หมายค้นคืออะไร ใครมีอำนาจออก และทำอย่างไรหากได้รับหมายค้น?

หมายค้นคืออะไร ใครมีอำนาจออก และทำอย่างไรหากได้รับหมายค้น?

การสืบสวน สอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ต้องเข้าตรวจค้นเพื่อหาสิ่งของหรือบุคคล จำเป็นต้องแสดง หมายค้น ต่อหน้าเจ้าของสถานที่ก่อน เพื่อปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมายกำหนด และแสดงความบริสุทธิ์ใจ แต่หลายคนอาจยังไม่รู้รายละเอียดว่า หมายค้นนั้นคืออะไร ใครมีอำนาจออกหมายค้น ทำอย่างไรหากได้รับหมายค้น ตามธรรมนิติไปหาคำตอบกัน

หมายค้น คืออะไร?

หมายค้น เป็นหนังสือในการดำเนินคดีอาญา ที่ต้องขออนุมัติจากศาล เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าทำการตรวจค้นสิ่งผิดกฎหมายในที่รโหฐาน

โดยก่อนเจ้าหน้าที่ตำรวจจะเข้าทำการตรวจค้น ต้องแสดงหมายค้น และตรวจค้นต่อหน้าเจ้าของสถานที่ รวมทั้งเวลาที่เข้าทำการตรวจค้นต้องเป็นเวลากลางวัน (ตั้งแต่พระอาทิตย์ขึ้นถึงพระอาทิตย์ตก)

ที่รโหฐาน ในทางกฎหมายจะหมายความถึงที่ต่างๆ ที่ไม่ใช่ที่สาธารณะ เป็นพื้นที่ส่วนตัว ประชาชนทั่วไปไม่สามารถเข้าไปได้ เช่น บ้าน สำนักงาน อสังหาริมทรัพย์ในความครอบครอง ที่ได้มีการแสดงออกให้เห็นว่ามีการหวงกันการเข้าไปของบุคคลอื่นๆ เช่น การล้อมรั้ว การติดป้ายพื้นที่ส่วนบุคคล

เหตุที่สามารถออกหมายค้นได้

ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 69 เหตุที่จะออกหมายค้นได้มีดังต่อไปนี้

1)  เพื่อพบและยึดสิ่งของซึ่งจะเป็นพยานหลักฐานประกอบการสอบสวน ไต่สวนมูลฟ้อง หรือพิจารณา

2) เพื่อพบและยึดสิ่งของซึ่งมีไว้เป็นความผิด หรือได้มาโดยผิดกฎหมาย หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าได้ใช้หรือตั้งใจจะใช้ในการกระทำความผิด

3) เพื่อพบและช่วยบุคคลซึ่งได้ถูกหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังโดยมิชอบด้วยกฎหมาย

4) เพื่อพบบุคคลซึ่งมีหมายให้จับ

5) เพื่อพบและยึดสิ่งของตามคำพิพากษาหรือตามคำสั่งศาล ในกรณีที่จะพบหรือจะยึดโดยวิธีอื่นไม่ได้แล้ว

สรุปวัตถุประสงค์ของการออกหมายค้น

จากรายละเอียดของ มาตรา 69 การตรวจค้นสถานที่ซึ่งเป็นที่รโหฐาน เป็นการกระทำที่กระทบต่อสิทธิ์และเสรีภาพของบุคคล จึงสรุปวัตถุประสงค์ของการออกหมายค้นได้ 3 ประการ คือ

1) การค้นเพื่อพบและยึดสิ่งของ

2) การค้นเพื่อช่วยเหลือบุคคล

3) การค้นเพื่อจับกุมผู้มีหมายจับ

ใครมีอำนาจออกหมายค้น?

ผู้มีอำนาจออกหมายค้นคือ ศาล โดยศาลจะออกหมายค้นตามที่ศาลเห็นสมควร หรือตามที่มีผู้ร้องขอ ซึ่งการออกหมายค้นนี้เป็นไปเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ของการดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมอันก่อให้เกิดความยุติธรรมกับบุคคลทุกๆ ฝ่าย

ใครมีอำนาจจัดการตามหมายค้น?

การค้นโดยมีหมาย เจ้าพนักงานผู้ที่มีชื่อในหมายค้น หรือผู้รักษาการแทน จะมีอำนาจเป็นหัวหน้าในการจัดการให้เป็นไปตามรายละเอียดในหมาย โดยต้องมีคุณสมบัติดังนี้

•  ต้องเป็นเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองตั้งแต่ระดับสาม หรือ

•  ตำรวจซึ่งมียศตั้งแต่ชั้นร้อยตำรวจตรีขึ้นไป

หมายค้น ต้องมีรายละเอียดอะไรบ้าง?

กรณีที่มีการออกหมายค้น จะต้องทำเป็นหนังสือและมีข้อความดังต่อไปนี้

1)  สถานที่ที่ออกหมาย

2) วันเดือนปีที่ออกหมาย

3) เหตุที่ต้องออกหมาย

4) ระบุสถานที่ที่จะค้น ชื่อหรือรูปพรรณบุคคล หรือลักษณะสิ่งของที่ต้องการค้น กำหนดวันเวลาที่จะทำการค้น และชื่อกับตำแหน่งของเจ้าพนักงานผู้จะทำการค้น

5) ระบุความผิด หรือวิธีการเพื่อความปลอดภัย

6) ลายมือชื่อและประทับตราของศาล

ทำอย่างไรเมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจนำหมายค้นมาที่บ้าน

1) การค้นต้องอยู่ในช่วงเวลากลางวันและมีตำรวจยศตั้งแต่ชั้นร้อยตำรวจตรีขึ้นไปควบคุมการค้น

2) ขอดูหมายค้น และตรวจรายละเอียดต่างๆ ในหมายค้น

3) สอบถามชื่อ ตำแหน่ง สังกัดของเจ้าหน้าที่ พร้อมจดรายละเอียด บุคลิกลักษณะเด่น และจำนวนเจ้าหน้าที่ที่เข้าตรวจค้น

4) อย่าปล่อยให้เจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจค้นตามใจชอบ ให้คอยสอดส่องประกบดูแลอย่างใกล้ชิด และตรวจค้นไปทีละห้อง

5) ถ่ายรูปเจ้าหน้าที่ตำรวจไว้เพื่อเช็กการเป็นเจ้าหน้าที่จริง หรือเป็นหลักฐานว่ามีบุคคลนั้นเข้ามาตรวจค้น

6) หากถ่ายวิดีโอขณะเจ้าหน้าที่เข้าตรวจค้นไว้ได้ก็ยิ่งดี

7) เมื่อการตรวจค้นสิ้นสุด ควรให้เจ้าหน้าที่ลงชื่อในบันทึกการค้นไว้เป็นหลักฐาน

8) หากมีข้าวของเสียหายจากการตรวจค้นโดยเจ้าหน้าที่ สามารถฟ้องทางแพ่งเพื่อเรียกค่าเสียหายได้

เมื่อมีหมายค้นมาที่บ้าน อย่าเพิ่งมีอคติกับตำรวจหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพราะถือเป็นการทำตามหน้าที่ หากมั่นใจว่าไม่ได้ทำอะไรผิดและเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจก็ควรทำตามหน้าที่โดยอำนวยความสะดวกในการตรวจค้น หรือตอบคำถามเพื่อคลายความสงสัยหรือแก้ไขความเข้าใจผิดต่างๆ แต่สิ่งสำคัญที่เจ้าของบ้านควรทำคือ ก่อนที่จะอนุญาตให้เจ้าหน้าที่นำกำลังเข้าตรวจค้น ควรซักถามที่มาที่ไปและขอดูหมายค้นให้เรียบร้อยก่อน รวมทั้งคอยประกบเมื่อเจ้าหน้าที่เข้าค้นบ้านด้วย

 

ข้อมูลอ้างอิง

กระทรวงยุติธรรม

Tag

Copyright ©2024  dharmniti.co.th All rights reserved.

Log in with your credentials

Forgot your details?