ครม. อนุมัติร่างกฎหมาย Digital Platform บังคับต้องแจ้งข้อมูลธุรกิจ เพื่อความโปร่งใสเป็นธรรมต่อผู้ใช้บริการ
” ไม่ว่าจะเป็นคนซื้อหรือคนขายสินค้าหรือบริการออนไลน์ จะได้รับข้อมูลที่จำเป็น ทำให้เกิดความเชื่อมั่นในการใช้บริการแพลตฟอร์มฯ “
เมื่อวันที่ 25 ต.ค. ที่ผ่านมา ที่ประชุม ครม. มีมติ “อนุมัติร่างพระราชกฤษฎีกาควบคุมธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล” โดยกำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล แจ้งข้อมูลเกี่ยวกับธุรกิจและการให้บริการแพลตฟอร์มให้สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ ETDA ทราบก่อนการประกอบธุรกิจ
วัตถุประสงค์
• เพื่อสนับสนุนและควบคุมผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล
• ผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล ต้องบริการภายใต้มาตรฐานเดียวกัน มีความโปร่งใสและเป็นธรรม
• ผู้ใช้บริการจะได้ทราบข้อมูลที่จำเป็น ทั้งเงื่อนไขการให้บริการ ช่องทางการร้องเรียนต่าง ๆ
• เป็นการสร้างความเชื่อมั่นในการใช้บริการแพลตฟอร์ม
บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล
หมายถึง การให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่เป็นสื่อกลาง มีพื้นที่ให้ผู้ประกอบการบนแพลตฟอร์มดิจิทัลและผู้บริโภคเชื่อมต่อกัน โดยการใช้เครือข่ายคอมพิวเตอร์
ประโยชน์ของกฏหมายนี้ สำหรับผู้ประกอบธุรกิจ
• มีความชัดเจนในการดำเนินธุรกิจให้เป็นไปตามกฎหมาย
• ดำเนินงานภายใต้มาตรฐานเดียวกัน
• ได้รับความน่าเชื่อถือ
ประโยชน์ของกฏหมายนี้ สำหรับผู้ใช้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล
• ได้รับความเป็นธรรม ความโปร่งใส
• ได้รับบริการจากแพลตฟอร์มที่มีมาตรฐาน
• มีช่องทางให้รับรู้ถึงความเสี่ยง การตัดสินใจเลือกใช้แพลตฟอร์ม
• ประชาชนสามารถตรวจสอบได้ถึงสถานะของบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล ว่าได้มีการแจ้งให้ ETDA ทราบแล้วหรือยัง
บังคับใช้เมื่อไหร่ ?
นับตั้งแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาไป 180 วัน ผู้ประกอบุรกิจจะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามร่างพระราชกฤษฎีกาฯ ฉบับนี้ ภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ร่างพระราชกฤษฎีกาฯ นี้ มีผลใช้บังคับ