หลักฐานจากกล้องวงจรปิด ถือเป็นพยานประเภทไหน?

หลักฐานจากกล้องวงจรปิด ถือเป็นพยานประเภทไหน? 

ยุคสมัยนี้หันไปทางไหนก็เต็มไปด้วยกล้องวงจรปิด ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ส่วนรวม หรือส่วนตัว เพราะประโยชน์ที่ช่วยปกป้องทรัพย์สินและเหตุร้ายที่อาจเกิดขึ้นได้ นอกจากนี้กล้องวงจรปิดยังสามารถจับภาพและบันทึกวิดีโอดูย้อนหลังได้ ซึ่งเป็นประโยชน์ในการชี้ตัวคนร้าย หรือเป็นหลักฐานเพื่อช่วยในการคลี่คลายคดีต่างๆ อีกด้วย ดังนั้นบทความนี้เราจะพาไปดูรายละเอียดกันว่า หลักฐานจากกล้องวงจรปิด ถือเป็นพยานประเภทไหน มีน้ำหนักน่าเชื่อถือได้มากหรือไม่ในชั้นศาล

ข้อมูลจากกล้องวงจรปิด ใช้เป็นพยานได้หรือไม่?

กล้องวงจรปิด ไม่ใช่พยานบุคคล แต่ ศาลอาจรับฟังภาพหรือเสียงที่บันทึกไว้โดยกล้องวงจรปิด เพื่อใช้ประกอบเป็นพยานหลักฐานสำคัญในการพิจารณาได้ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับว่าข้อมูลจากกล้องวงจรปิดนั้น มีน้ำหนักความน่าเชื่อถือ มากน้อยเพียงใด และการจะนำข้อมูลจากกล้องวงจรปิดมาใช้เป็นพยาน ต้องเป็นการได้มาโดยชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งแบ่งประเภทพยานได้ ดังนี้

1. พยานตรง (direct evidence)

คือ พยานที่แสดงให้เห็นถึงการกระทำผิด โดยสามารถระบุความผิดได้อย่างชัดเจน

โดยข้อมูลจากกล้องวงจรปิด ที่อาจจะใช้เป็นรับฟังเป็นพยานโดยตรงได้ จะต้องเป็นข้อมูลที่เห็นว่ามีการกระทำความผิดจริง ตัวอย่าง เช่น

• กล้องวงจรปิดแสดงภาพ เลขทะเบียนรถยนต์ของคู่กรณีอีกฝ่ายโดยชัดเจนในที่เกิดเหตุ

• กล้องวงจรปิดแสดงภาพ หน้าคนร้ายที่ปล้นชิงทรัพย์และทำร้ายร่างกายเหยื่อได้อย่างชัดเจน

2. พยานแวดล้อมกรณี (Circumstantial Evidence) (พยานทางอ้อม) 

คือ พยานที่ไม่ได้แสดงถึงการกระทำผิดโดยตรง แต่อาจมีความเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด

โดยข้อมูลจากกล้องวงจรปิดที่ไม่ได้แสดงเหตุการณ์โดยตรง ศาลอาจรับฟังเพื่อประกอบการพิจารณาได้ หากพิสูจน์ได้ว่าอาจจะมีความเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด ตัวอย่าง เช่น

• กล้องวงจรปิดแสดงภาพ รถของคู่กรณี ในสถานที่ที่สอดคล้องกับจุดเกิดเหตุ

• กล้องวงจรปิดแสดงภาพ ผู้ก่อเหตุถือมีดเปื้อนเลือดออกจากสถานที่เกิดเหตุ

ตัวอย่างข้อมูลจากกล้องวงจรปิด

1) ภาพจากกล้องวงจรปิดที่ไม่เห็นหน้า ไม่สามารถระบุตัวบุคคลได้อาจเป็นพยานที่รับฟังได้น้อยกว่าภาพที่แสดงตัวตนได้

2) ภาพจากกล้องวงจรปิด ที่มีการดัดแปลงแก้ไขไฟล์ภาพ ไม่สามารถรับฟังได้

3) ภาพจากกล้องวงจรปิด ที่แสดงภาพเบลอไม่ชัด แต่ใช้โปรแกรมทำให้ภาพคมชัด ตามมาตรฐานสากล อาจเป็นพยานที่รับฟังได้

***ทั้งนี้ การรับฟังข้อมูลจากกล้องวงจรปิด จะขึ้นอยู่กับข้อมูลที่แสดง ความน่าเชื่อถือของข้อมูล การได้มาของข้อมูล หรือรายละเอียดอย่างอื่นประกอบ แล้วแต่กรณี

ดังนั้น หลักฐานจากกล้องวงจรปิดจะเป็นพยานประเภทไหน ขึ้นอยู่กับภาพที่กล้องบันทึกเอาไว้ได้ และความน่าเชื่อถือของไฟล์ภาพ รวมถึงขั้นตอนการเก็บรักษา ดูแลรักษา ส่งต่อ และการได้มาของภาพ ต้องชอบด้วยกฎหมาย ภาพจากกล้องวงจรปิดจึงจะมีน้ำหนัก มีผลต่อการพิจารณาตัดสินคดีความในชั้นศาล

 

 

ข้อมูลอ้างอิง

สำนักงานกิจการยุติธรรม

Copyright ©2024  dharmniti.co.th All rights reserved.

Log in with your credentials

Forgot your details?