เด็กหรือเยาวชนถูกจับในคดีอาญา กฎหมายระบุโทษและดำเนินคดีอย่างไร?

เด็กหรือเยาวชนถูกจับในคดีอาญา กฎหมายระบุโทษและดำเนินคดีอย่างไร?

เด็กและเยาวชน เมื่อกระทำความผิดจะได้รับโทษไม่เท่ากับผู้ใหญ่ แต่เคยสงสัยไหมว่าในทางกฎหมายแล้วจำแนกเกณฑ์อายุของผู้กระทำความผิดว่าเป็นเด็กหรือเยาวชนอย่างไร และแต่ละช่วงวัยได้รับโทษแตกต่างกันอย่างไรบ้าง บทความนี้จะพาไปทำความเข้าใจ พร้อมอัปเดตบทลงโทษล่าสุดให้ทราบกัน

การจำแนกเกณฑ์อายุเด็กหรือเยาวชน

ในกระบวนการและขั้นตอนการจับกุมเด็กและเยาวชน มีกฎหมายที่ใช้หลักๆ พระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 และพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 29) พ.ศ. 2565

นอกจากนี้ยังมีการกำหนดนิยามของคำว่า เด็ก และ เยาวชน ตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 มาตรา 4 ดังนี้

• เด็ก หมายความว่า บุคคลอายุไม่เกิน 15 ปี บริบูรณ์

• เยาวชน หมายความว่า บุคคลอายุเกิน 15 ปีบริบูรณ์ แต่ยังไม่ถึง 18 ปี บริบูรณ์

การแบ่งเกณฑ์อายุเด็กในกรณีกระทำความผิดอาญา

เด็กหรือเยาวชนเมื่อทำผิดจะถูกดำเนินคดีภายใต้ศาลเยาวชนและครอบครัว จะมีขั้นตอนการดำเนินคดีแตกต่างไปจากผู้ใหญ่ โดย พ.ร.บ.ศาลเยาวชนฯ ที่เป็นกฎหมายกำหนดขั้นตอนและวิธีการดำเนินคดีกับเด็กหรือเยาวชน มีเจตนารมณ์และบทบัญญัติที่มุ่งฟื้นฟูเด็กหรือเยาวชนที่ทำความผิดทางอาญามากกว่ามุ่งลงโทษ ซึ่งจะมีหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการกระทำความผิด จำแนกตามเกณฑ์อายุเด็กหรือเยาวชน ดังนี้

อายุต่ำกว่า 12 ปี

ตำรวจส่งเรื่องแจ้งไปยังพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายคุ้มครองเด็กจะดำเนินการดังนี้

• สืบเสาะและพินิจข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้อง แล้วกำหนดแนวทางคุ้มครองสวัสดิภาพเด็ก

• จัดประชุมผู้เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดแผนแก้ไขฟื้นฟูเด็ก วิธีการคุ้มครองสวัสดิภาพ การยุติการคุ้มครอง และการเยียวยาผู้เสียหาย

อายุ 12 – 15 ปี

ตำรวจส่งเรื่องแจ้งผู้ปกครองและสถานพินิจฯ เพื่อดำเนินการสืบเสาะ และจัดทำแผนแก้ไข้บำบัดฟื้นฟูส่งให้ตำรวจ/อัยการ/ศาล ภายใน 30 วัน แล้วนำตัวเด็กส่งต่อศาลเยาวชนและครอบครัว ภายใน 24 ชั่วโมง หากศาลเยาวชนและครอบครัวพิจารณาคดี เห็นว่ายังไม่เห็นสมควรพิพากษาลงโทษ จะดำเนินการต่างๆ คือ

• ว่ากล่าวตักเตือน

• ปล่อยตัวชั่วคราว (มี/ไม่มีประกัน)

• ส่งตัวเด็กไปยังสถานศึกษา/ฝึกอบรม

• มอบตัวเด็กให้อยู่กับบุคคล/องค์กรที่ศาลเห็นสมควร

***ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขภายในระยะเวลาที่กำหนด

อายุ 15 – 18 ปี

เมื่อตำรวจดำเนินการส่งตัวมาที่สถานพินิจ จะมีการส่งเรื่องต่อไปยังอัยการและจะนำตัวเด็กส่งต่อศาลเยาวชนและครอบครัวภายใน 24 ชั่วโมง

• หากศาลเห็นว่า ยังไม่เห็นสมควรพิพากษาลงโทษ จะให้ดำเนินการเช่นเดียวกับเด็กและเยาวชนอายุ 12 – 15 ปี

• หากศาลเห็นว่า เห็นสมควรพิพากษาลงโทษ จะดำเนินการดังนี้

– ลดโทษกึ่งหนึ่งของโทษทางกฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดในคดีอาญา

– สั่งโอนคดีไปยังศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีธรรมดาได้ (ถ้าเด็กหรือเยาวชนที่ทำความผิด มีร่างกาย จิตใจ สติปัญญา และนิสัยเหมือนผู้ใหญ่)

จากรายละเอียดการจำแนกเกณฑ์อายุเด็กและเยาวชน และแนวทางดำเนินการข้างต้น เด็กและเยาวชนแม้ไม่ได้รับโทษอาญาแต่ยังต้องรับผิดในทางแพ่งโดยพ่อแม่ต้องร่วมรับผิดชอบด้วย ดังนั้นเราในฐานะที่เป็นผู้ใหญ่จึงควรช่วยกันสอดส่อง อบรม ดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิด เพื่อให้เด็กและเยาวชนของเราเติบโตไปอย่างมีคุณภาพ ไม่สร้างปัญหาให้กับสังคมส่วนรวม

 

 

ข้อมูลอ้างอิง

สำนักงานกิจการยุติธรรม

Tag

Copyright ©2024  dharmniti.co.th All rights reserved.

Log in with your credentials

Forgot your details?