12 ตุลาคม 2565
วัฏจักรหนึ่งที่เกิดขึ้นอย่างเลี่ยงไม่ได้ในตลาดแรงงาน คือการลาออกของลูกจ้าง พนักงาน และสิ่งสำคัญที่ผู้ลาออกจากงานต้องรู้ก่อนก้าวออกจากออฟฟิศเดิมถาวรก็คือการจัดการเรื่องสิทธิประโยชน์ที่ควรจะได้ รวมถึงกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ซึ่งหลายคนก็มักจะใช้วิธีลาออกเมื่อไร ก็ปิดบัญชีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเมื่อนั้นเลย แต่รู้หรือไม่ว่านอกจากการปิดบัญชีแล้ว คุณยังมีทางเลือกอื่นๆ ที่อาจจะคุ้มกว่ารออยู่ มีอะไรบ้าง ตามไปดูกัน
กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ คืออะไร?
กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือ Provident Fun (PVD) เป็นกองทุนที่นายจ้างและลูกจ้างร่วมกันจัดตั้งขึ้นด้วยความสมัครใจทั้ง 2 ฝ่าย เพื่อให้ลูกจ้างมีเงินออมไว้ใช้จ่ายเมื่อออกจากงาน เกษียณอายุ ทุพพลภาพ หรือหากลูกจ้างเสียชีวิตแล้วก็ยังเป็นหลักประกันให้แก่ครอบครัวอีกด้วย
เงินในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพแบ่งเป็น 4 ส่วน คือ
• เงินสะสม เป็นเงินที่สมาชิกนำส่งเข้ากองทุน โดยกฎหมายกำหนดให้สะสมได้ตั้งแต่ 2 – 15% ของเงินเดือน
• เงินสมทบ เป็นเงินที่นายจ้างนำส่งให้สมาชิก โดยกฎหมายกำหนดให้สมทบในอัตราที่ไม่ต่ำกว่าเงินสะสมของลูกจ้าง
• ผลประโยชน์ของเงินสะสม
• ผลประโยชน์ของเงินสมทบ
***ผลประโยชน์ของเงินสะสม และผลประโยชน์ของเงินสมทบ เกิดจากเงินสะสมและเงินสมทบที่ถูกนำไปบริหารจัดการโดยบริษัทจัดการ หรือ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) โดยจะนำเงินไปลงทุนในตราสารทางการเงินประเภทต่างๆ เพื่อสร้างดอกผลให้กับกองทุน แล้วนำดอกผลที่เกิดขึ้นมาเฉลี่ยคืนให้กับสมาชิกตามสัดส่วนของเงินที่แต่ละคนมีอยู่ในกองทุน
จัดการเงินสำรองเลี้ยงชีพอย่างไรเมื่อลาออกจากงาน?
ตามขั้นตอนแล้วสมาชิกจะได้รับเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพคืน เมื่อสิ้นสมาชิกภาพ คือ ออกจากงาน เกษียณอายุ โอนย้ายกองทุน และเสียชีวิต
• โดยจะได้รับส่วนของเงินสะสมเต็มจำนวน พร้อมผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากเงินสะสม
• ส่วนเงินสมทบและผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากเงินสมทบ จะได้รับตามเงื่อนไขที่กำหนด ขึ้นอยู่กับระยะเวลาการทำงานและการเป็นสมาชิกกองทุน
โดยแนวทางจัดการเงินสำรองเลี้ยงชีพ มีดังนี้
1. ขอรับเงินกองทุนทั้งก้อน
วิธีนี้เป็นการปิดบัญชีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือการลาออกจากระบบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ โดยสมาชิกจะต้องตรวจสอบความถูกต้องเกี่ยวกับเงินสำรองเลี้ยงชีพทั้ง 4 ส่วน คือ
• ความถูกต้องของเงินสะสม
• เงื่อนไขการยกเว้นภาษีของผลประโยชน์เงินสะสม
• ความถูกต้องของเงินสมทบ
• ผลประโยชน์เงินสมทบ
ซึ่งโดยปกติเงิน 3 ส่วนหลังจะได้รับการยกเว้นภาษีทั้งจำนวนเมื่อสมาชิกออกจากงานโดยมีอายุ 55 ปีบริบูรณ์ และเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไม่น้อยกว่า 5 ปี
เรื่องควรรู้! : แนวทางนี้จะทำให้การออมเงินเผื่อวัยเกษียณมีโอกาสสะดุด ไม่ต่อเนื่อง หากเป็นมนุษย์เงินเดือนที่ไม่ค่อยมีเงินเก็บ จะยิ่งเสี่ยงต่อการเกษียณอย่างลำบาก
2. ยังไม่ขอรับเงินคืน โดยคงไว้ในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
สมาชิกสามารถออมเงินสำรองเลี้ยงชีพต่อเนื่องไปได้แม้เปลี่ยนงาน โดยคงเงินไว้ที่กองทุนเดิมได้ตามระยะเวลาที่กำหนดในข้อบังคับกองทุน และเงินที่คงไว้นั้นจะได้รับเงินผลประโยชน์จากการลงทุนต่อไปเรื่อยๆ แต่จะไม่ได้เงินสมทบจากนายจ้างเดิมนับจากวันที่พ้นสภาพการเป็นพนักงาน ทั้งนี้การคงเงินไว้นั้นเพื่ออำนวยประโยชน์ 2 กรณีคือ
• สำหรับรอโอนย้ายไปกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของนายจ้างใหม่
• สำหรับการโอนย้ายไปยังกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ซึ่งจะต้องเป็น RMF for PVD ในกรณีที่ที่ทำงานใหม่ไม่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
เรื่องควรรู้! : การโอนย้ายเงินกองทุนทั้ง 2 ทาง จะไม่เสียภาษีหรือค่าธรรมเนียมใดๆ และทำให้การลงทุนที่มีอยู่ได้ทำงานอย่างต่อเนื่อง ตามแผนการออมระยะยาวที่วางไว้ ทำให้คุณพร้อมสู่วัยเกษียณอย่างสบาย
ดังนั้นสำหรับลูกจ้างเงินเดือนธรรมดาๆ เมื่อจะลาออก และที่ทำงานมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้นั้น ควรต้องวางแผนชีวิตและการเงินอย่างรอบคอบ เพื่อให้เลือกการจัดการที่เหมาะสม และไม่ทำให้ชีวิตลำบากในอนาคต