18 มีนาคม 2565
การสรรหาลูกจ้างที่ดีมีความสามารถตรงตามต้องการ และเข้ากับวัฒนธรรมองค์กรได้อย่างดีนั้น ถือเป็นความท้าทายอย่างหนึ่งสำหรับ HR หรือฝ่ายทรัพยากรบุคคล และกว่าจะหาได้จนบรรจุเป็นลูกจ้างประจำก็ต้องผ่านทั้งขั้นตอนการสัมภาษณ์งานและการทดลองงาน ซึ่งช่วงเวลาทดลองงานนี้มีเรื่องที่ HR และลูกจ้างควรรู้และปฏิบัติให้ถูกต้องเพื่อให้ได้คนทำงาน และได้งานตามที่ต้องการ วันนี้เราจะพาไปติดตามเรื่องที่ควรรู้ต่างๆ ค่ะ
การทดลองงานคืออะไร?
การทดลองงาน คือ การที่นายจ้างได้ตกลงรับลูกจ้างเข้าทำงานแล้ว แต่เพื่อพิสูจน์ความรู้ความสามารถ ทักษะการทำงานในตำแหน่งนั้นๆ รวมถึงการปรับตัวเข้ากับวัฒนธรรมองค์กร กฎระเบียบ สภาพแวดล้อม และเพื่อนร่วมงาน
โดยฝั่งนายจ้างจะมีการกำหนดระยะเวลาให้ลูกจ้างได้ทดลองทำงานก่อน เรียกว่า ช่วงทดลองงาน หรือ Probation หรือ Probationary Period ซึ่งส่วนใหญ่จะกำหนดเป็น 120 วัน และหากลูกจ้างปฏิบัติตนผ่านเกณฑ์มาตรฐานตามระยะเวลาที่กำหนดจึงบรรจุเป็นลูกจ้างจริง
เรื่องที่ฝ่ายบุคคลและลูกจ้างควรรู้เมื่ออยู่ในช่วงทดลองงาน
1. สิทธิ์ลูกจ้างช่วงทดลองงาน
ลูกจ้างที่เข้าทำงานและอยู่ในช่วงทดลองงาน บางบริษัทมักวางสถานะไว้เป็นลูกจ้างชั่วคราว แต่ตามกฎหมายแล้วลูกจ้างทดลองงานนี้มีฐานะเป็นลูกจ้างประจำ เช่นเดียวกับลูกจ้างทั่วไปที่ผ่านการทดลองงานแล้ว
ดังนั้นจึงมีสิทธิ์ที่จะได้รับผลประโยชน์และความคุ้มครองตามกฎหมายตั้งแต่วันแรกที่เข้าทำงาน เช่น การลาป่วยช่วงทดลองงาน ซึ่งมีสิทธิ์ที่จะได้รับเงินค่าจ้างในวันลาเช่นเดียวกับพนักงานประจำทั่วไป
2. การประเมินการทำงาน
ในระหว่างที่ลูกจ้างทดลองงาน นายจ้างควรมีการประเมินงานแบบเป็นอย่างการอย่างน้อย 2 ครั้ง นอกเหนือจากการสังเกต พูดคุย และดูผลงานที่มีตลอดเวลาอยู่แล้ว และควรประเมินตั้งแต่เนินๆ อย่ารอให้ถึงวันสุดท้าย โดยแบ่งเป็นช่วงระยะเวลาดังนี้
• การประเมินครั้งที่ 1 ในช่วง 45 หรือ 60 วันแรก ซึ่งเป็นการติดตามผลการว่าจ้าง เกี่ยวกับการปรับตัว ความสามารถในตำแหน่งงานและผลงานที่ทำได้
• การประเมินครั้งที่ 2 เมื่อครบ 100 วัน เพื่อให้เหลือเวลาสำหรับกรณีที่ไม่จ้างต่อในการดำเนินการเกี่ยวกับเอกสารหรือการเลิกจ้าง เพราะหากนายจ้างดำเนินการประเมินในช่วงครบ 119 วัน หรือ 120 วันพอดี แล้วไม่จ้างต่อ อาจสุ่มเสี่ยงกับการจัดการเรื่องการเลิกจ้างซึ่งอาจกินระยะเวลามากกว่า 1-2 วัน และเข้าข่ายที่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน มาตรา 118 (1) ซึ่งกำหนดไว้ว่าให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยแก่ลูกจ้างที่ทำงานครบ 120 วัน แต่ไม่ครบ 1 ปี ในอัตราที่ไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 30 วัน
3. สิ่งที่ควรทำระหว่างทดลองงาน
• ฝ่ายทรัพยากรบุคคล ควรดูแลใส่ใจลูกจ้างเป็นพิเศษ โดยอาจมีการกำหนดวิธีทดสอบทั้งด้านความสามารถในการทำงาน ทัศนคติความคิดเกี่ยวกับงานและองค์กร พฤติกรรมการปฏิบัติตามกฎระเบียบ ตลอดจนการปฏิสัมพันธ์กับผู้ร่วมงานคนอื่นๆ เพื่อประกอบการประเมินและพิจารณาให้ลูกจ้างผ่านโปร หรือต่อโปร หรือไม่จ้างงานต่อ
• ลูกจ้างทดลองงาน ควรเร่งพิสูจน์ตนเองเกี่ยวกับงานให้ทั้งหัวหน้างานและ HR เห็นว่าตัดสินใจเลือกคนไม่ผิด ปฏิบัติตามกฎระเบียบอย่างเคร่งครัด เรียนรู้วัฒนธรรมองค์กรและเพื่อนร่วมงาน หากไม่รู้อะไรต้องรีบถาม โดยเปิดใจให้กว้างพร้อมรับสิ่งใหม่ๆ เพื่อนำมาปรับหรือพัฒนาตนเอง ที่สำคัญเลี่ยงการขาด ลา มาสาย โดยไม่จำเป็น
4. สิ่งควรทำเมื่อมีการขยายเวลาทดลองงาน
การขยายเวลาทดลองงาน หรือต่อโปร อาจเกิดขึ้นจากกรณีที่นายจ้างยังเห็นผลงานของลูกจ้างไม่ชัดเจน หรือยังเสียดายความสามารถหรือศักยภาพในมุมที่ลูกจ้างยังไม่แสดงออกมา โดยอาจมีการปรับเปลี่ยนหน้าที่งาน หรือเปิดโอกาสให้ลูกจ้างแสดงความสามารถออกมาอย่างเต็มที่ ซึ่งช่วงเวลานี้ในมุมของ HR และลูกจ้างควรปฏิบัติดังนี้
• ฝ่ายทรัพยากรบุคคล สำหรับการกำหนดระยะเวลาทดลองงานที่มีเขียนไว้ข้างต้นว่าส่วนใหญ่บริษัทมักกำหนดไว้ที่ 120 วัน เพื่อให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน มาตรา 118 เกี่ยวกับการจ่ายค่าชดเชย ดังนั้นหากมีการขยายระยะเวลาทดลองงานออกไปอีกมากกว่า 120 วัน โดยอาจจะเป็นขยายอีก 1 เดือน หรือ 3 เดือน ก็สามารถทำได้ แต่สิ่งที่ต้องรู้คือการจัดการให้ลูกจ้างทดลองงานนั้นได้รับสิทธิ์ตามกฎหมายแรงงานเท่าเทียมกับลูกจ้างทั่วไป
• ลูกจ้างทดลองงาน อย่าเพิ่งท้อหรือมองในด้านลบ เพราะความยากง่ายของการประเมินให้ผ่านโปรของแต่ละบริษัทไม่เหมือนกัน และไม่ว่าจะเป็นเด็กจบใหม่หรือคนมีประสบการณ์ทำงานจากที่อื่นมาแล้วก็มีโอกาสเจอกับสถานการณ์นี้ได้ ดังนั้นเมื่อมีการต่อโปรให้มองในแง่ดีที่ว่าคุณยังมีโอกาสที่จะพัฒนาศักยภาพของตัวเอง และแสดงความสามารถออกมาให้หัวหน้าเห็นมากขึ้น หาจุดแข็งจุดเด่นที่คุณมีและองค์กรต้องการเพื่อพัฒนาต่อยอดให้ดีขึ้น ขณะเดียวกันก็สอบถามหัวหน้างานโดยตรงว่ามีจุดไหนที่คุณยังขาดและต้องพัฒนา เพื่อแก้ปัญหาได้ถูกจุด
5. เมื่อลูกจ้างไม่ผ่านทดลองงาน
หากลูกจ้างถูกต่อโปรและทำงานจนเกินระยะเวลา 120 วัน แต่สุดท้ายถูกประเมินว่ายังไม่ผ่านทดลองงาน ลูกจ้างมีสิทธิ์ได้รับค่าชดเชยตามกฎหมายซึ่งระบุในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน มาตรา 118 (1) กำหนดให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยแก่ลูกจ้างที่ทำงานครบ 120 วัน แต่ไม่ครบ 1 ปี ในอัตราที่ไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 30 วัน และจะต้องบอกกล่าวล่วงหน้าให้ลูกจ้างได้ทราบด้วย หากไม่บอกกล่าวให้ถูกต้องก็ต้องจ่ายค่าตกใจ
ตัวอย่าง ลูกจ้างได้รับค่าจ้าง 20,000 บาท/เดือน เมื่อลูกจ้างทำงานครบ 120 วัน แล้วนายจ้างบอกเลิกจ้างโดยไม่แจ้งล่วงหน้าก่อน 1 เดือน จำนวนเงินทั้งหมดที่นายจ้างต้องจ่ายแก่ลูกจ้างคือ เงินเดือนงวดสุดท้าย 20,000 บาท + เงินชดเชย 20,000 บาท + เงินค่าตกใจ (ตามที่บริษัทกำหนด)