12 ตุลาคม 2565
กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือ Provident Fund (PVD) เป็นหนึ่งในหลักประกันที่ลูกจ้างสามารถเก็บออมไว้ใช้เมื่อออกจากงาน เกษียณอายุ ทุพพลภาพ หรือหากเสียชีวิตก็ยังส่งต่อให้กับครอบครัวได้ ซึ่งมีทั้งส่วนของลูกจ้างและนายจ้างที่รวมไว้ด้วยกัน ดังนั้นหากเงินส่วนนี้ถูกสะสมและเก็บออมไว้ได้ตามกำหนด ลูกจ้างก็มีสิทธิ์ที่จะได้เงินเต็มจำนวน แต่อย่างไรก็ตามยังมีปัจจัยต่างๆ ที่ส่งผลให้เงินส่วนนี้อาจถูกถอนออกทั้งจากการโดนลดเงินเดือน ถูกเลิกจ้าง นายจ้างเลิกกิจการหรือหยุดส่งเงินสมทบ ดังนั้นในฐานะลูกจ้างจะมีวิธีตั้งรับและจัดการเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพนี้อย่างไร ไปติดตามรายละเอียดกัน
เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ จัดการอย่างไรดี??
1. กรณีถูกเลิกจ้างหรือนายจ้างเลิกกิจการ
หากนายจ้างเลิกจ้าง หรือเลิกกิจการ ทำให้สวัสดิการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่ลูกจ้างเคยได้รับถูกยกเลิกตามไปด้วย นายจ้างจะต้องดำเนินการแต่งตั้งผู้ชำระบัญชีให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน และต้องดำเนินการชำระบัญชีให้เสร็จภายใน 150 วัน เมื่อเสร็จสิ้นจะมีขั้นตอนดำเนินการต่างๆ กับเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพทั้ง 4 ส่วน คือ
• ส่วนของลูกจ้าง
– เงินสะสม
– ผลประโยชน์ของเงินสะสม
• ส่วนของนายจ้าง
– เงินสมทบ
– ผลประโยชน์ของเงินสมทบ
แนวทางจัดการเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเมื่อถูกเลิกจ้างหรือนายจ้างเลิกกิจการ
1. ลูกจ้างมีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ และเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมาไม่น้อยกว่า 5 ปี ลูกจ้างสามารถถอนเงินก้อนนี้ออกจากกองทุนฯ ได้โดยไม่ต้องเสียภาษี แต่การถอนเงินออกมาควรมีวิธีจัดการที่ดีรองรับและต่อยอดเงินก้อนนั้นให้ได้ประโยชน์มากที่สุด เพื่อให้มีเงินไว้ใช้ยามเกษียณ
2. ลูกจ้างมีอายุยังไม่ถึง 55 ปีบริบูรณ์ หรือเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพน้อยกว่า 5 ปี กรณีนี้ลูกจ้างไม่ควรถอนเงินออกจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) ทันที เพราะจะทำให้มีภาระภาษีที่ต้องจ่าย และการออมเงินสำรองเลี้ยงชีพขาดช่วง ดังนั้นควรเปลี่ยนจากการถอนเงินเป็นการโอนย้ายเงินก้อนนี้ไปกองทุน RMF for PVD (กองทุน RMF ที่เปิดมาเพื่อรับการโอนจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ)
2. กรณีนายจ้างหยุดส่ง หรือเลื่อนส่งเงินสมทบ
วิกฤติเศรษฐกิจปัจจุบันอาจทำให้หลายองค์กรประสบปัญหา และต้องตัดค่าใช้จ่ายต่างๆ รวมถึงส่วนของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ที่นายจ้างอาจเลือกหยุดส่งหรือเลื่อนส่งเงินสมทบเข้ากองทุนฯ ชั่วคราว ทำให้ลูกจ้างได้รับผลกระทบจากสวัสดิการที่เคยได้รับด้วย
แนวทางจัดการเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเมื่อนายจ้างหยุดส่งหรือเลื่อนส่งเงินสมทบ
1. หยุดส่งเงินตามนายจ้าง โดยไม่จ่ายเงินสะสมเข้าไปในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ วิธีนี้ลูกจ้างจะได้รับการผ่อนผัน และยังคงไว้ซึ่งสิทธิ์ต่างๆ ที่อยู่ในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพด้วย
2. ส่งเงินสะสมเข้ากองทุนฯ ต่อ แม้นายจ้างจะหยุดจ่ายเงินสมทบแล้วก็ตาม เพราะกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นการลงทุนระยะยาวและเป้าหมายเป็นการออมเพื่อเกษียณ
3. กรณีนายจ้างลดเงินเดือนลูกจ้าง
สำหรับลูกจ้างที่ถูกลดเงินเดือนในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ อาจทำให้มีรายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย แนวทางจัดการกับสถานการณ์นี้ลูกจ้างบางคนอาจยกเลิกการจ่ายเงินสะสมเพื่อตัดค่าใช้จ่าย แต่รู้หรือไม่ว่าการใช้วิธีดังกล่าวจะทำให้เงินออมระยะยาวมีปัญหา
ดังนั้นสิ่งที่ลูกจ้างควรทำคือ การจัดการเงินอย่างเป็นระบบ จดบันทึกรายรับ-รายจ่ายอย่างละเอียด แล้ววิเคราะห์รายการต่างๆ เพื่อตัดรายจ่ายไม่จำเป็นออก เพื่อให้การใช้จ่ายเหมาะสมสอดคล้องกับรายได้ นอกจากนี้ยังควรเพิ่มทักษะเพื่อสร้างรายได้ที่หลากหลายช่องทาง จะช่วยให้การเงินดีขึ้นในช่วงที่ถูกลดเงินเดือน แทนการหยุดส่งเงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ