19 กรกฎาคม 2567
9 สิทธิของเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล
1. สิทธิได้รับการแจ้งให้ทราบ
• เจ้าของข้อมูล มีสิทธิที่จะทราบว่าผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล
• จะจัดเก็บข้อมูลอะไรบ้าง วัตถุประสงค์การจัดเก็บ ระยะเวลาการจัดเก็บ สถานที่ จะเปิดเผยให้ใครบ้าง และวิธีการติดต่อกับ
ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล
• ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล จะต้องแจ้งรายละเอียด วัตถุประสงค์ในการเก็บรวบรวมข้อมูล การใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลให้เจ้าของข้อมูลทราบก่อนหรือขณะเก็บรวบรวมข้อมูล
• จัดทำนโยบายความเป็นส่วนตัว (Privacy Notice)
• กรณีที่ผู้ควบคุมข้อมูลจะทำการเปลี่ยนแปลงวัตถุประสงค์ในการประมวลผลภายหลัง ผู้ควบคุมข้อมูลต้องแจ้งให้เจ้าของข้อมูลทราบถึงวัตถุประสงค์ใหม่ด้วย
2. สิทธิขอเพิกถอนความยินยอม
• เจ้าของข้อมูลเคยให้ความยินยอมในการใช้ข้อมูลไปแล้ว ต่อมาไม่ประสงค์ที่จะให้ความยินยอม ก็สามารถยกเลิกเมื่อใดก็ได้
• การยกเลิกจะต้องไม่ขัดต่อข้อจำกัดสิทธิในการถอนความยินยอมทางกฎหมาย หรือสัญญาที่ให้ประโยชน์แก่เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลที่ได้ให้ความยินยอมไปก่อนหน้านี้
• การยกเลิกนี้ไม่ควรยุ่งยากซับซ้อน หรือต้องเสียค่าใช้จ่าย
• เช่น เจ้าของข้อมูลสามารถขอยกเลิกติดตามข่าวสารทางอีเมลของเว็บไซต์โดยกด unsubscribe ที่แนบมากับอีเมล
3. สิทธิขอเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคล
• เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลมีสิทธิ ขอเข้าถึงและขอรับสำเนาข้อมูลส่วนบุคคลที่เกี่ยวกับตนเองจากผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล เช่น หนังสือรับรองการประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคล
• เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลมีสิทธิถามถึงการได้มาซึ่งข้อมูล ที่ตัวเองอาจไม่แน่ใจว่าได้ให้ความยินยอมไปหรือไม่
• สิทธิการเข้าถึงข้อมูลนั้นต้องไม่ขัดต่อกฎหมายหรือคำสั่งศาล และการใช้สิทธินั้นต้องไม่ละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น
4. สิทธิขอโอนย้ายข้อมูลส่วนบุคคล
• เจ้าของข้อมูลต้องการให้ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลรายแรกโอนข้อมูลส่วนบุคคลไปยังผู้ควบคุมรายอื่น สามารถขอให้ผู้ควบคุมรายแรกจัดทำข้อมูลที่อ่านได้ง่ายหรือจัดทำข้อมูลในรูปแบบที่เข้าถึงได้ด้วยวิธีการอัตโนมัติ และโอนไปยังผู้ควบคุมอีกรายได้
• เจ้าของข้อมูลมีสิทธิขอรับข้อมูลที่โอนไปนั้นจากผู้ควบคุมข้อมูลรายแรกได้
• การใช้สิทธินี้จะต้องไม่ขัดต่อกฎหมาย สัญญา หรือละเมิดสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น
• เช่น การย้ายพนักงานจากบริษัทหนึ่งไปยังอีกบริษัทหนึ่ง ตัวพนักงานก็สามารถใช้สิทธิให้บริษัทแรกโอนย้ายข้อมูลส่วนบุคคลไปยังบริษัทที่กำลังจะย้ายไปได้ รวมถึงขอรับสำเนาข้อมูลของตนเอง
5. สิทธิขอคัดค้านการเก็บรวบรวม ใช้ เปิดเผย ข้อมูลส่วนบุคคล
• เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลสามารถคัดค้านการเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผย ข้อมูลส่วนบุคคลได้
• เช่น ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล ประมวลผลข้อมูล เพื่อใช้ในวัตถุประสงค์ทางการตลาด โดยอ้างฐานประโยชน์โดยชอบด้วยกฎหมาย กรณีนี้เจ้าของข้อมูลมีสิทธิคัดค้านการประมวลผลได้ โดยผู้ควบคุมข้อมูลไม่สามารถปฏิเสธการใช้สิทธินั้นของเจ้าของข้อมูล
6. สิทธิขอให้ลบหรือทำลายข้อมูลส่วนบุคคล
• เจ้าของข้อมูลมีสิทธิ ขอให้ผู้ควบคุมลบหรือทำลายข้อมูลส่วนบุคคล หรือทำให้ข้อมูลส่วนบุคคลเป็นข้อมูลที่ไม่สามารถระบุตัวตนได้
• ในกรณีที่ข้อมูลส่วนบุคคลหมดความจำเป็นในการเก็บรักษาไว้ ตามวัตถุประสงค์ หรือ เจ้าของข้อมูลถอนความยินยอมและผู้ควบคุมข้อมูลไม่มีฐานอื่นในการประมวลผลต่อไป หรือ เจ้าของข้อมูลใช้สิทธิคัดค้านการประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลและผู้ควบคุมข้อมูลไม่มีฐานอื่นในการประมวลผลต่อไป
• การลบหรือทำลาย ผู้ควบคุมข้อมูลจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายและการดำเนินการด้วยตนเอง
7. สิทธิขอให้ระงับการใช้ข้อมูลส่วนบุคคล
• เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลมีสิทธิขอให้ผู้ควบคุมข้อมูลระงับการใช้ข้อมูลได้ เช่น
• กรณีที่เจ้าของข้อมูลใช้สิทธิในการแก้ไขข้อมูลให้ถูกต้อง และระหว่างที่ผู้ควบคุมข้อมูลตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล
• กรณีที่ข้อมูลส่วนบุคคลนั้นไม่มีฐานในการประมวลผล แต่เจ้าของข้อมูลไม่ต้องการใช้สิทธิในการลบเพราะเห็นว่าอาจเป็นประโยชน์ในอนาคต
8. สิทธิขอให้แก้ไขข้อมูลส่วนบุคคล
• เจ้าของข้อมูลมีสิทธิที่จะขอแก้ไขข้อมูลส่วนบุคคลของตนเอง
• ให้มีความถูกต้อง สมบูรณ์ เป็นปัจจุบัน และไม่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดได้
• การแก้ไขจะต้องเป็นไปด้วยความสุจริต และไม่ขัดต่อหลักกฎหมาย
• เช่น การขอแก้ไขข้อมูลส่วนตัว ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ รหัสผ่าน หน้าเว็บไซต์
9. สิทธิในการร้องเรียน
• เจ้าของข้อมูลมีสิทธิร้องเรียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่และคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล
• กรณีที่ผู้ควบคุม ผู้ประมวลผล รวมทั้งลูกจ้างหรือผู้รับจ้างของผู้ควบคุม ผู้ประมวลผล ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย รวมถึงมีสิทธิในการเรียกค่าสินไหมทดแทนทางศาลด้วย