หลังจากที่เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาประกาศประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ฉบับ พ.ศ.2564 ประมวลฉบับใหม่นี้มีผลต่อนายจ้างและลูกจ้างอย่างไร…?
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. 2564ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2564 มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงในเรื่องอัตราดอกเบี้ยตามมาตรา 7 กับมาตรา 224และเพิ่มมาตรา 227/1
มาตรา 7 (ใหม่) บัญญัติเปลี่ยนแปลงเป็นว่า “ถ้าจะต้องเสียดอกเบี้ยแก่กันและมิได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้โดยนิติกรรมหรือโดยบทกฎหมายอันชัดแจ้ง ให้ใช้อัตราร้อยละสามต่อปี อัตราตามวรรคหนึ่งอาจปรับเปลี่ยนให้ลดลงหรือเพิ่มขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจของประเทศได้โดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา โดยปกติให้กระทรวงการคลังพิจารณาทบทวนทุกสามปีให้ใกล้เคียงกับอัตราเฉลี่ยระหว่างอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก กับอัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของธนาคารพาณิชย์”
มาตรา 224 (ใหม่) บัญญัติเปลี่ยนแปลงเป็นว่า “หนี้เงินนั้น ให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดในอัตราที่กำหนดตามมาตรา 7 บวก ด้วยอัตราเพิ่มร้อยละสองต่อปี ถ้าเจ้าหนี้อาจจะเรียกดอกเบี้ยได้สูงกว่านั้นโดยอาศัยเหตุอย่างอื่นอันชอบด้วยกฎหมาย ก็ให้คงส่งดอกเบี้ยต่อไปตามนั้น
ห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัด
การพิสูจน์ค่าเสียหายอย่างอื่นนอกจากนั้น ให้พิสูจน์ได้ ”
มาตรา 224/1 (ใหม่) “ถ้าลูกหนี้มีหน้าที่ผ่อนชำระหนี้เงินเป็นงวด และลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้ในงวดใด เจ้าหนี้อาจเรียกดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดได้เฉพาะจากต้นเงินของงวดที่ลูกหนี้ผิดนัดนั้น ข้อตกลงใดขัดกับความในวรรคหนึ่ง ข้อตกลงนั้นเป็นโมฆะ ”
หนี้เงินที่กำหนดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดโดยกฎหมายไว้เป็นการเฉพาะ ได้แก่หนี้เงินที่เกิดจากการทำงานตามสัญญาจ้างหรือตามกฎหมายแรงงาน ที่มีกฎหมายบัญญัติให้นายจ้างเสียดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดไม่ชำระหนี้ให้แก่ลูกจ้างไว้เป็นการเฉพาะ เช่น ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง หากนายจ้างผิดนัดไม่จ่ายเงินดังต่อไปนี้ นายจ้างต้องเสียดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละ 15 ต่อปีให้แก่ลูกจ้าง เงินตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง ได้แก่
• เงินประกันที่ตามมาตรา 10 วรรคสอง
• สินจ้าง (ค่าจ้าง) แทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามมาตรา 17/1
• ค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด ค่าล่วงเวลาในวันหยุด
• เงินที่นายจ้างมีหน้าที่ต้องจ่ายตามพระราชบัญญัตินี้ เช่น ค่าตอบแทนการทำงานเกินเวลาทำงานปกติตามมาตรา 65 (3) ถึง(9) เงินระหว่างพักงานเพื่อสอบสวนความผิด ตามมาตรา 116 วรรคสอง
• เงินกรณีนายจ้างหยุดกิจการชั่วคราวตามมาตรา 75
• ค่าชดเชยตามมาตรา 118
• ค่าชดเชยพิเศษแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า หรือค่าชดเชยพิเศษตามมาตรา 120 มาตรา 120/1 มาตรา 121 และมาตรา 122
หนี้เงินตามสัญญาจ้างแรงงานหรือตามกฎหมายแรงงานในกลุ่มนี้ เจ้าหนี้คือลูกจ้าง มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดได้ในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 9 อยู่แล้ว แม้จะมีการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 7 มาตรา 224 ก็ไม่มีผลทำให้อัตราดอกเบี้ยผิดนัดต้องเปลี่ยนแปลงไป ลูกจ้างยังคงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดได้ในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีเหมือนเดิม
หนี้เงินที่ไม่มีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดโดยกฎหมายไว้เป็นการเฉพาะ ได้แก่หนี้เงินตามสัญญาจ้าง หรือตามกฎหมายแรงงานที่ไม่มีกฎหมายกำหนดไว้เป็นการเฉพาะ ว่าหากลูกจ้างหรือนายจ้างผิดนัด ไม่ชำระหนี้เงินให้แก่อีกฝ่ายแล้ว จะต้องรับผิดเสียดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดในอัตราเท่าใด เช่น หนี้เงินที่ลูกจ้างผิดสัญญาจ้างแรงงานหรือทำละเมิดต่อนายจ้าง ทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย หนี้เงินที่นายจ้างค้างจ่ายแก่ลูกจ้าง เป็นเงินรางวัลประจำปี เงินโบนัส เงินค่าเช่าบ้าน ค่ารถเดินทาง เบี้ยขยัน เงินเป้า เงินช่วยเหลือบุตร เงินค่าอาหารกลางวัน เงินรางวัลอายุงาน เงินเพิ่มจูงใจ เงินช่วยค่าน้ำและค่าไฟฟ้า เงินบำเหน็จบำนาญ ฯลฯ ที่ไม่ใช่ค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด ค่าล่วงเวลาในวันหยุดหรือเงินที่นายจ้างมีหน้าที่จ่ายตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน รวมทั้งหนี้ค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด ค่าล่วงเวลาในวันหยุด เงินประกันการทำงาน สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย เงินตอบแทนความชอบในการทำงาน ฯลฯ ในกิจการของรัฐวิสาหกิจ ซึ่งมิได้มีกฎหมายกำหนดอัตราดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดไว้ จึงต้องใช้อัตราทั่วไปตามมาตรา 224 ซึ่งมาตรา 224 เดิมกำหนดให้เจ้าหนี้คิดดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดได้ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี แต่ต่อมาตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นมา มาตรา 224 ที่แก้ไขใหม่ กำหนดให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดในอัตราที่กำหนดตามมาตรา 7 บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละสองต่อปี ปัจจุบันคือร้อยละ 5 ต่อปี (ร้อยละ 3 + 2) ในทำนองเดียวกันกับที่กล่าวมาข้างต้น
บทสรุป
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เรื่องอัตราดอกเบี้ยได้ใช้บังคับมาเป็นเวลานานกว่า 95 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2468 โดยมิได้มีการแก้ไข มาตรา 7 และมาตรา 224 กำหนดอัตราดอกเบี้ยคงที่ไว้ที่ร้อยละ 7.5 ต่อปี ไม่สอดคล้องกับอัตราดอกเบี้ยในสภาพเศรษฐกิจปัจจุบันซึ่งอยู่ในอัตราที่ต่ำมาก ส่งผลทำให้ลูกหนี้ต้องรับภาระเสียดอกเบี้ยในหนี้เงินที่สูงเกินสมควร เจ้าหนี้อาจไม่ฟ้องเรียกเงินจากลูกหนี้โดยหวังประโยชน์จากอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าตลาด สร้างความเหลื่อมล้ำ ไม่เป็นธรรม และมีผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศโดยภาพรวม จึงมีการแก้ไขบทบัญญัติดังกล่าวให้เหมาะสมเป็นธรรมมากยิ่งขึ้น แม้การแก้ไขเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะมีผลดี ทำให้ลูกจ้างในฐานะลูกหนี้ที่ต้องจ่ายดอกเบี้ยผิดนัดในหนี้เงิน เช่น ค่าเสียหายจากการผิดสัญญาจ้าง ให้แก่นายจ้างในอัตราที่ลดลงจากร้อยละ 7.5 ต่อปีตามมาตรา 224 เดิม เป็นร้อยละ 5 ต่อปีตามมาตรา 224 ใหม่ก็ตาม แต่ในทางกลับกัน หากลูกจ้างมีฐานะเป็นเจ้าหนี้นายจ้างในหนี้เงิน เช่น เงินโบนัส เงินรางวัลประจำ เงินค่ารถเดินทาง ค่าเช่าบ้าน เงินช่วยเหลือบุตร ฯลฯ ซึ่งไม่มีกฎหมายกำหนดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดไว้ในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง ลูกจ้างมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยผิดนัดในเงินเหล่านี้จากนายจ้างลดลงจากอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามมาตรา 224 เดิม เหลือเพียงอัตราร้อยละ 5 ต่อปีตามมาตรา 224 ที่แก้ไขใหม่เท่านั้น
ส่วนหนึ่งของบทความ “ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เรื่องดอกเบี้ยที่แก้ไขเพิ่มเติมใหม่ กับผลกระทบดอกเบี้ยในคดีแรงงาน”
วารสาร HR Society Magazine ฉบับเดือนมิถุนายน 2564
สมัครสมาชิกวารสาร: https://bit.ly/3fXrXpd