ลูกจ้างประสบอันตรายขณะทำงาน ต้องได้รับเงินทดแทนจากกองทุนใด

17 มิถุนายน 2564

ตอบทุกคำถามที่ลูกจ้างต้องรู้ เมื่อประสบอันตราย เจ็บป่วย ตาย หรือสูญหาย ขณะทำงาน จะได้รับเงินจากกองทุนไหน ใครมีสิทธิบ้าง และกรณีใดถึงได้รับเงิน

 

เมื่อผู้ประกันตนหรือลูกจ้างประสบอันตราย หรือเจ็บป่วย หรือตาย จำเป็นต้องรู้ก่อนว่า เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกองทุนใดเพราะสิทธิประโยชน์ของแต่ละกองทุนแตกต่างกันและระยะเวลาการให้คุ้มครองก็แตกต่างกันด้วย

 

กองทุนประกันสังคม vs กองทุนเงินทดแทน

• กองทุนประกันสังคมมีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองสมาชิกที่เรียกว่ผู้ประกันตน ในกรณีที่ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ทุพพลภาพ ตาย คลอดบุตรสงเคราะห์บุตร ชราภาพและว่างงาน ที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำงานให้กับนายจ้าง หรือการทำงานตามคำสั่งของนายจ้าง หรือรักษาผลประโยชน์ให้กับนายจ้าง

• ส่วนกองทุนเงินทดแทน คุ้มครองลูกจ้างที่ทำงานในสถานประกอบการและได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ในกรณีที่ลูกจ้างประสบอันตราย หรือเจ็บป่วย หรือตาย หรือสูญหายเนื่องจากการทำงานให้แก่นายจ้าง

 

ทำความเข้าใจ “การประสบอันตราย”

การประสบอันตราย หมายความว่า การที่ลูกจ้างได้รับอันตรายแก่กายหรือผลกระทบแก่จิตใจ หรือถึงแก่ความตายเนื่องจากการทำงาน หรือป้องกันรักษาประโยชน์ให้แก่นายจ้าง หรือตามคำสั่งของนายจ้าง เช่น ประสบอันตรายขณะเดินทางไป-กลับจากการทำงาน

ถึงจะอยู่ในระหว่างการทำงานให้นายจ้าง แต่ถ้าลูกจ้างทำกิจส่วนตัวเพื่อประโยชน์ของลูกจ้าง แล้วประสบเหตุอันตราย ไม่ถือว่าเป็นประสบอันตรายเนื่องจากการทำงานให้แก่นายจ้าง

ขณะที่ลูกจ้างรอการปล่อยรถจากนายท่าอยู่ในบริเวณท่ารถของนายจ้าง ลูกจ้างขึ้นไปทำธุระส่วนตัวบนรถโดยสารของเพื่อน และจะกลับไปที่รถของตนเพื่อปฏิบัติหน้าที่เกิดสะดุดตกบันไดได้รับบาดเจ็บ ถือได้ว่าลูกจ้างประสบอันตรายเนื่องจากการทำงาน (คำพิพากษาศาลฎีกา ที่ 16073/2556)

 

ทำความเข้าใจ “การประสบอันตราย”

เจ็บป่วย หมายความว่า การที่ลูกจ้างเจ็บป่วยหรือถึงแก่ความตายด้วยโรคซึ่งเกิดขึ้นตามลักษณะ หรือสภาพของงาน หรือเนื่องจากการทำงาน เช่น ปวดหลังเนื่องจากการยกของ

อย่างไรก็ตาม หากการเจ็บป่วยเกิดจากสภาพร่างกายของลูกจ้าง เช่น ลูกจ้างมีโรคประจำตัวอยู่แล้วและถึงแก่ความตาย แม้จะเกิดขึ้นในระหว่างการทำงานให้กับนายจ้าง ไม่ถือเป็นการเจ็บป่วยจากการทำงาน

ลูกจ้างถึงแก่ความตายขณะนอนเวร โดยไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่อะไรและสาเหตุการตายเกิดจากเส้นเลือดตีบ กล้ามเนื้อหัวใจตาย ระบบหัวใจล้มเหลวอันเป็นเหตุที่เกิดจากสภาพร่างกายของลูกจ้างปัจจุบันทันด่วน การตายมิใช่ผลสืบเนื่องมาจากการทำงาน (คำพิพากษาศาลฎีกา ที่ 4811/ 2560)

 

ทำความเข้าใจ “ลูกจ้างสูญหาย

หมายถึง การที่ลูกจ้างหายไปในระหว่างทำงานหรือปฏิบัติตามคำสั่งของนายจ้าง โดยมีหลักเกณฑ์ในการพิจารณา

1. ต้องมีเหตุอันควรเชื่อว่า การที่ลูกจ้างหายไปในระหว่างเดินทางโดยพาหนะ ทางบก ทางอากาศ หรือทางน้ำเพื่อไปทำงานให้นายจ้างซึ่งมีเหตุอันควรเชื่อว่าพาหนะนั้นได้ประสบเหตุอันตรายและลูกจ้างแก่ความตาย

2. ระยะเวลาต้องไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันที่เกิดเหตุนั้น

 

ใครมีสิทธิได้เงินจากกองทุนทดแทนบ้าง

1. ลูกจ้าง ถือว่าเป็นเจ้าของสิทธิ์โดยตรงเมื่อประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย

2. บิดามารดา (2) สามีหรือภรรยา (3) บุตรมีอายุต่ำกว่าสิบแปดปี มีสิทธิ์ได้รับเงินทดแทนจนกว่าจะจบการศึกษาในระดับปริญญาตรี บุตรมีอายุตั้งแต่สิบแปดปีขึ้นไปที่อยู่ระหว่างการศึกษาในระดับไม่สูงกว่าปริญญาตรีมีสิทธิ์ได้รับเงินทดแทนจนกว่าจะจบการศึกษาในระดับปริญญาตรี บุตรมีอายุตั้งแต่สิบแปดปี และทุพพลภาพหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบซึ่งอยู่ในอุปการะของลูกจ้างก่อนลูกจ้างถึงแก่ความตายหรือสูญหาย บุตรของลูกจ้างซึ่งเกิดภายในสามร้อยสิบวันนับแต่วันที่ลูกจ้างถึงแก่ความตายหรือวันที่เกิดเหตุสูญหายมีสิทธิ์ได้รับเงินทดแทนนับแต่วันคลอด

 

ในกรณีผู้อุปการะ

หากลูกจ้างไม่มี “บุตร” ผู้มีสิทธิ์ดังกล่าวหรือผู้มีสิทธิอื่นๆ ให้จ่ายเงินทดแทน ให้กับบุคคลที่อยู่ในอุปการะของลูกจ้างก่อนลูกจ้างถึงแก่ความตายหรือสูญหาย โดยผู้อยู่ในอุปการะจะต้องได้รับความเดือดร้อนเพราะขาดอุปการะจากลูกจ้างที่ตายหรือสูญหาย

 

ส่วนหนึ่งของบทความ “ลูกจ้างประสบอันตรายขณะทำงาน ต้องได้รับเงินทดแทนจากกองทุนทดแทน* จากคอลัมน์ ประกันสังคม ในวารสาร HR Society Magazine ประจำฉบับเมษายน 2564*

Copyright ©2024  dharmniti.co.th All rights reserved.

Log in with your credentials

Forgot your details?