ทะเบียนบ้านหาย ทะเบียนบ้านชำรุด ต้องทำอย่างไร?

12 ตุลาคม 2565

ทะเบียนบ้าน ถือเป็นเอกสารสำคัญ และต้องใช้ในชีวิตประจำวันรองๆ จากบัตรประชาชนเลยก็ว่าได้ ทั้งการสมัครงาน หรือทำธุรกรรมต่างๆ ดังนั้นเมื่อหายหรือชำรุดก็ต้องรีบดำเนินการเพื่อให้ได้ทะเบียนบ้านเล่มใหม่มาอยู่ติดบ้านไว้ให้อุ่นใจ ซึ่งจะมีวิธีการที่ต้องทำอย่างไรบ้าง ตามไปดูกัน

 

ทะเบียนบ้าน สำคัญอย่างไร?

ทะเบียนบ้าน เป็นเอกสารประจำบ้านซึ่งแสดงรายละเอียดของรหัสประจำบ้าน รายชื่อบุคคลที่อยู่ในบ้านหลังนั้นทั้งหมด และบ่งบอกสถานะว่าใครเป็นเจ้าบ้าน ใครเป็นผู้อาศัย โดยทะเบียนบ้านจะแสดงรายละเอียดต่างๆ ของแต่ละบุคคล เช่น ชื่อ-นามสกุล ชื่อบิดา-มารดา เลขบัตรประจำตัวประชาชน สัญชาติ เพศ วันเดือนปีเกิด

นอกจากนี้ยังบ่งบอกได้ถึงการปลูกสร้างบ้านที่ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร รวมถึงการมีเอกสารสิทธิ์ในที่ดินที่ปลูกสร้างอาคารนั้นๆ

***บ้านที่แจ้งจดเลขที่บ้านจะมีทะเบียนบ้านหลังละ 1 เล่ม แต่คน 1 คน จะมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านได้เพียง 1 ที่เท่านั้น แม้ว่าจะมีบ้านหลายหลังก็ตาม

 

5 ประเภทของทะเบียนบ้าน

1. ทะเบียนบ้านชั่วคราว ออกโดยสำนักบริหารการทะเบียน ใช้ในกรณีที่บ้านหลังนั้นไม่ได้ขออนุญาตปลูกสร้างบ้านตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการก่อสร้างอาคาร หรือปลูกสร้างในพื้นที่สาธารณะ เขตพื้นที่ป่าสงวน พื้นที่ป่าบุกรุก โดยไม่ได้รับอนุญาต หรือไม่มีเอกสารสิทธิ์ในการก่อสร้าง

2. ทะเบียนบ้านชั่วคราวของสำนักทะเบียน ใช้ในการลงรายการชื่อของบุคคลต่างๆ ที่ทำการขอแจ้งย้ายทะเบียนบ้านจากที่อยู่เดิมไปยังบ้านเลขที่ใหม่ภายใน 15 วัน นับตั้งแต่ทำการย้ายออก

3. ทะเบียนบ้าน (ท.ร.13) เป็นทะเบียนบ้านที่ใช้ลงรายการชื่อของคนต่างด้าวที่เข้าเมืองอย่างถูกต้องตามกฎหมายแต่อยู่ในลักษณะชั่วคราว หรือเข้าเมืองโดยไม่ถูกต้องตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง

4. ทะเบียนบ้าน (ท.ร.14) เป็นทะเบียนบ้านที่ใช้สำหรับลงรายการชื่อบุคคลที่มีสัญชาติไทย และต่างด้าวที่มีใบประจำตัวคนต่างด้าว

5. ทะเบียนบ้านกลาง เป็นเอกสารที่ไม่ใช่ทะเบียนบ้าน แต่เป็นเอกสารที่ผู้อำนวยการทะเบียนกลางกำหนดให้จัดทำขึ้นเพื่อลงรายการชื่อบุคคลในกรณีที่คนคนนั้นไม่อาจมีชื่อในทะเบียนบ้าน

 

ทะเบียนบ้านหาย หรือทะเบียนบ้านชำรุด ต้องทำอย่างไร?

1. กรณีทะเบียนบ้านหาย หรือชำรุด โดยมีเจ้าบ้าน

• เจ้าบ้านเตรียมบัตรประจำตัวประชาชน ติดต่อยื่นคำร้องขอทะเบียนบ้านเล่มใหม่ต่อนายทะเบียนในท้องที่ที่บ้านนั้นตั้งอยู่

• โดยไม่ต้องแจ้งความที่สถานีตำรวจ

• กรณีที่เจ้าบ้านไม่สะดวกไปดำเนินการเอง สามารถมอบอำนาจให้ผู้อื่นดำเนินการยื่นคำร้องต่อนายทะเบียนแทนได้ แต่ต้องมีเอกสารเพิ่มเติมคือ

– หนังสือมอบอำนาจ

– บัตรประจำตัวประชาชนของเจ้าบ้าน

– บัตรประจำตัวประชาชนของผู้ได้รับมอบอำนาจ


2. กรณีทะเบียนบ้านหายหรือชำรุด โดยไม่มีเจ้าบ้าน

• หากทะเบียนบ้านหาย หรือชำรุด และไม่มีเจ้าบ้าน เนื่องจากเสียชีวิตแล้ว ให้ผู้ที่เป็นเจ้าของบ้านเป็นผู้ดำเนินการขอทะเบียนบ้านใหม่แทนได้ โดยใช้บัตรประจำตัวประชาชนของเจ้าของบ้าน

• สำหรับบ้านที่ยังไม่มีการโอนกรรมสิทธิ์ หรือยังไม่มีเจ้าของบ้าน ผู้ที่เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์จะต้องดำเนินการ โดยนำเอกสารการถือครองกรรมสิทธิ์ พร้อมบัตรประชาชนยื่นขอทะเบียนบ้านใหม่ แต่ถ้าเจ้าของกรรมสิทธิ์ยังไม่บรรลุนิติภาวะต้องมีผู้มีอำนาจปกครองไปยื่นเรื่องด้วย พร้อมเอกสารยืนยันการเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในบ้านหลังนั้น

3. กรณีทะเบียนบ้านหาย หรือชำรุด โดยมีเจ้าบ้าน แต่ติดต่อเจ้าบ้านไม่ได้

• การขอทะเบียนบ้านใหม่เป็นหน้าที่ของเจ้าบ้านโดยตรง แต่หากติดต่อเจ้าบ้านไม่ได้ ให้ผู้ดำเนินการปรึกษาเจ้าหน้าที่สำนักงานเขต หรือที่ว่าการอำเภอที่ไปยื่นเรื่อง เพื่อขอคำแนะนำในการดำเนินการ

 

ความแตกต่างของ เจ้าบ้าน กับ เจ้าของบ้าน

สิ่งที่ชี้ชัดความแตกต่างระหว่างเจ้าบ้าน กับเจ้าของบ้าน คืออำนาจการครอบครองตามที่กฎหมายกำหนด

• เจ้าบ้าน เป็นผู้ครอบครองบ้านในฐานะเป็นเจ้าของ ผู้เช่า หรือไม่ใช่เจ้าของบ้านก็ได้ มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายทะเบียนราษฎรเท่านั้น เช่น แจ้งเกิด ตาย ย้ายเข้า ย้ายออก ปลูกบ้านใหม่ หรือรื้อบ้าน ซึ่งการเป็นเจ้าบ้านไม่ได้หมายความว่าจะต้องมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินหรือตัวบ้านนั้น

• เจ้าของบ้าน เป็นเจ้าของทรัพย์สินหรือเจ้าของบ้าน ซึ่งกฎหมายการทะเบียนราษฎรไม่ได้บังคับว่าจะต้องเป็นเจ้าบ้าน และการที่ให้บุคคลอื่นทำหน้าที่เป็นเจ้าบ้านก็ไม่ทำให้สิทธิ์การครอบครองบ้านเสียไป ดังนั้นกรณีที่เจ้าของบ้านไม่สามารถทำหน้าที่เป็นเจ้าบ้านได้ ก็สามารถให้ผู้อื่นเป็นเจ้าบ้านแทนได้

 

สถานที่ติดต่อเพื่อทำทะเบียนบ้านใหม่

การยื่นคำร้องขอทำทะเบียนบ้านใหม่ จะขึ้นอยู่กับว่าทะเบียนบ้านนั้นอยู่ในพื้นที่เขตไหน หรือจังหวัดใด เพราะต้องขอจากที่เดิมที่เคยออกให้

• กรุงเทพฯ ยื่นคำร้องขอทำทะเบียนบ้านเล่มใหม่ได้ที่สำนักงานเขต ที่เจ้าบ้านมีชื่ออยู่ตามทะเบียนบ้าน

• ต่างจังหวัด ยื่นคำร้องขอทำทะเบียนบ้านเล่มใหม่ได้ที่ ที่ว่าการอำเภอ ที่เจ้าบ้านมีชื่ออยู่ตามทะเบียนบ้าน

 

อ้างอิงข้อมูล

สำนักบริหารการทะเบียน

Tag

Copyright ©2024  dharmniti.co.th All rights reserved.

Log in with your credentials

Forgot your details?