จัดการอย่างไรเมื่อลูกจ้างลาออกไม่เป็นไปตามระเบียบ?

ในฐานะนายจ้างแล้วหากลูกจ้างทำงานดีมีประสิทธิภาพก็ย่อมคาดหวังให้อยู่ทำงานด้วยกันไปนานๆ เพราะการหาลูกจ้างใหม่ที่ทำงานแทนคนเดิมได้ดีดั่งใจคงต้องใช้เวลา แต่หากเมื่อได้ลูกจ้างใหม่มาก็ใช่ว่าจะวางใจเสมือนคนเก่าได้ทั้งหมด ดีไม่ดีวันนี้มาทำงานพรุ่งนี้หายเงียบโทรไม่รับ ไลน์ไม่ตอบเลยก็มี และนี่ก็กลายเป็นวงจรปัญหาที่หลายออฟฟิศเจอะเจอ ลูกจ้างลาออกกะทันหันบ้าง ลาออกไม่เป็นไปตามระเบียบกฎเกณฑ์ที่ตกลงไว้บ้าง แล้วแบบนี้นายจ้างควรรับมืออย่างไร? ลองไปหาคำตอบกัน

ทำได้ไหมหากอยากลาออกจากงานทันที?

ปัจจุบันพบว่าอัตราการลาออกจากงานของลูกจ้างมีแนวโน้มสูงขึ้น โดยจากสถิติของสำนักงานประกันสังคมเมื่อต้นปีพบว่ามีอัตราสูงถึง 49.81% หรือประมาณ 182,682 คน ในขณะเดียวกันหลายองค์กรก็ประสบกับปัญหาขาดคนทำงานเพราะลูกจ้างลาออกจากงานทั้งแบบที่เป็นตามระเบียบ และไม่เป็นไปตามระเบียบ

สำหรับลูกจ้างที่ลาออกตามระเบียบ ยังมีระยะเวลาให้นายจ้างได้สรรหาคนมาทำงานแทนได้ทันเวลาก็ถือว่าดีไป แต่สำหรับลูกจ้างที่ลาออกกะทันหัน หรือลาออกไปไม่เป็นตามระเบียบกฎเกณฑ์นั้นก็ย่อมส่งผลกระทบทั้งกับงานที่รออยู่และองค์กรในภาพรวม เป็นแบบนี้การจะจัดการอย่างไรนั้นก็อยู่ที่ลักษณะของการจ้างงานและระเบียบขั้นตอนการจัดการของแต่ละองค์กร

โดยทั่วไปแล้วแต่ละบริษัทจะมีข้อบังคับหรือรายละเอียดที่ระบุไว้ในสัญญาการจ้างงานกรณีที่จะลาออก ซึ่งมีข้อตกลงว่าหากลูกจ้างจะลาออกต้องทำการยื่นหนังสือลาออก หรือแจ้งให้นายจ้างทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 30 วัน แต่ในทางกฎหมายนั้นไม่ได้มีข้อบังคับว่าต้องแจ้งลาออกล่วงหน้า 30 วัน แต่ที่บริษัทมักกำหนดไว้นั้นก็เพื่อให้มีเวลาสำหรับการเตรียมหาคนมาทำงานแทน และให้ลูกจ้างที่จะลาออกได้ส่งต่องานอย่างถูกต้องครบถ้วนให้คนที่มาแทน

ในทางปฏิบัติแม้จะไม่มีกฎหมายบังคับเรื่องระยะเวลาการแจ้งล่วงหน้า แต่ก็ใช่ว่าลูกจ้างทุกคนจะลาออกได้ทันที ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับลักษณะของสัญญาการจ้างงานด้วยว่าเป็นแบบไหน

ประเภทสัญญาการจ้างงาน

1. สัญญาแบบไม่มีระยะเวลา เป็นสัญญาการจ้างงานทั่วไป โดยพนักงานในสัญญานี้จะมีสถานะของพนักงานประจำ เนื้อหาในสัญญาจะไม่ระบุระยะเวลาการทำงานว่าจะต้องนานแค่ไหน ทั้งลูกจ้างและนายจ้างมีสิทธิยกเลิกสัญญาได้ และลูกจ้างก็สามารถแจ้งลาออกเมื่อไรก็ได้ตามที่ต้องการ โดยยื่นหนังสือลาออกเป็นลายลักษณ์อักษรให้นายจ้าง

2. สัญญาแบบมีกำหนดระยะเวลา สัญญารูปแบบนี้จะมีการกำหนดระยะเวลาการทำงานไว้อย่างชัดเจน เช่น 6 เดือน หรือ 1 ปี เมื่อทำงานครบตามกำหนดเวลาก็หยุดได้ทันที แต่หากลูกจ้างจะลาออกจากงานก่อนครบกำหนดอาจต้องเสียค่าเสียหาย ค่าชดเชยให้บริษัท ขึ้นอยู่กับข้อตกลงในสัญญา

แนวทางแก้ปัญหาลูกจ้างลาออกไม่เป็นไปตามระเบียบสำหรับนายจ้าง

  • ก่อนจ้างงานอาจเช็กประวัติการทำงานไปยังบริษัทเก่าของพนักงานที่จะรับเข้ามาทำงาน โดยให้พนักงานเซ็นหนังสือยินการตรวจสอบข้อมูลดังกล่าว
  • กำหนดรายละเอียดในสัญญาเรื่องการลาออกกะทันหันว่าให้มีการส่งมอบงานให้ผู้อื่นไว้ หรือจัดการงานที่รับผิดชอบอยู่ให้เรียบร้อยก่อน หากไม่ทำตามอาจมีบทลงโทษกำหนดไว้
  • กำหนดการจ่างค่าจ้างงวดสุดท้ายแบบให้พนักงานมารับด้วยตัวเอง (สำหรับกรณีที่ลูกจ้างไม่แจ้งลาออกล่วงหน้า) ไว้ในสัญญาจ้าง
  • ในตำแหน่งที่สุ่มเสี่ยงกับความเสียหายอย่างมากในกรณีที่ขาดคนทำงานกะทันหัน อาจมีข้อกำหนดเรื่องการรับผิดชอบค่าเสียหายหากลูกจ้างลาออกกะทันหัน หรือลาออกไม่เป็นไปตามข้อตกลง

แม้ในโลกของการทำงานเปิดกว้างลูกจ้างมีสิทธิเลือกที่จะสมัครงานหรือลาออกจากงานได้ตามความต้องการ แต่เพื่อเป็นการแสดงความรับผิดชอบและรักษาประวัติที่ดีในสายงาน รวมถึงลดปัญหาให้กับนายจ้าง และความเดือนร้อนจากการถูกปรับค่าเสียหาย คงจะดีกว่าหากการลาออกนั้นดำเนินการให้เป็นไปอย่างถูกต้องตามระเบียบข้อตกลง

 

อ้างอิงข้อมูล

www.mol.go.th

www.sso.go.th

Tag

Copyright ©2024  dharmniti.co.th All rights reserved.

Log in with your credentials

Forgot your details?