับรายการสินค้า รวมทั้งคุณสมบัติ ราคา กำหนดเวลาส่งมอบ สถานที่ส่งมอบ และวิธีการส่งมอบ เป็นตัน ซึ่งรายละเอียดต่าง ๆ เหล่านี้ หากกำหนดไว้ในสัญญา จะทำให้ส่วนที่เป็นตัวสัญญามีรายละเอียดมากเกินไปโดยไม่จำเป็น

tag

Copyright ©2024  dharmniti.co.th All rights reserved.

Log in with your credentials

Forgot your details?