22 พฤศจิกายน 2566
การจดทะเบียนสมรสอาจมีหลักฐานเป็นเพียงแค่กระดาษแผ่นเดียว แต่รู้หรือไม่ว่าผลของกระดาษแผ่นเดียวนี้มีมากกว่าที่คุณคิด และวันนี้เราจะพาไปทำความเข้าใจกันว่าใบทะเบียนสมรสนั้นสำคัญอย่างไรหากสามีภรรยามีบุตรร่วมกัน
สามี-ภรรยา ไม่จดทะเบียนสมรส ใครมีสิทธิในตัวบุตรตามกฎหมาย
คู่สามี-ภรรยาที่ตัดสินใจใช้ชีวิตคู่ร่วมกันแล้วมีการจดทะเบียนสมรส ย่อมทำให้สิทธิต่างๆ ที่เป็นผลจากกระดาษแผ่นเดียวนี้เกิดขึ้นตามกฎหมาย รวมถึงสิทธิในตัวบุตรที่ทำให้ทั้งพ่อและแม่มีสิทธิร่วมกัน
แต่กรณีที่พ่อและแม่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน กฎหมายให้ถือว่าเด็กที่เกิดจากหญิงที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับชายเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของหญิงเพียงคนเดียว ตามมาตรา 1546 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
สรุปสิทธิของพ่อและแม่ตามกรณีต่างๆ ดังนี้
• พ่อเป็นคนแจ้งเกิดให้ลูก → ผู้ที่มีสิทธิในตัวบุตรคือ แม่
• พ่อให้ลูกใช้นามสกุล → ผู้ที่มีสิทธิในตัวบุตรคือ แม่
• พ่อจดทะเบียนรับรองบุตร → ผู้ที่มีสิทธิในตัวบุตรคือ พ่อ และ แม่
• ลูกมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านพ่อ → ผู้ที่มีสิทธิในตัวบุตรคือ แม่
• พ่อมีฐานะดีกว่าแม่ → ผู้ที่มีสิทธิในตัวบุตรคือ แม่
• พ่อส่งเสียเงินเลี้ยงดูบุตร → ผู้ที่มีสิทธิในตัวบุตรคือ แม่
• พ่อสนับสนุนและให้การศึกษาที่ดีต่อบุตร → ผู้ที่มีสิทธิในตัวบุตรคือ แม่
• แม่ทิ้งลูกไป และพ่อเป็นคนเลี้ยงดูบุตร แต่ไม่ได้ฟ้องศาล → ผู้ที่มีสิทธิในตัวบุตรคือ แม่
• แม่ทิ้งลูกไป และพ่อเป็นคนเลี้ยงดูบุตร และดำเนินการฟ้องศาล → ผู้ที่มีสิทธิในตัวบุตรคือ แม่ ส่วนพ่อจะมีสิทธิหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับการตัดสินของศาล
ดังนั้นจะเห็นได้ว่าหากพ่อและแม่ไม่จดทะเบียนสมรสกัน ก็ต้องถือว่าพ่อจะไม่มีสิทธิในตัวลูกเลย แม้ว่าพ่อจะยินยอมให้ลูกใช้นามสกุล ให้การเลี้ยงดู หรือให้การศึกษาที่ดี ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัว สิ่งเหล่านี้ไม่ได้ให้สิทธิแก่พ่อและไม่มีความสัมพันธ์ทางกฎหมายเลย เพราะถือเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของมารดาเพียงฝ่ายเดียว และเป็นบุตรนอกกฎหมายของพ่อด้วย