เซ็นชื่อแทนกัน เท่ากับ ปลอมเอกสาร แม้เจ้าของยินยอมก็มีความผิด
รู้หรือไม่? การเซ็นชื่อแทนกัน หรือปลอมลายเซ็น ถือเป็นความผิดฐานปลอมแปลงเอกสาร และมีโทษทางกฎหมายทั้งจำทั้งปรับ แม้เจ้าของลายเซ็นนั้นจะยินยอมแล้วก็ตาม ดังนั้นเพื่อป้องกันความผิดที่อาจเกิดจากความตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม ควรศึกษารายละเอียด พร้อมข้อกฎหมายและบทลงโทษต่างๆ โดยสิ่งที่น่าสนใจและเรื่องต้องระวังมีอะไรบ้าง ตามธรรมนิติไปหาคำตอบกัน
ความผิดฐานปลอมเอกสาร ต้องมีองค์ประกอบอะไรบ้าง?
เอกสาร หมายความว่า กระดาษหรือวัตถุอื่นใดซึ่งได้ทำให้ปรากฏความหมายด้วยตัวอักษร ตัวเลข ผัง หรือแผนแบบอย่างอื่น จะเป็นโดยวิธีพิมพ์ ถ่ายภาพ หรือวิธีอื่นอันเป็นหลักฐานแห่งความหมายนั้น
เอกสารราชการ หมายความว่า เอกสารซึ่งเจ้าพนักงานได้ทำขึ้นหรือรับรองใน หน้าที่ และให้หมายความรวมถึงสำเนาเอกสารนั้นๆ ที่เจ้าพนักงานได้รับรองในหน้าที่ด้วย
ลายมือชื่อ หมายความรวมถึงลายพิมพ์นิ้วมือและเครื่องหมายซึ่งบุคคลลงไว้ แทนลายมือชื่อของตน
ความผิดฐานปลอมเอกสารต้องมีองค์ประกอบ 3 ส่วน ครบถ้วน ดังนี้
1) ลงลายมือชื่อคนอื่น (แม้เจ้าของลายมือชื่อตัวจริงยินยอมก็ผิด)
2) ทำไปเพื่อให้คนอื่นหลงเชื่อ
3) คนอื่นได้รับความเสียหาย
ดังนั้นการกระทำเกี่ยวกับเอกสารใดๆ ก็ตาม หากมีองค์ประกอบครบทั้ง 3 ส่วน ข้างต้นจะถือเป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร และจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264
การทำปลอมคืออะไร?
การทำปลอม คือ การเจตนาทำให้เหมือนของจริง หรือเอาของเทียมมาทำให้เหมือนของแท้ โดยมีลักษณะดังนี้
1) ทำเอกสารปลอมขึ้นมาใหม่ทั้งฉบับ หรือเพียงส่วนใดส่วนหนึ่ง หรือ
2) การเติมหรือตัดทอนข้อความ หรือแก้ไขต่างๆ ในเอกสารจริง หรือ
3) การประทับตราปลอม หรือลงลายมือชื่อปลอม
4) การกระทำที่จะทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น โดยมีเหตุชักจูงใจเพื่อให้คนใดคนหนึ่งหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารจริง
กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปลอมเอกสาร
ประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2499
มาตรา 264 ผู้ใดทำเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับหรือแต่ส่วนหนึ่งส่วนใด เติมหรือตัดทอนข้อความ หรือแก้ไขด้วยประการใดๆ ในเอกสารที่แท้จริง หรือประทับตราปลอม หรือลงลายมือชื่อปลอมในเอกสาร โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ถ้าได้กระทำเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานปลอมเอกสาร ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ผู้ใดกรอกข้อความลงในแผ่นกระดาษหรือวัตถุอื่นใด ซึ่งมีลายมือชื่อของผู้อื่นโดยไม่ได้รับความยินยอม หรือโดยฝ่าฝืนคำสั่งของผู้อื่นนั้น ถ้าได้กระทำเพื่อนำเอาเอกสารนั้นไปใช้ในกิจการที่อาจเกิดเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือประชาชน ให้ถือว่าผู้นั้นปลอมเอกสาร ต้องระวางโทษเช่นเดียวกัน
มาตรา 265 ผู้ใดปลอมเอกสารสิทธิ หรือเอกสารราชการ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 5 ปี และปรับตั้งแต่ 10,000-100,000 บาท
มาตรา 266 ผู้ใดปลอมเอกสารดังต่อไปนี้
1) เอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการ
2) พินัยกรรม
3) ใบหุ้น ใบหุ้นกู้ หรือใบสำคัญของใบหุ้นหรือใบหุ้นกู้
4) ตั๋วเงิน หรือ
5) บัตรเงินฝาก
ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000-200,000 บาท
มาตรา 267 ผู้ใดแจ้งให้เจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่จดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารมหาชนหรือเอกสารราชการ ซึ่งมีวัตถุประสงค์สำหรับใช้เป็นพยานหลักฐาน โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 268 ผู้ใดใช้หรืออ้างเอกสารอันเกิดจากการกระทำความผิดตามมาตรา 264 มาตรา 265 มาตรา 266 หรือมาตรา 2678 ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ต้องระวางโทษดังที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้นๆ
ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคแรกเป็นผู้ปลอมเอกสารนั้น หรือเป็นผู้แจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความนั้นเองให้ลงโทษตามมาตรานี้แต่กระทงเดียว
มาตรา 269 ผู้ใดในการประกอบการงานในวิชาแพทย์ กฎหมาย บัญชีหรือวิชาชีพอื่นใด ทำคำรับรองเป็นเอกสารอันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ผู้ใดโดยทุจริตใช้หรืออ้างคำรับรองอันเกิดจากการกระทำความผิดตามวรรคแรก ต้องระวางโทษเช่นเดียวกัน
สรุป การปลอมเอกสารแต่ละประเภท มีโทษแตกต่างกันอย่างไร?
1) ปลอมเอกสารทั่วไป มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
2) ปลอมเอกสารสิทธิ หรือเอกสารราชการ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 5 ปี และปรับตั้งแต่ 10,000-100,000 บาท
3) ปลอมเอกสารตาม มาตรา 266 ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000-200,000 บาท
แม้ในกฎหมายมาตราต่างๆ จะใช้คำว่าปลอมเอกสาร แต่เนื้อในคำจำกัดความการปลอมแปลงเอกสารนั้นหมายรวมถึงการปลอมลายเซ็นด้วย ซึ่งไม่ว่าวัตถุประสงค์จะเป็นไปเพื่อให้เกิดความเข้าใจผิด ทำให้คนอื่นหลงเชื่อ หรือทำให้คนอื่นเสียหาย ก็ล้วนแล้วแต่มีโทษเสี่ยงคุกด้วยกันทั้งสิ้น
อ้างอิงข้อมูล