ผู้ประกันตน ม.33 ม.39 เสียชีวิต ทายาทมีสิทธิ์อะไรบ้าง?

 

ผู้ประกันตน ม.33 ม.39 เสียชีวิต ทายาทมีสิทธิ์อะไรบ้าง?

ประกันสังคมนอกจากจะคุ้มครองผู้ประกันตนในส่วนของรักษาเมื่อเจ็บป่วย คลอดบุตร ว่างงาน ชราภาพ ทุพพลภาพ และเสียชีวิตแล้ว ยังมีส่วนสงเคราะห์บุตรหรือทายาทเมื่อผู้ประกันตนเสียชีวิตอีกด้วย แต่สิทธิ์เหล่านี้ทายาทจะได้รับอย่างไร ต้องทำอะไรบ้าง ตามเราไปหาคำตอบกัน

เมื่อผู้ประกันตน ม.33 ม.39 เสียชีวิต ทายาทจะได้รับสิทธิ์อะไรบ้าง?

กรณีที่ผู้ประกันตนนั้นถึงแก่ชีวิต โดยไม่ใช่เหตุที่มาจากการทำงาน และได้มีการจ่ายเงินสมทบมาแล้ว 1 เดือน ภายในระยะเวลา 6 เดือน ก่อนเดือนที่เสียชีวิต สิทธิ์ที่จะได้รับมีดังนี้

1. เงินค่าทำศพ

เป็นเงินที่ทางประกันสังคมจ่ายเพื่อช่วยเหลือการจัดการศพของผู้ประกันตน เป็นจำนวน 50,000 บาท ให้กับผู้จัดการศพ ซึ่งอาจเป็นบุคคลต่างๆ ดังต่อไปนี้

• บุคคลที่ผู้ประกันตนทำหนังสือระบุให้เป็นผู้จัดการศพ และได้เป็นผู้จัดการศพผู้ประกันตน

• สามี ภรรยา บิดา มารดา หรือบุตร ของผู้ประกันตน ซึ่งมีหลักฐานแสดงว่าเป็นผู้จัดการศพของผู้ประกันตน

• บุคคลอื่นที่มีหลักฐานแสดงว่าเป็นผู้จัดการศพผู้ประกันตน

โดยผู้จัดการศพต้องจัดเตรียมเอกสารสำหรับขอรับค่าทำศพ ดังนี้ 

• แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีตาย (สปส. 2-01)

• สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้จัดการศพพร้อมตัวจริง

• หลักฐานจากฌาปนสถาน หรือมัสยิดที่แสดงว่าเป็นผู้จัดการศพ

• สำเนาใบมรณบัตรพร้อมตัวจริง

• สำเนาสมุดบัญชีเงินฝากธนาคารประเภทออมทรัพย์หน้าแรก ซึ่งมีชื่อและเลขที่บัญชี (กรณีขอรับเงินทางธนาคาร) ผ่านทางบัญชีธนาคารของผู้จัดการศพ 11 ธนาคาร คือ ธนาคารกรุงไทย, ธนาคารกรุงศรีอยุธยา, ธนาคารกรุงเทพ, ธนาคารไทยพาณิชย์, ธนาคารกสิกรไทย, ธนาคารทหารไทย, ธนาคารธนชาต, ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย, ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย, ธนาคารออมสิน, ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

2. เงินสงเคราะห์กรณีผู้ประกันตน ม.33 ม.39 ถึงแก่ความตาย

เป็นเงินที่สำนักงานประกันสังคมจะจ่ายให้แก่บุคคลที่ผู้ประกันตนได้ทำหนังสือระบุไว้เป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อให้เป็นผู้มีสิทธิ์ได้รับเงินสงเคราะห์

แต่หากผู้ประกันตนไม่ได้ทำหนังสือระบุชื่อใครไว้ สำนักงานประกันสังคมจะนำเงินสงเคราะห์นั้นมาเฉลี่ยจ่ายให้กับสามีหรือภรรยา บิดา มารดา หรือบุตรของผู้ประกันตน ในจำนวนเท่าๆ กัน

***เงินสงเคราะห์กรณีผู้ประกันตนถึงแก่ความตายนั้นจะจ่ายตามจำนวนและระยะเวลาที่ผู้ประกันตนจ่ายสมทบไว้ก่อนถึงแก่ความตาย ดังนี้

• หากผู้ประกันตนส่งเงินสมทบตั้งแต่ 36 เดือนขึ้นไป แต่ไม่ถึง 120 เดือน หรือ 3 ปี แต่ไม่ถึง 10 ปี จะได้รับเงินสงเคราะห์ในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้าง เฉลี่ย 4 เดือน

• หากผู้ประกันตนส่งเงินสมทบ 120 เดือนขึ้นไป หรือ 10 ปี จะได้รับเงินสงเคราะห์ในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้าง เฉลี่ย 12 เดือนขึ้นไป

เอกสารที่ใช้กรณีขอรับเงินสงเคราะห์

• แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีตาย (สปส. 2-01)

• สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านของผู้มีสิทธิรับเงินสงเคราะห์

• สำเนาทะเบียนสมรสของผู้ประกันตน และของบิดามารดาของผู้เสียชีวิต (ถ้ามี)

• สำเนาสูติบัตรของบุตร หรือสำเนาทะเบียนบ้านของบุตร กรณีไม่มีสูติบัตร

• หนังสือระบุให้เป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์กรณีตาย (ถ้ามี)

3. เงินบำเหน็จชราภาพ

หากผู้ประกันตนเสียชีวิต นอกจากสิทธิประโยชน์ทดแทนที่ทายาทจะได้รับแล้ว ยังมีเงินที่จะได้เพิ่มเติมคือเงินบำเหน็จชราภาพ โดยจ่ายให้แก่ทายาทผู้มีสิทธิ์ เช่น บุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย สามีภรรยาตามกฎหมาย บิดามารดาที่จดทะเบียนสมรสกัน โดยมีเงื่อนไขการรับสิทธิ์ ดังนี้

• กรณีผู้ประกันตนรับเงินบำนาญชราภาพแล้ว ต่อมาเสียชีวิตภายใน 60 เดือน นับจากเดือนที่รับบำนาญ ทายาทจะได้รับเงินบำเหน็จ เท่ากับ จำนวนเงินบำนาญชราภาพเดือนสุดท้ายก่อนเสียชีวิต × จำนวนเดือนที่เหลือจนครบ 60 เดือน

• กรณีผู้ประกันตนกลับไปเป็นผู้ประกันตนและต่อมาเสียชีวิต (ได้รับเงินบำนาญไม่เกิน 60 เดือน) ทายาทจะได้รับเงินบำเหน็จ เท่ากับ จำนวนเงินบำนาญชราภาพที่ได้รับก่อนกลับไปเป็นผู้ประกันตน × จำนวนเงินเดือนที่เหลือจนครบ 60 เดือน

• กรณีรับเงินชราภาพก่อนบังคับใช้กฎกระทรวง แต่ยังไม่ครบ 60 เดือน ทายาทได้รับเงินบำเหน็จ เท่ากับ เดือนที่เหลือจนครบ 60 เดือน

• กรณีรับเงินชราภาพมาแล้วเหลือน้อยกว่า 10 เดือน ทายาทได้รับเงินบำเหน็จ เท่ากับ จำนวนเงินบำนาญชราภาพที่ได้รับเดือนสุดท้ายก่อนเสียชีวิต × 10 เท่า

 

 

อ้างอิงข้อมูล

สำนักงานประกันสังคม

ศูนย์บริการข้อมูลภาครัฐเพื่อประชาชน

Tag

Copyright ©2024  dharmniti.co.th All rights reserved.

Log in with your credentials

Forgot your details?